ลิขสิทธิ์รูป เรื่องที่คนทำเว็บไซต์ต้องรู้ ก่อนโดนฟ้องหลายแสน!!

designil

ลิขสิทธิ์รูปคือเรื่องสำคัญ และการเอารูปมาใช้ในเว็บไซต์น่ากลัวกว่าที่ทุกคนคิดกันไว้เยอะครับ เมื่อก่อนเราทำงานส่งครู แค่ Copy รูปจากกูเกิ้ล แล้วเขียนในรายงานว่า “ขอบคุณรูปภาพจาก Google” ก็เสร็จแล้ว แต่ในการทำงานจริง ๆ อาจทำให้เราเสียเงินหลายแสนได้เลยครับ ถ้าไม่อยากโดนฟ้อง เราไปติดตามบทความนี้กันเลยครับ

📖 บทความนี้มีอะไรบ้าง แสดง

ทำไมเราต้องสนใจเรื่องลิขสิทธิ์รูปด้วย

จาก Case Study ของบริษัทไทยบริษัทหนึ่ง ที่ใช้รูปจาก Google เล็ก ๆ นิดเดียว แล้วโดนฟ้องจากเว็บไซต์ขายรูปรายใหญ่ของต่างประเทศ Getty Image เป็นเงิน 8 แสนบาท จนเกือบทำให้บริษัทเจ๊งไป ก็น่าจะทำให้บริษัทไทยหลาย ๆ บริษัทตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์รูปมากขึ้น

จะเห็นว่าพวกลิขสิทธิ์ของรูปก็ฟ้องกันโหดไม่ต่างกับ การใช้ Font ในเว็บไซต์ สักเท่าไร วันนี้ผมก็มีบทความดี ๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์รูปในเว็บไซต์มาให้อ่านกันครับ เรื่องนี้สำคัญกับคนทำเว็บไซต์ทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟรีแลนซ์ ที่บางทีลูกค้าหารูปมาจากไหนไม่รู้ แล้วเราโดนฟ้องแทนครับ

บทความนี้เรียบเรียงมาจากบทความ Copyright 101: The 10 Things to know about Imagery ของเว็บไซต์ Sitepoint ครับ ท่านใดถนัดอ่านภาษาอังกฤษก็สามารถแวะเข้าไปที่บทความต้นฉบับได้เลยครับผม

10 ข้อที่ทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์รูปภาพในเว็บไซต์

ข้อ 1 : “ลิขสิทธิ์” คืออะไร

ความคุ้มครองทางกฏหมายที่คุ้มครองผู้สร้างเนื้อหา (รูป, เพลง, วีดิโอ, งานเขียน etc.) จากการถูกผู้อื่นนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อ 2 : ลิขสิทธิ์จะได้มาตอนไหน

ตั้งแต่วินาทีที่เนื้อหาถูกสร้างขึ้นมาก็ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์แล้ว โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนตามกฏหมายก็ได้

ข้อ 3 : มีกฏหมายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ใช้ได้ทั่วโลกมั้ย

ไม่มี แต่ละประเทศมีกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน กฏหมายบางประเทศอาจจะสนับสนุนกับกฏหมายอีกประเทศได้
แต่สิ่งที่เหมือนกันทุกประเทศมีอยู่อย่างหนึ่งคือ : ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ คุณเอาเนื้อหานั้นไปใช้ไม่ได้

ข้อ 4 : ถ้าเราไม่รู้เรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์เลย แล้วโดนฟ้อง ถือว่าผิดมั้ย

อันนี้ไม่ใช่ข้ออ้างครับ ถึงแม้เราจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็มีความผิดทางกฏหมายอยู่ดี

ข้อ 5 : ใครจะเป็นคนรับผิดชอบเมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ในเว็บไซต์

เจ้าของเว็บไซต์เป็นผู้รับผิดชอบ ถึงแม้ว่าเขาจะจ้างคนอื่นมาทำเว็บไซต์ให้ เจ้าของเว็บไซต์ก็จะเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดจากตัวคนทำเว็บไซต์ เจ้าของเว็บไซต์ก็โยนความผิดไปที่คนทำเว็บไซต์ได้

ประเภทเนื้อหาที่กฏหมายไทยครอบคลุม มีดังนี้ (เรียบเรียงมาจากเว็บไซต์ Thailawonline)

  • งานเขียน (หนังสือ, สิ่งพิมพ์, คำบรรยาย, โปรแกรมคอมพิวเตอร์? ฯลฯ)
  • งานศิลปะ (ภาพวาด, รูปถ่าย, กราฟฟิก ฯลฯ)
  • งานเสียง
  • งานภาพยนต์ (รวมถึง การถ่ายทอดต่าง ๆ)
  • งานแสดง

(ผมสรุปมาจากที่อ่านร่างกฏหมายคร่าว ๆ ในเว็บไซต์อีกทีนะครับผม ซึ่งท่านใดมีความรู้ที่ถูกต้องกว่าสามารถแจ้งได้ครับ และท่านที่ต้องการความถูกต้อง 100% ทางกฏหมายแนะนำให้ปรึกษานักกฏหมายครับ)

ข้อ 6 : ในการทำเว็บไซต์ สิ่งที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์คืออะไรบ้าง

  • นำเนื้อหาจากเว็บไซต์ผู้อื่นมาลงในเว็บไซต์ตัวเอง โดยคุณสามารถอ้างอิงเป็นย่อหน้า / ประโยคได้ ถ้าคุณให้เครดิตคนเขียนต้นฉบับ และมีลิงค์ไปยังบทความต้นฉบับ
  • นำเนื้อหาในสิ่งพิมพ์ออนไลน์ของผู้อื่น เช่น อีเมล มาลงในเว็บไซต์โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • Forward อีเมลของคนอื่นให้อีกคน โดยไม่ได้รับอนุญาต
  • แก้ไขเนื้อหาของผู้อื่น ซึ่งเปลี่ยนความหมายไปจากเดิม
  • ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ การนำโลโก้, ไอคอน, รูป, วีดิโอ, เสียง จากเว็บไซต์อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อ 7 : ประเภทลิขสิทธิ์ที่เจอบ่อย ๆ มีอะไรบ้าง

ทั้งหมดนี้เป็นรายละเอียดชื่อลิขสิทธิ์รูปภาพที่เราเจอบ่อย ๆ อ่านให้ละเอียดนะครับ! บางครั้งเราซื้อภาพถ่ายมาแล้วทำไมยังโดนฟ้องอีก คำตอบคือต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนว่าเขาเขียนอะไรเพิ่มเติมเป็นข้อยกเว้นหรือไม่

ต้องดูรายละเอียดลิขสิทธิ์และสัญญาบนเว็บไซต์ก่อนการซื้อให้ชัดเจน ว่าในนั้นเขียนอะไรเพิ่มเติมเป็นข้อยกเว้นหรือไม่ สำคัญมาก! ถ้าไม่อ่านถึงเราจะเสียเงินซื้อก็อาจจะโดนฟ้องตามหลังได้หากเราใช้งานผิดประเภทนะครับ

Freeware – นำไปใช้ได้ฟรี และนำไปแชร์ต่อได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขหรือเอาไปขายต่อได้โดยไม่ได้รับอนุญาต

Shareware – นำไปใช้ได้ฟรี แต่ถ้าจะใช้ในระยะยาวต้องบริจาคเงิน สามารถนำไปแชร์ได้แต่ต้องให้เครดิตทุกครั้งโดยไม่ต้องขออนุญาต

Fair Use – สามารถนำไปใช้ได้เพื่อการศึกษาและเขียนวิจารณ์ โดยไม่ต้องขออนุญาต

Creative Commons – นำไปใช้ได้ฟรี แต่ต้องอยู่ในกฏที่ลิขสิทธิ์กำหนดไว้ คุณต้องให้เครดิตเจ้าของเนื้อหาทุกครั้ง โดยเจ้าของเนื้อหาเป็นผู้กำหนดว่า อนุญาตให้แก้ไขมั้ย, บังคับให้คุณเอางานไปแก้แล้วต้องเป็นลิขสิทธิ์ Creative Commons เหมือนกันมั้ย, อนุญาตให้ใช้ในงานค้าขายมั้ย

Editorial use: อนุญาตให้ใช้งานในบทความ, หนังสือพิมพ์, แม็กกาซีน, นิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์

Commercial use: อนุญาตให้ใช้ในงานเชิงพาณิชย์ ในสื่อโฆษณา เพื่อโปรโมตสินค้าและบริการของธุรกิจ เช่นนำไปใช้ทำโฆษณาบนโปสเตอร์

Public Domain เป็นลิขสิทธิ์ที่เราสามารถนำไปใช้ได้ฟรี โดยไม่ต้องขออนุญาต ครอบคลุมเนื้อหาพวกเรื่องที่เป็นความจริง (เช่น โลกเป็นทรงกลม / ทะเลสีฟ้า) , ไอเดีย, ขั้นตอนการทำงาน และยังครอบคลุมงานที่ลิขสิทธิ์หมดอายุไปแล้วด้วย (เช่น นิยายที่เก่ามาก ๆ ) หรืออย่างล่าสุดที่ฮิตกันคือโลโก้ของ NASA ที่คนเอาไปพิมพ์ขายบนเสื้อครับ

Royalty-free หมายถึง ผู้ซื้อสามารถซื้อ License แบบ royalty-free จากเรา และสามารถใช้รูปของเราได้แบบไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดครั้งในการใช้งาน ใช้ได้เรื่อย ๆ เลยครับ
ใน Shutterstock ได้บอกว่าหมายถึงวิธีการอนุญาตให้ใช้ภาพแบบได้ลิขสิทธิ์ในราคาเหมาจ่าย

Rights-managed (Pay per use) หมายถึง เป็นลิขสิทธิ์ที่ไม่ใช่การซื้อขาดแบบ Royalty-free แต่มีข้อสัญญาที่แนบตามมาด้วย เช่น จะต้องจ่ายค่าบริการเป็นรายเดือน, จ่ายเงินทุกครั้งที่ใช้รูปภาพนี้

ดูสัญญาตัวนี้ให้ละเอียดนะครับเพราะว่ามันจะมีข้อยกเว้นย่อย ๆ ตามมาเยอะมากหลังจากการซื้อ เช่น ห้ามนำภาพไปใช้ซ้ำ, ห้ามนำภาพไปตัดต่อเพิ่มเติมเพราะบางภาพมีรูปถ่ายของนางแบบ หรือห้ามนำภาพไปตีพิมพ์บนสินค้าเพื่อจำหน่ายซ้ำอย่างการพิมพ์เสื้อ

123rf
ขายภาพออนไลน์ และลิขสิทธิ์รูปภาพจาก 123rf

ข้อ 8 : ถ้ากฏหมายมันยุ่งยากขนาดนี้ แล้วเราจะทำเว็บไซต์ที่มีรูปสวย ๆ ในเว็บไซต์ได้ยังไง

มีหลายทางมากครับ มาดูกันว่าทำยังไงได้บ้าง

A) สร้างมันขึ้นมาเองเลย

เราทำกราฟฟิกเอง ถ่ายรูปเอง เขียนบทความเอง มันก็เป็นของเรา 100% ตามกฏหมายครับ นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็ช่วยให้เราทำเนื้อหาคุณภาพดีได้ง่ายขึ้น มีโปรแกรมทำกราฟฟิก โปรแกรมตกแต่งภาพที่สะดวกขึ้น ทำให้การทำเนื้อหาขึ้นมาเองไม่ยากจนเกินไป

หรือถ้าทำไม่เป็น ก็มีหนังสือสอนมากมาย รวมถึงเนื้อหาฟรีบนอินเตอร์เน็ตที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้นมาได้ นอกจากนั้นในระยะยาวเรายังสามารถขายรูปถ่ายของเราให้กับคนอื่นที่ไม่สนใจจะทำเองได้อีกด้วย

B) ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ ลองให้เวลาตัวเองเดือนละ 1 วันมาถ่ายรูป

หาวันว่าง ๆ สักวันมาถ่ายรูปที่ต้องใช้บ่อย ๆ เช่น เครื่องคิดเลข, โทรศัพท์, มือถือ, ลำโพง, คนจับมือ, เงิน ฯลฯ รับรองว่าจะช่วยเบาเงิน และเบาแรงคุณในอนาคตได้อีกเยอะ

รูปพวกนี้คนส่วนใหญ่มักจะซื้อจากในเว็บไซต์ขายรูปกัน ถ่ายเสร็จก็เอาไปขายได้นะครับ อ่านต่อเรื่องขายภาพออนไลน์ที่นี่นะครับ

C) ติดต่อช่างถ่ายรูปโดยตรง

คุณสามารถติดต่อกับช่างถ่ายภาพเพื่อขอรูปเค้ามาใช้ในเว็บไซต์ได้ครับ โดยแลกเปลี่ยนกับการให้เครดิตรูปเพื่อช่วยเผยแพร่เจ้าของผลงาน ซึ่งมีคนถ่ายรูปสวย ๆ ทั้งบน Instagram และเว็บไซต์ DeviantArt ที่จะอยากนำผลงานมาลงในเว็บไซต์ของคุณแลกกับเครดิต

D) ซื้อจากเว็บไซต์ขายรูป (Stock Photo)

อันนี้เป็นทางออกที่หลาย ๆ บริษัทเลือกใช้กันครับ เป็นการซื้อรูปมาจากเว็บไซต์ขายรูป ซึ่งจะทำให้เราสามารถเอารูปเหล่านั้นไปใช้บนเว็บไซต์ได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีโอกาสโดนฟ้องได้ ถ้าเว็บไซต์ที่เราซื้อรูปมาไม่ได้เอารูปนั้นมาขายอย่างถูกกฏหมาย

ถ้าลองไปค้นดูจะพบว่ามีกรณีที่เว็บไซต์ขายรูปชื่อดัง อย่าง Getty Images หรือ Corbis โดนฟ้องจากเจ้าของรูปที่ไม่เคยเอารูปมาขาย แต่รูปกลับมาโผล่ในเว็บไซต์ให้คนอื่นเข้ามาซื้อได้

ข้อ 9 : ขนาดเว็บขายรูปยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วเราจะเชื่อใครดี ?

จริง ๆ ถ้าจะบอกว่าอย่าเชื่อใครเลยก็ไม่ผิด แต่เราอาจมีโอกาสรอดมากขึ้นโดยทำสิ่งเหล่านี้ทุกครั้งที่มีการซื้อขายรูป:

  1. เก็บใบเสร็จ และใบเสนอราคาไว้ให้ดี
  2. ถ่ายภาพหน้าจอของ Terms of use, ข้อมูลลิขสิทธิ์, และเนื้อหาต่าง ๆ ที่บอกว่ารูปนี้มีลิขสิทธิ์แบบ “Royalty Free (ในไปใช้ทางการค้าได้)”

อย่าลืมว่าแม้แต่เว็บแจกรูปฟรี ที่บอกว่ารูปพวกนี้เป็น Public Domain เอาไปใช้ยังไงก็ได้ ก็ยังมีโอกาสที่เค้าจะไปเอารูปจากเว็บขายรูปมาลง ซึ่งทำให้เราโดนฟ้องได้ เพราะฉะนั้นเวลาเจอรูปสวย ๆ ที่ฟรี หรือราคาถูกมาก ๆ ให้ระวังตัวกันไว้ให้ดีครับ

ข้อ 10 : เรื่องสุดท้ายที่เราควรคำนึงถึงตอนทำเว็บไซต์

ระวังการใช้รูปถ่ายที่แถมมากับ Template เว็บไซต์ไว้ให้ดีครับ เพราะถึงคุณจะจ่ายเงินซื้อ Template มาใช้ สิ่งที่คุณซื้อคือ Code กับ Layout ของเว็บไซต์ ไม่ได้ซื้อรูป ลิขสิทธิ์ของรูปพวกนี้จะไม่ได้ให้กับคุณ หรือเว็บไซต์ใหม่ที่คุณจะสร้าง โดยส่วนใหญ่ลิขสิทธิ์รูปจะให้กับ “คนที่สร้าง Template” คนเดียวเท่านั้น และถูกใช้เพื่อสาธิตการวางเนื้อหาลงใน Template เท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้คุณอาจจะรู้สึกว่าการนำรูปถ่ายมาใช้ในเว็บไซต์นี่ยากเหลือเกิน ผมก็ขอสรุปเทคนิคการนำภาพมาใช้แบบสั้น ๆ ครับ: พยายามถ่ายรูปเอง หรือให้คนรู้จักถ่าย แต่ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ ก็ให้เช็คดี ๆ ว่าภาพจากที่ใด ๆ ที่นำมาใช้มีลิขสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษร แม้แต่ Google Image ที่เดี๋ยวนี้ค้นหารูปแบบ Creative Commons ได้แล้ว ทางกูเกิ้ลเองก็ยังบอกว่า “เราไม่ได้การันตีว่ารูปเหล่านี้จะเป็น Public Domain จริง ๆ หรือเป็นลิขสิทธิ์อื่น”

สุดท้ายนี้ผมก็มีเว็บไซต์ขายรูปดี ๆ ที่น่าเชื่อถือได้มาฝากกันครับ


รวมเว็บไซต์ขายรูปที่ราคาไม่แพง และไม่ค่อยมีปัญหาฟ้องร้อง

1. Shutterstock – การันตีด้วยเงิน 10,000 ดอลล่า

ลิขสิทธิ์รูป shutterstock
ลิขสิทธิ์รูป shutterstock

เว็บไซต์ Shutterstock ก็การันตีว่าจะให้เงินถึง 10,000 ดอลล่าถ้ามีการฟ้องร้องลิขสิทธิ์เกิดขึ้น ซึ่งความจริงแล้วฟ้องร้องครึ่งนึงแค่ 10,000 ดอลล่าไม่พอแน่ ๆ ครับ ท่านใดมีเว็บไซต์ที่แนะนำเกี่ยวกับการซื้อรูปภาพ สามารถแจ้งมาในส่วน Comment ได้เลยครับ เดี๋ยวผมจะเพิ่มลงในลิสต์ตรงนี้ให้ครับผม หรือถ้าท่านใดมีประสบการณ์โดนฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์รูป รบกวนมาแชร์เพื่อให้ท่านอื่น ๆ ได้ระวังตัวกันด้วยครับผม

ปัจจุบัน Shutterstock มีภาษาไทยให้เพื่อน ๆ ได้ใช้งานด้วยครับ มีเงื่อนไขการใช้งาน เรื่องของกฏหมาย และลิขสิทธิ์เป็นภาษาไทยด้วย อ่านต่อได้ที่ Shutterstock terms

ปัจจุบันราคาของ Shutterstock เริ่มต้นที่ $49/เดือน ประมาณ 1,610 บาท โหลดได้ 10 ภาพต่อเดือน
ยกเลิกเมื่อไรก็ได้ไม่ติดสัญญา ข้อดีคือมีภาพเยอะมากมายหลากหลายสุดๆ

2. Deposit photos – เว็บขายรูปภาพที่ราคาถูกกว่าเจ้าอื่น

depositphotos pricing ลิขสิทธิ์รูป
ค่าบริการรายเดือนและแบบรายภาพจาก deposit photos

เว็บไซต์ Depositphotos นี้เป็นเว็บที่ทีมงานของ Designil นั้นใช้งานเองเลยครับ เป็นเว็บที่จะขายทั้งรูปภาพ, เวคเตอร์, วิดีโอ, และไฟล์เสียงสำหรับทำวิดีโอ ตัดต่อวิดีโอ Youtube

ข้อดีคือ มีราคาที่ถูกกว่า Shutterstock ครับ ราคาอยู่ที่ $40/เดือน หรือ 1,230 บาท

  • ดาวน์โหลดได้ 10 ไฟล์ต่อเดือน
  • มีภาพให้บริการ 191 ล้านภาพ, 9 ล้านวิดีโอ & ไฟล์เสียง 5 แสนไฟล์
  • โหลดภาพขนาดใหญ่สำหรับพิมพ์
  • งานที่ต้องทำภาพพิมพ์ รูปภาพสามารถใช้ซ้ำได้ถึง 500,000 งาน
  • ใช้งานภาพได้ตลอดชีพอย่างถูกลิขสิทธิ์ แม้ไม่ได้สมัครสมาชิกรายเดือนแล้ว

ถ้าเกิดใช้งานเป็นเพียงแค่รายภาพ แพคเกจ 3 ภาพ จะอยู่ที่ราคา $42 หรือ 1,405 บาท แพงกว่าราคารายเดือน แนะนำว่าถ้าต้องทำสินค้าหรือขายของที่ต้องใช้งานรูปภาพบ่อย ๆ ควรใช้งานแบบแพคเกจรายเดือนจะคุ้มค่ากว่าครับผม

ส่วนแพจเกจอื่น ๆ สามารถเยี่ยมชมได้ในเว็บไซต์ด้านบนเลยครับ

3. Envato Elements ดาวน์โหลดรูปและกราฟิกไม่จำกัดเหมาะสำหรับคนทำเว็บไซต์

envato elements ลิขสิทธิ์รูป
envato elements

Envato Elements จะเหมาะสำหรับสายที่ชอบโหลด Theme WordPress, Plugin, ไฟล์เสียง (เสียงใช้ประกอบคลิป Youtube ได้ครับ), กราฟิก, รูปภาพ, บรัช Procreate, บรัช Photoshop, Powerpoint template, ฟ้อนต์ฟรี เรียกว่ามีไฟล์ทุกแบบเลยครับ

เว็บไซต์นี้จะมีข้อดีตรงความหลากหลายของไฟล์ และลิขสิทธิ์การใช้งานที่ปลอดภัย เพราะเว็บไซต์มีการเขียนอย่างละเอียดก่อนดาวน์โหลด ที่ผมชอบมากที่สุดคือสามารถดาวน์โหลดได้อย่างไม่จำกัด โหลดรูปภาพซ้ำได้ทุกขนาด

ถ้าใครเลือกแพคเกจจ่ายรายเดือนจะสามารถยกเลิกเมื่อไรก็ได้ไม่ติดสัญญา

ราคาต่อเดือนที่โหลดได้ทั้งหมดนี้จะอยู่ที่ประมาณ 545 บาท/เดือนเท่านั้นครับ
สำหรับราคานักศึกษาที่ใช้อีเมล์มหาวิทยาลัย จะได้ราคาต่อเดือนที่ถูกลง 30% อยู่ที่ 360 บาท/เดือน


เพิ่มเติม : การฟ้องลิขสิทธิ์รูปในศาล

เจ้าของลิขสิทธิ์จะเรียก กี่ล้าน กี่สิบล้านก็ตาม สุดท้ายแล้ว ศาลจะเป็นผู้กำหนด อัตราเงินให้โจทก์เอง

(ฟ้องไป 10ล้าน ที่ได้จริงๆคือ หมื่นห้า 5555555555555+)
แต่ฟ้องให้ดูเยอะไว้ก่อน จะได้ขู่คนอื่นด้วย

จากคุณ Agrias Oaks

เพิ่มเติม : การเอารูปมีลิขสิทธิ์มาลง Facebook ผิดมั้ย

การนำรูปที่มีลิขสิทธิ์ มาใช้เป็นดิสเฟสบุ๊ค……ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม มาตรา 15 (2) ในส่วนของการนำ ผลงานนั้น มาเผยแพร่ต่อสาธารณะชนครับ

สรุปคือ ผิด……..แต่ผู้ที่มีอำนาจฟ้อง คือ เจ้าของ คนเดียวเท่านั้น
และแน่นอนว่า บางครั้งเจ้าของอยู่ ต่างประเทศ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเอามาใช้

และบ่อยครั้ง ถึงเขารู้ก็ไม่สนใจ เพราะ
1. เราไม่ได้เอาไปขาย หรือทำอะไร แค่เอามาเป็นดิสเพลย์เท่านั้น
2. เค้าขี้เกียจ ทำเรื่องฟ้องข้ามประเทศ (ยุ่งยาก + เสียเงินเยอะ)
3. บางครั้ง เจ้าของผลงาน คิดไปในทาง ภูมิใจเสียด้วย

แต่นั่นคือ กรณี เราเอามาใช้เฉยๆ ไม่ใช่ในทางพาณิชย์นะครับ

จากคุณ Agrias Oaks


สำหรับคนที่อยากได้ รูปภาพฟรี ไปใช้งานในเว็บไซต์ บทความ อ่านบทเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

แล้วมาอัพเดทบทความใหม่ ๆ กับ Designil ได้เป็นประจำเลยนะครับ :D

designil

designil

Data engineer & WordPress Developer ทำงานที่บริษัทแคนว่า ซิดนีย์ออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Designil, DataTH ชอบอ่านบทความใหม่ๆ ตลอดเวลา และชอบสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้ภาษาที่เข้าใจง่าย ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะครับ
บทความทั้งหมด

3 Responses

  1. เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารูปที่เรานำใช้เป็นลิขสิทธิ์ของใครแล้วจะขอเค้าใช้ได้อย่างไรคะ

    1. ปกติรูปภาพทุกรูปภาพจะมีเจ้าของลิขสิทธิ์ บางแห่งจะแจ้งว่าเจ้าของคือใคร บางแห่งไม่ได้แจ้ง ดังนั้นถ้าเกิดไม่มั่นใจหรือเราไปเจอมาจาก Google, Pinterest ก็ไม่ควรเอามาใช้ แนะนำว่าควรซื้อจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้เท่านั้นค่า