30 คำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งาน สำหรับแคนดิเดต

Radar

สวัสดีครับเพื่อน ๆ พบกับแอดอีกแล้วนะครับ วันนี้ก็ยังคงมีเรื่องราวดี ๆ มาฝากเพื่อน ๆ อีกเช่นเคย เมื่อวันก่อนแอดได้เขียนบทความเกี่ยวกับ 10 คำถามที่ถูกถามบ่อยเวลาสัมภาษณ์งาน กันไปแล้วนะครับ สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่ยังไม่เคยเข้าไปอ่าน สามารถตามเข้าไปอ่านตามลิงก์ที่แอดแปะไว้ได้เลย

หลังจากที่เราได้ถูกถามและตอบคำถามในฐานะผู้ถูกสัมภาษณ์ไปหมดแล้วนั้น ถึงคราวที่เราจะเป็นฝ่ายถามผู้สัมภาษณ์หรือหัวหน้างานบ้างแล้วว่า งานของบริษัทในตำแหน่งนี้เป็นอย่างไร ลักษณะหัวหน้างานของเราเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้ประเมินได้ถูกว่าเราเหมาะสมที่จะทำงานในตำแหน่งนี้หรือเปล่า หัวหน้างานที่จะได้ทำงานร่วมกันในอนาคต จะเป็นที่ปรึกษาให้เราได้มากน้อยแค่ไหน

วันนี้เราจะพาไปดูคำถามที่เหมาะสมที่เราจะใช้ในการถามกลับต่อหัวหน้างานกันครับ

เตรียมคำถามที่ควรถามกลับให้พร้อมก่อนเริ่มสัมภาษณ์

การถามคำถามต่อหัวหน้างานกลับ เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการที่จะทำให้เรารู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและการดำเนินงานของบริษัทนั้นๆ มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสที่ทำให้เราได้แสดงทักษะ ความสามารถหรือประสบการณ์ที่เรามีได้อีกด้วย

แต่ถ้าใครที่จะหวังไปตายเอาดาบหน้าล่ะก็ เป็นความคิดที่ผิด เพราะนี่ไม่ใช่คุณสมบัติของผู้สมัครงานที่ดีเลย ผู้สมัครที่ดีควรที่จะมีการเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี เตรียมพร้อมสำหรับหลาย ๆ เรื่องที่คิดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การเตรียมคำถามสำหรับการถามหัวหน้างานนั่นเอง

แนะนำให้เตรียมไปให้เยอะ ๆ ยิ่งเยอะยิ่งดีมาก ๆ เพราะถ้าน้อยเกินไปหัวหน้างานจะคิดว่าเราไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาเลย ดังนั้นเผื่อเหลือเผื่อขาดกันนะครับ

คำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งาน
คำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งาน

แต่หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นมาในใจกันนะครับ ว่าเราจะไปถามกลับต่อหัวหน้างานของเราทำไม ในเมื่อเราต้องเป็นคนถูกสัมภาษณ์ในฐานะผู้สมัครงาน เรามีสิทธิ์ที่จะไปถามกลับได้ด้วยหรอ?

แอดขอตอบเลยนะครับว่า เราสามารถถามกลับได้ครับ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าเราต้องการที่จะทำงานในตำแหน่งนี้จริง ๆ จึงอยากจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวหัวหน้างานและลักษณะงานต่างๆ เพื่อจะได้เป็นการประกอบการตัดสินใจของตัวเราเองไปด้วย

ดังนั้นคำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเตรียมไป เพื่อในวันจริงเราจะได้นึกออกว่า เราต้องการที่จะถามอะไร เพราะมีหลายคนหลงลืมที่จะถาม เพราะไปคิดสดเอาในช่วงสัมภาษณ์ บวกกับการถามคำถามกลับต่อหัวหน้างานเป็นขั้นตอนหลังจากที่เราถูกสัมภาษณ์ไปเรียบร้อยแล้ว จึงอาจเกิดภาวะตื่นเต้นและหลงลืมคำถามได้นั่นเองครับ


สุดยอด 30 คำถามที่ควรถาม HR ตอนสัมภาษณ์งาน

หมวดหมู่คำถามที่จะแนะนำในวันนี้คือ

  1. หน้าที่ความรับผิดชอบและเงื่อนไขการปฏิบัติงาน
  2. โครงสร้างขององค์กร
  3. วัฒนธรรมขององค์กร
  4. วิสัยทัศน์
  5. คำถามเพิ่มเติม
คำถามที่ควรถาม HR
30 คำถามที่ควรถาม HR

ต่อไปนี้แอดจะขอยกตัวอย่างของคำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งานที่เพื่อน ๆ ควรเตรียมมาก่อนการสัมภาษณ์นะครับ เพื่อที่เราจะได้ถามหัวหน้างานกลับไปได้อย่างมั่นใจ และเป็นตัวช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่า ตัวเราเองเหมาะสมที่จะทำงานในตำแหน่งของบริษัทนี้หรือไม่ ไม่รอช้าครับ ไปดูกันเลย


A. หน้าที่ความรับผิดชอบและเงื่อนไขการปฏิบัติงาน

1. ช่วยอธิบายเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่ผมจะต้องเจอในงานตำแหน่งนี้?

เป็นคำถามที่จะทำให้เราทราบคร่าว ๆ ได้ครับว่า ตำแหน่งของงานนี้ในบริษัทที่เราจะต้องเจอเป็นประมาณไหน เราสามารถทำได้ไหม ทำไหวไหม เราสามารถที่จะเต็มที่กับมันได้รึเปล่า แอดบอกเลยนะครับว่าการหาข้อมูลของงานในตำแหน่งนั้นมา ไม่สู้เท่ากับเราได้ฟังจากปากของหัวหน้างานเองครับ

2. สิ่งที่คุณกำลังมองหาในตัวของผู้สมัครงานคืออะไร?

ฟังดูจะเหมือนเป็นคำถามแนวจิตวิทยานิดนึงนะครับ ซึ่งเป็นเหมือนการตรวจสอบอ้อม ๆ ว่าตัวเรามีคุณสมบัติเหมาะกับที่เขาต้องการรึเปล่า ถ้าผลสัมภาษณ์ที่ผ่านมาค่อนข้างดี คำตอบที่เราจะได้รับจากข้อนี้ก็น่าจะเป็นไปในทางที่ตรงกับตัวเรานะครับ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าเราเหมาะกับงานในตำแหน่งนี้ระดับนึงเลย

3. ความท้าทายของงานนี้คืออะไร?

คำถามนี้แสดงให้เห็นถึงตัวเราที่มีสปิริตหรือมีจิตใจพร้อมที่จะเผชิญอุปสรรคปัญหาของงานในตำแหน่งนี้อย่างเต็มที่ครับ ผู้สัมภาษณ์จะเห็นถึงความมุ่งมั่นของเพื่อน ๆ ที่จะทำงานในตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน เหมือนกับว่าเราพร้อมที่จะท้าทายกับสิ่งใหม่ ๆ ของงาน แล้วมันก็ทำให้เราดูมีความทะเยอทะยานขึ้นมาในระดับนึงเลยนะครับ

ความท้าทายของงานนี้คืออะไร? เป็นคำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งานที่จะช่วยให้แสดงสปิริตและความมุ่งมั่นของการทำงานของเรา

4. ช่วงระยะเวลาของการทำงานอยู่ที่เท่าไหร่?

คำถามนี้จะช่วยให้เราทราบขอบเขตของงานที่เราจะต้องเจอ เหมือนเราได้มีเข็มทิศเอาไว้ในมือ ทำให้เราสามารถที่จะกำหนดทิศทางและวางแผนงานต่างๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะถ้าหากเราไม่รู้ เราก็จะทำมันไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดหมายและสุดท้ายเราก็จะไม่ได้ประสบการณ์อะไรเลยจากงานที่ทำ

5. เป้าหมายใน 90 วันแรกของผม ผมควรทำสำเร็จในเรื่องไหนบ้าง?

เป็นคำถามที่ทำให้หัวหน้างานได้เห็นว่า เราพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองในด้านความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ไปกับงานที่ทำ มันทำให้พวกเขามั่นใจว่าเราจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นกับงานในตำแหน่งนี้ ซึ่งการที่พนักงานมีความกระตือรือร้นที่จะขวนขวายหาความรู้ เป็นสิ่งประทับใจอันดับต้น ๆ ของหัวหน้างานเลยนะครับ ดังนั้นแอดมั่นใจเลยว่า พวกเขาจะให้คำแนะนำกับเพื่อน ๆ อย่างเต็มที่แน่นอน

6. ในงานนี้มีการทำงานที่ล่วงเวลาบ้างรึเปล่า?

คำถามนี้ถือว่าเป็นการถามเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเราเองนะครับ เพราะว่าบางที่หัวหน้างานไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ว่าช่วงเวลางานเป็นเท่าไหร่ ต้องทำถึงกี่โมง มีค่าเสียเวลาเพิ่มไหม คำถามพวกนี้ควรที่จะถามกันให้เคลียร์กันตั้งแต่ตอนแรกเลยนะครับ จะได้ไม่มาผิดใจกันในภายหลัง เพราะบางทีรอบแรกตกลงกันอย่างนึงแบบคลุมเครือ แล้วพอต่อมากลับให้ทำงานล่วงเลยเวลา โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ ดังนั้นถามกันให้สบายใจให้ละเอียดตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีที่สุดนะครับ

บทความที่น่าสนใจ: STAR technique เทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์งานให้ได้ผล


B. โครงสร้างขององค์กร

1. งานในแผนกนี้มีพนักงานจำนวนกี่คนแล้ว?

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งานที่เป็นการถามอ้อม ๆ ว่าเราสามารถที่จะเข้าทำงานในตำแหน่งนี้รึเปล่า และเราจะได้รู้ด้วยครับว่างานในตำแหน่งนี้มีคุณภาพมากแค่ไหน จำไว้นะครับ ถ้าตำแหน่งงานมีคนน้อยแสดงว่าตำแหน่งงานนั้นจะมีคุณภาพ และเมื่อเราเข้าไปทำงานเราจะดูมีความสำคัญขึ้นมาในระดับนึงเลยนะครับ

2. ใครคือหัวหน้าที่คอยรับผิดชอบของงานในแผนกนี้?

คำถามนี้ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าเมื่อเราได้เข้าไปทำงานแล้ว เราจะได้ทำงานร่วมกับใคร เพื่อที่เราจะได้ไปศึกษาข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคน ๆ นั้น จะได้สามารถวางตัวถูกเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำงานร่วมกันครับ และยังถือเป็นความประทับใจแรกในการเริ่มต้นทำความรู้จักกันด้วยนะครับ

3. รูปแบบในการบริหารของบริษัทเป็นยังไง?

คำถามนี้เป็นการตรวจสอบว่า หัวหน้างานของเรามีประสิทธิภาพต่อการบริหารองค์กรยังไง บริษัทที่เราจะเข้าไปทำมีโอกาสเติบโตไปในทางที่ดีขึ้นมากแค่ไหน เพราะสิ่งสำคัญในการที่บริษัทจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อยู่ที่ประสิทธิภาพของหัวหน้างานของบริษัทนั้น ๆ นั่นเองครับ

4. คุณมีนโยบายเกี่ยวกับพนักงานใหม่ที่กำลังจะได้เข้าไปทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ของบริษัทมั๊ย?

เป็นการตรวจสอบได้นะครับว่า นโยบายต่าง ๆ นั้นมีผลกระทบอะไรกับเราข้างต้นบ้าง เพื่อที่เราจะได้สามารถวางแผนในอนาคตได้ครับว่าเราต้องจัดสรรเวลาของเรายังไงต่องานในตำแหน่งนี้ ไม่ว่าะเป็นเวลาการทำงาน สวัสดิการต่าง ๆ ที่เราจะได้รับ ทุกอย่างเป็นสิทธิ์ของเราที่จะสามารถถามต่อหัวหน้างานได้ครับ

บทความที่น่าสนใจ: มาทำความรู้จักกับ Aptitude test แบบทดสอบก่อนเข้าทำงานที่หลายบริษัทใช้


C. วัฒนธรรมขององค์กร

1. อะไรคือรางวัลที่ใหญ่ที่สุดของงานในการทำงานให้กับบริษัทแห่งนี้?

ถ้าแปลง่าย ๆ ก็คือเหมือนโบนัสในการทำงานเลยครับ รางวัลใหญ่ก็เหมือนเป็นรางวัลตอบแทนที่ดีที่สุดเมื่อเราทำงานอะไรบางอย่างมาได้ระยะเวลาหนึ่งครับ โบนัสของบริษัทเป็นอีกหนึ่งอย่างที่สามารถบอกรายได้ของบริษัทได้เลยนะครับว่า บริษัทนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือว่าลดลง เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งานที่ทำให้รู้ประสิทธิภาพของบริษัทนั้น ๆ ได้อีกหนึ่งคำถามเลย

2. อะไรคือส่วนที่ดีที่สุดในการทำงานในบริษัทแห่งนี้?

ส่วนนี้จะเป็นการถามข้อดีของบริษัทแห่งนี้ครับว่าช่วงเวลาการทำงานของพนักงาน พนักงานจะได้รับข้อดีในส่วนของตรงไหนบ้าง มีเวลาพักมากแค่ไหน มีการจัดกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายอะไรบ้างรึเปล่า มีการลาพักร้อนได้หรือไม่ และเราจะได้รับข้อดีในส่วนของตรงไหนบ้างหลังจากที่ทำงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว

3. ส่วนชอบที่น้อยที่สุด ที่คุณพบเจอในบริษัทนี้คืออะไร?

ในส่วนนี้จะเป็นการถามถึงปัญหาหรือข้อบกพร่องของตัวบริษัทในระหว่างการทำงานว่า ปกติแล้วปัญหาที่พบเจออยู่บ่อย ๆ ในการทำงานของบริษัทมีอะไรบ้าง ได้รับการแก้ไขบ้างหรือเปล่า เป็นการถามไว้เพื่อให้เราสามารถเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านั้นได้นั่นเองครับ

4. ทักษะของคุณแบบไหนที่จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในงานนี้?

ให้พูดง่าย ๆ ก็คือ การที่เราจะทำงานนี้ได้ เราควรจะต้องเคยทำอะไรมาก่อนบ้าง ต้องมีประสบการณ์มากเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมกับงานนี้ เป็นเหมือนการรีเช็กตัวเองกับหัวหน้างานของเราไปในตัวครับว่า ประสบการณ์ที่เราได้สั่งสมมาสามารถนำมาใช้กับงานนี้ได้มากน้อยแค่ไหน มีอะไรบ้างที่เราต้องพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น เพื่อที่ตัวของเราเองจะได้พร้อมที่จะทำงานนี้ในอนาคตได้นั่นเองครับ

รวมคอร์สเรียนด้านการเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน


D. วิสัยทัศน์

1. ตำแหน่งงานนี้เป็นตำแหน่งใหม่หรือเปล่า?

คำถามนี้ทำให้เราทราบได้ครับว่า เมื่อเราเข้าไปทำงานแล้วจะมีผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อนคอยช่วยแนะนำรึเปล่า เพราะว่าถ้าเป็นตำแหน่งเปิดใหม่ เราก็จะไม่มีใครคอยแนะนำในการทำงาน ซึ่งเราอาจจะเหนื่อยเรียนรู้งานเพิ่มมากขึ้นนิดหน่อย เพราะว่าหัวหน้างานก็ไม่สามารถที่จะอยู่คอยให้คำปรึกษกับเราได้ตลอดเวลา แต่แอดจะบอกว่าข้อดีของมันก็มีนะครับ เพราะว่าถ้าเป็นตำแหน่งงานที่เปิดใหม่แล้วเราสามารถทำมันได้ดี ทั้งหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานก็จะมองว่าเรามีความโดดเด่นในเรื่องนั้นเป็นอย่างมาก ทำให้เราสามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นๆ ได้ รวมถึงจะทำให้เราเป็นคนที่มีเสน่ห์น่าดึงดูดด้วยนะครับ

2. แนวโน้มการเติบโตและความก้าวหน้าของบริษัทตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

เป็นการถามเพื่อประเมินได้ว่า บริษัทที่เรากำลังจะเข้าไปทำงานจะมีผลต่องานในอนาคตของเราอย่างไร จะมีผลต่อความมั่นคงในชีวิตของเราอย่างไรบ้าง เพราะถ้าบริษัทมีแน้วโน้มการเติบโตไปในทิศทางที่ดี ความมั่นคงในตำแหน่งงานและสวัสดิการอะไรอีกหลาย ๆ อย่างของริษัทก็จะดีต่อตัวเราและเพื่อนร่วมงานตามไปด้วยนั่นเองครับ

3. ผมจะสามารถก้าวหน้าในบริษัทได้ยังไงบ้าง?

เป็นการถามหัวหน้างานเพื่อที่จะขอคำแนะนำในการทำงานนั่นเองครับ การที่เราจะก้าวหน้าในบริษัทแอดบอกเลยนะครับว่ามันขึ้นอยู่กับความสามารถล้วน ๆ คนเก่งมีความสามารถใคร ๆ ก็ไว้ใจและอยากจะมอบหมายงานให้ทำ เมื่อทำสำเร็จ ผลงานก็มากขึ้นทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้น มีความก้าวหน้ามากขึ้นนั่นเองครับ การถามแบบนี้แอดว่าดีมากนะครับ เพราะเป็นการถามโดยตรงจากผู้มีประสบการณ์อย่างหัวหน้างาน เพราะว่ากว่าพวกเขาจะก้าวหน้ามาถึงขั้นนี้ได้ พวกเขาก็ต้องเคยทำงานในตำแหน่งระดับพื้นฐานมาก่อน เพราะฉะนั้นแอดแนะนำให้เพื่อน ๆ ถามคำถามนี้นะครับ

4. คุณสามารถให้โอกาสในการพัฒนาทักษะอื่น ๆ ได้รึเปล่า?

คำถามนี้สามารถทำให้หัวหน้างานมองตัวเราว่ามีความสนใจที่จะพัฒนาตัวเองเพื่องานที่กำลังจะทำนะครับ ซึ่งอาจจะส่งผลดีจนสามารถทำให้คะแนนในการสัมภาษณ์ของเราก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้นมามากเลยทีเดียว การที่เราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่จะทำให้คนรอบข้างของเรามีความสนใจในตัวเรามากขึ้นนะครับ ดังนั้นไม่ต้องห่วงเลยว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร เพราะว่าถ้าหัวหน้างานของเรามีความคิดที่ก้าวหน้ามากพอ พวกเขาจะไม่ยอมให้พนักงานของพวกเขาหยุดที่จะพัฒนาตัวเองอย่างแน่นอน ดังนั้นคำถามนี้อาจจะเป็นคำถามที่ควรถามตอนสัมภาษณ์งานที่รู้คำตอบกันอยู่แล้ว แต่การเลือกที่จะถามก็เพราะว่ามันสามารถเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการสัมภาษณ์ของเราได้นั่นเองครับ

5. คุณสามารถอธิบายวิสัยทัศน์ของบริษัทนี้ออกมาเป็นคำพูดได้รึเปล่า?

เป็นการประเมินประสิทธิภาพของหัวหน้างานของเรานั่นเองครับว่าพวกเขามีความสามารถที่จะถ่ายทอดประสบการณ์หรือแนวคิดต่างๆ ออกมาเป็นคำพูดเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจได้มากน้อยแค่ไหน แอดบอกเลยนะครับว่าคุณสมบัติพื้นฐานที่ผู้บริหารทุกคนควรที่จะมีนั่นคือทักษะการสื่อสารครับ ถ้าผู้บริหารคนไหนเป็นคนพูดเก่งและมีศิลปะในการพูด มีความเป็นไปได้สูงครับว่าผู้บริหารคนนั้นจะสามารถดึงดูดผู้คนต่าง ๆ เข้ามาสร้างรายได้ให้กับบริษัทของเขา และเขาก็จะสามารถบริหารบริษัทไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นให้แอดพูดง่าย ๆ ก็คือหัวหน้างานที่พูดเก่ง ๆ และเราสามารถเข้าใจถึงคำพูดเหล่านั้นได้ เราก็สามารถประเมินขั้นต้นได้เลยครับว่าหัวหน้างานคนนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนตามแต่ดุลยพินิจของแต่ละคน

6. บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้างหรอครับ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา?

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามนะครับที่เป็นการตรวจสอบการพัฒนาการของบริษัทแห่งนั้น ๆ ว่าที่ผ่านมาบริษัทมีการเติบโตหรือไม่ เพราะว่าถ้ารายได้ของบริษัทลดลงแสดงว่าบริษัทนั้นอาจจะพบเจอกับปัญหาอะไรบางอย่างอยู่ เราก็คงไม่อยากเอาชีวิตของเราเข้าไปทำงานกับบริษัทที่กำลังมีความเสี่ยงอยู่แล้วครับ ดังนั้นสามารถเป็นคำถามที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าเราควรที่จะเข้ามาทำงานในบริษัทแห่งนี้หรือไม่ เพราะบริษัทมีพัฒนาการที่ดีก็จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าเมื่อเราเข้ามาทำงานแล้ว ชีวิตของเราหลังจากนั้นจะพัฒนาและเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างแน่นอน

7. บริษัทมีแผนที่จะเติบโตและพัฒนายังไงบ้าง?

นี่เป็นคำถามที่สามารถตรวจสอบวิสัยทัศน์ของหัวหน้างานได้เลยนะครับว่าวิสัยทัศน์ของพวกเขาเหล่านั้นมองภาพของบริษัทตัวเองไว้ได้ไกลมากแค่ไหน เพราะหัวหน้างานที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ก็จะสามารถทำให้บริษัทของตัวเองพัฒนาไปได้ไกล พนักงานของบริษัทก็มีโอกาสเติมโตและพัฒนาตัวเองไปได้ไกลมากเช่นกันครับ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการเลือกเข้าทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งนั่นคือการพิจารณาวิสัยทัศน์รวมไปถึงนิสัยใจคอของหัวหน้างานของบริษัทนั้นๆ นั่นเองครับ

30 คำถามที่ควรถาม HR และผู้สัมภาษณ์งาน
30 คำถามที่ควรถาม HR และผู้สัมภาษณ์งาน

E. คำถามเพิ่มเติม

1. มีอะไรที่ผมสามารถถามคุณได้อีกไหม?

นี่ถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งนะครับในการถามคำถาม เพราะบางทีเราก็ไม่รู้ว่าคำถามที่เราคิดมาเมื่อถามไปแล้วมันจะเหมาะสมรึเปล่า เพราะว่าถ้ามันไม่เหมาะสมอาจจะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของตัวเราเองได้นะครับ เพราะฉะนั้นก็เป็นเหมือนการตรวจสอบให้แน่ใจว่าขอบเขตในการถามคำถามของเราสามารถถามได้ประมาณไหนบ้างนั่นเองครับ

2. ผมสามารถอธิบายเกี่ยวคุณสมบัติของตัวผมเพิ่มเติมได้อีกไหม?

บางคนอาจจะคิดว่ามันจะเป็นการโอ้อวดตัวเองมากไปรึเปล่า แอดบอกเลยนะครับว่าเพื่อน ๆ กำลังคิดผิด เพราะบางทีการสัมภาษณ์ตอนแรก คำถามจากหัวหน้างานอาจจะยังไม่ครอบคลุมมากพอที่จะทำให้พวกเขาได้รับรู้ถึงความสามารถของเรา เพราะฉะนั้นไม่ผิดเลยครับที่เราจะแสดงความสามารถที่เรามีให้พวกเขาได้เห็น ให้พวกเขาได้รู้ว่าตัวเรายังมีความสามารถอีกหลายอย่างที่มีประโยชน์ต่องานในตำแหน่งนั้นๆ เพราะใครๆ ก็อยากได้คนเก่ง มีความสามารถหลายๆ ด้านอยู่แล้วครับ ฉะนั้นไม่ต้องกังวล แสดงศักยภาพของเพื่อนออกมาให้เต็มที่ไปเลย อย่ากลัวการที่จะถามครับ

3. ถ้าผมได้รับคัดเลือก คุณต้องการให้ผมเริ่มต้นงานเร็วที่สุดเมื่อไหร่?

คำถามนี้เป็นการยืนยันเลยนะครับว่า เรามีความตั้งใจที่จะทำงานจริง ๆ เพราะว่าเหมือนกับตอนนี้เรามีความพร้อมที่จะเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งนั้นแล้ว พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ คำถามนี้อาจจะสามารถเรียกคะแนนในการสัมภาษณ์ตอนแรกได้มากขึ้นเลยนะครับ เพราะมันแสดงถึงตัวเราที่ไม่มีความขี้เกียจ มีแต่สปิริตที่พร้อมจะลุยงานอยู่ตลอดเวลา แอดบอกเลยนะครับหัวหน้างานแทบทุกคนชอบคนขยันครับ เคยได้ยินไหมครับ ”เก่งไม่กลัว กลัวขยันมากกว่า”


❌ คำถามที่ไม่ควรจะถามกลับต่อผู้สัมภาษณ์

มีคำถามบางอย่างนะครับที่เราควรที่จะหลีกเลี่ยงในการถามต่อหัวหน้างาน เนื่องจากอาจจะเป็นการสื่อไปในทางลบต่อภาพลักษณ์องเราได้ เดี๋ยวแอดจะพาเพื่อนๆ ไปดูตัวอย่างกันนะครับ

บริษัทนี้ทำอะไรบ้าง?

คำถามนี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับบริษัทที่เราจะสัมภาษณ์มาเลย ซึ่งแสดงออกให้เห็นว่า เราไม่มีความใส่ใจต่อการสัมภาษณ์งานกับบริษัทแห่งนี้ครับ

ช่วงทำงานสามารถลาพักร้อนได้เมื่อไหร่บ้าง?

คำถามนี้ควรรอจนกว่าเราจะได้ตอบรับเข้าทำงานนะครับ มันเป็นเหมือนคำถามที่เราสามารถถามได้เมื่อเราได้รับเข้าทำงานเรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่ได้งาน ผมสามารถเปลี่ยนแปลงตารางเวลางานของผมได้ไหม?

อย่าพึ่งคิดถึงเรื่องนี้เลยครับ ตารางงานที่หัวหน้างานได้กำหนดขึ้นมาแล้วนั้น เราสามารถต่อรองได้ มันอาจจะยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบถามครับ

ผมจะได้งานในตำแหน่งนี้ไหม?

เป็นคำถามที่ไม่ควรถาม เราไม่ควรจะใจร้อน ควรให้ผู้สัมภาษณ์ได้ลองนำกลับไปพิจารณาก่อน มันเหมือนไปเร่งการตัดสินใจของพวกเขา อาจจะทำให้พวกเขาไม่พอใจก็เป็นได้


✅ คำแนะนำในการถามคำถามต่อผู้สัมภาษณ์

แม้ว่าเราอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องถามคำถามทุกข้อตามที่แอดได้ยกตัวอย่างขึ้นมาด้านบน แต่การที่เราได้เตรียมคำถามเหล่านั้นไว้ซักสองสามข้อ ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อมและความใส่ใจต่อการสัมภาษณ์งานแล้ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และความมั่นใจของตัวเราเองได้ ต่อไปนี้จะเป็นข้อควรคำนึงสำหรับการเตรียมคำถามทั้งหลายจากด้านบนที่แอดได้ยกตัวอย่างไว้ให้ดูนะครับ

หลีกเลี่ยงคำถามที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น คำถามเกี่ยวกับเงินเดือน ประกันสุขภาพ เวลาพักร้อน ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ รวมถึงสิทธิพิเศษอื่นๆ มันจะดูเป็นคำถามที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัวได้ โดยในระหว่างการสัมภาษณ์เราควรที่จะแสดงให้หัวหน้างานได้เห็นว่า เรามีความสามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทได้อย่างไร

ควรถามทีละคำถาม ไม่ควรที่จะยิงคำถามหลายๆ คำถามในทีเดียว อาจจะทำให้หัวหน้างานสับสนได้ ควรถามคำถามที่มีประเด็นเฉพาะข้อนั้นๆ และให้จบภายในข้อนั้น ๆ ไปเลยครับ

หลีกเลี่ยงคำถามที่ตอบเพียงแค่ ”ใช่” กับ ”ไม่ใช่” คำถามพวกนี้อาจเป็นการปิดกั้นทบสนทนาไปเลยก็ได้นะครับ เพราะว่าคำตอบก็สามารถตอบได้เพียงสองคำตอบ และส่วนใหญ่เราจะสามารถหาคำตอบได้ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วไป แอดแนะนำว่าให้ถามคำถามปลายเปิดดีกว่านะครับ เพราะว่าจะเป็นโอกาสในการเปิดบทสนทนาให้ระหว่างเราและผู้สัมภาษณ์ได้นั่นเองครับ

อย่าถามคำถามเพียงหัวข้อเดียว การถามคำถามเพียงหัวข้อเดียวมันไม่ได้ผิดอะไรหรอกครับ แต่การที่เราสามารถที่จะถามคำถามในหลายๆ หัวข้อได้ มันเป็นการแสดงให้หัวหน้างานเห็นว่า เรามีความสนใจที่จะอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ของงานในตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับตัวเรานั่นเองครับ

ไม่ควรถามเรื่องส่วนตัวมากเกินไป บางครั้งเราอยากจะถามคำถามบางอย่างเพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์หรือความสนิทสนมกับหัวหน้างาน แต่ก็ควรจะพิจารณาคำถามให้ดี ไม่ควรถามเรื่องส่วนตัวที่เราคิดว่าไม่ควรพูดต่อหน้าสาธารณะ อย่างเช่น ช่วงนี้หัวหน้างานทำงานหนักมากเลย ได้มีเวลาว่างอยู่กับครอบครัวบ้างไหมครับ ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดออกสู่สาธารณะ


คำถามเพิ่มเติม

ซึ่งคำถามเหล่านี้ต้องขึ้นอยู่กับเพื่อน ๆ ด้วยนะครับว่าประเภทของงานที่เพื่อน ๆ กำลังจะไปสัมภาษณ์เนี่ยเป็นแบบไหน ซึ่งแอดจะขอยกตัวอย่างบางคำถามที่แอดคิดว่าน่าจะสนใจในการเอาไปถามต่อหัวหน้างานกันนะครับ

งานธุรการ สำหรับตำแหน่งงานนี้ควรจะถามเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานในแง่ของการบริหารและด้านมนุษยสัมพันธ์เป็นหลักครับ เพราะว่างานในตำแหน่งนี้จะต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน การประสานงานโครงการต่างๆ การให้ความช่วยเหลืองานด้านอื่น ๆ รวมไปถึงการจัดตารางการประชุมด้วย

การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์เป็นการสัมภาษณ์ที่ช่วยลดความกังวลให้กับใครหลายๆ คนได้เลยนะครับ เพราะว่ามันไม่จำเป็นต้องใช้ภาษากาย เนื่องจากบางคนอาจจะไม่มั่นใจในการสบตากับผู้สัมภาษณ์หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง การสัมภาษณ์แบบนี้แอดมั่นใจเลยครับว่าจะทำให้เราพูดอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างลื่นไหลแน่นอน เดี๋ยวแอดจะยกตัวอย่างคำถามที่เราสามารถที่จะถามกลับต่อหัวหน้างานของเราผ่านทางโทรศัพท์ให้ดูกันนะครับ

  • คุณสมบัติหลัก ๆ ที่คุณกำลังมองหาจากผู้สมัครคืออะไรหรอครับ?
  • ถ้าผมได้รับการคัดเลือก คุณมีตัวชี้วัดความสำเร็จในงานของผมจากอะไรหรอครับ?
  • คุณคิดว่างานในตำแหน่งนี้มีส่วนที่ท้าทายในด้านไหนบ้างหรอครับ?
  • คุณช่วยอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมขององค์กรที่เป็นอยู่ตอนนี้ให้หน่อยได้ไหมครับ?
  • คุณสะดวกที่จะนัดสัมภาษณ์กับผมตัวต่อตัวได้ไหมครับ?

การสัมภาษณ์ครั้งที่สอง เนื่องจากเราไม่ต้องการที่จะถามคำถามซ้ำซากในคำถามที่สัมภาษณ์กันไปตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว ดังนั้นเราควรที่จะเตรียมพร้อมคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นอื่นขึ้นมาบ้าง เพื่อที่เราจะได้รู้ถึงคำตอบจากหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มุมมอง และมีความสำคัญมากถ้าหากการสัมภาษณ์ครั้งที่สอง ผู้สัมภาษณ์คือคนเดียวกันกับการสัมภาษณ์ครั้งแรก

  • งานพาร์ตไทม์ ในส่วนนี้ควรที่จะถามเกี่ยวกับชั่วโมงในการทำงานให้เคลียร์นะครับ ว่าทำงานเวลาไหนได้บ้าง ทำขั้นต่ำวันละกี่ชั่วโมง ค่าจ้างรายวันหรือรายสัปดาห์และเท่าไหร่ ต้องทำงานอย่างน้อยกี่วัน ควรถามให้ชัดเจนนะครับ เพราะว่าเป็นงานพาร์ตไทม์ เราจะได้จัดสรรเวลากับงานหลักของเราได้ถูกนั่นเองครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ เพื่อน ๆ คนไหนที่อ่านมาตั้งแต่ต้นคงจะคิดแล้วว่า เราเหมือนได้กลายมาเป็นผู้สัมภาษณ์เองเลย แอดขอบอกเลยนะครับ ว่าไม่แปลกเลยครับ เพราะการที่เราถามกลับต่อหัวหน้างานของเราก็เพื่อให้เราได้คลายข้อสงสัยเกี่ยวกับงานในตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่างานในตำแหน่งที่เราต้องการจะทำนั้นเหมาะสมกับเราหรือไม่

เช่นเคยครับเพื่อนๆ ถ้าไม่อยากจะพลาดเรื่องราวดีๆ แบบนี้อีก ปักหมุดเว็บไซต์ Designil ไว้ที่หน้าแรกได้เลยนะครับ รับรองรองว่าจะมีแต่เคล็ดลับและเรื่องราวดีมามอบให้กับเพื่อน ๆ ตลอดแน่นอน ไว้บทความหน้ามาพบกับแอดกันอีกนะครับ

1. คำถามปลายคืออะไร

คำถามปลายเปิดเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด เพราะเป็นคำถามที่กระตุ้นให้ผู้ตอบอธิบายความคิดและแบ่งปันมุมมองของตนเองออกมา

2. จะตั้งคำถามปลายเปิดได้อย่างไร

วิธีตั้งคำถามปลายเปิดอย่างง่ายให้ใช้คำถามที่เริ่มต้นด้วย “อะไร” “ทำไม” “อย่างไร” “อธิบาย” หรือ “เล่าให้ฟัง” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิด และหลีกเลี่ยงการใช้คำถามที่ชี้นำ หรือแสดงความคิดเห็นส่วนตัว

บทความที่เกี่ยวข้อง

Designil ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างคอนเทนต์ดีๆ มีสาระประโยชน์ให้กับผู้อ่าน สิ่งที่ทีมงานแนะนำทั้งหมดมาจากการค้นคว้าและทดลองใช้งานจริงหลายสัปดาห์ หากคุณชอบเนื้อหาแบบนี้และอยากสนับสนุนให้ทีมงานให้มีแรงสร้างคอนเทนต์ดีๆ ในอนาคต สามารถซื้อสินค้าหรือบริการผ่านลิงก์บนบทความของเราได้นะครับ บางลิงก์ทางทีมงานจะได้รับส่วนแบ่งเล็กน้อยโดยจะไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับทางผู้อ่าน ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ การทำงานของเรา