5 ไอเดียวิธีเขียน Release notes สำหรับแอปพร้อมตัวอย่าง

Peridot

Release notes สำหรับคุณมากสำหรับการสร้างความน่าประทับใจให้กับองค์กร

ถ้าคุณอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวางแผนจำหน่าย Product ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นแอป หรือเว็บ หรือสินค้าดิจิตัลอื่นๆ ทุกท่านก็คงจะเคยประสบกับปัญหาที่ว่า เราจะเขียนข้อความอัพเดทอย่างไรเพื่อให้ผู้ใช้งานของเราเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ หรือเรามีอะไรใหม่ๆ เพิ่มเข้าไปในระบบของเราบ้าง

อย่างไรก็ตามการเขียนอัพเดทสำหรับการ launch สินค้าของเรานั้น จะต้องมีการเขียนที่ดี เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกค้าของเราทราบถึงคุณสมบัติใหม่ๆ แล้ว แต่ยังช่วยเตือนพวกเขาและบอกว่าของเรามันมีคุณค่าและสิ่งที่เราออฟเฟอร์ให้นั้นมันดีขนาดไหน เรียกว่าเป็นการเขียนเพื่อ Marketing ก็ยังได้เลยครับ

ดังนั้นบทความนี้เราจะมาแชร์ไอเดียในการเขียนข้อความหลังจากอัพเดทเวอร์ชั่น เพื่อที่จะช่วยให้คุณดึงดูดลูกค้ากลับมาอีกครั้ง มาสร้างความตื่นเต้นให้กับสินค้าของเรา และยังขยายช่องทางการเข้าถึงไปยังผู้ใช้งานใหม่ๆ

มาดูแรงบันดาลใจในการเขียนจากแบรนด์ดังๆเหล่านี้กันเลยครับ

Release Note คืออะไร?

Release note คือ รายงานการอัพเดทสินค้าของเรา ซึ่งจะมาหลังจากการอัพเดทหรือหลังจากการเปิดตัวสินค้าใหม่ โดยรายละเอียดจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับทางด้านเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับฟีเจอร์ของสินค้า

ซึ่งสำหรับสินค้าที่ออกใหม่ ข้อมูลอัพเดทผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลฉบับย่อเกี่ยวกับสินค้า, การอัพเดทของรุ่นในปัจจุบัน รวมถึงช่วยสอนวิธีการใช้งานในเวอร์ชั่นใหม่อีกด้วย

Release notes - What's new Microsoft
ตัวอย่างการเขียนอัพเดทสิ่งใหม่ๆจาก Microsfot – What's new Microsoft

นอกจากนี้การเขียนอัพเดทฟีเจอร์ใหม่ๆ แจ้งเตือนผู้ใช้งานยังนำไปใช้สำหรับการเขียนเพื่อ Design system ในบริษัทที่ทำ UX UI เพื่อแจ้งการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ๆ ที่เราต้องการจะปล่อยให้กับทีมของเราใช้งานได้ด้วยครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

[วิดีโอ] สอนทำ Figma Design system และเทคนิคแบบละเอียด
แจกฟรีไฟล์ Design system checklist ช่วยตรวจงานก่อนนำไปใช้จริง


Release Notes จะถูกเขียนบนช่องทางใด?

โดยส่วนใหญ่แล้ว ข้อมูลการอัพเดทจะถูกใส่อยู่บนตัวของแอพเอง หรือหน้า App Store ซึ่งช่องทางนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมเนื้อหาและเวอร์ชั่นได้ก่อนที่จะออกไปถึงลูกค้า ช่วยทำให้ลูกค้าเห็นถึงการพัฒนาปรับปรุงที่เราได้ไปแก้ไขมา และยังช่วยทำให้ลูกค้าของเราได้ให้ฟีดแบคดีๆกลับมาผ่านทาง App store หรือ Google Play store ช่วยให้เราปรับปรุงขั้นตอนการให้บริการ customer experience ได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ลูกค้าของเราเข้ามาอ่านอัพเดทบนช่องทางที่ลูกค้าไม่คุ้นเคย ก็จะสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี หรือเรียกว่า Bad UX ขึ้นมาได้ ดังนั้นเรามาดูช่องทางยอดนิยมในการเขียนอัพเดทข้อมูลเหล่านี้กันครับ ได้แก่

การเขียนบล็อกอัพเดท

การเขียนบทความในเว็บไซต์ ช่องทางนี้จะเหมาะสำหรับคนที่มีข้อมูลในการเขียนอัพเดทแบบขนาดยาว ในกรณีที่ข้อมูลมีความยาวกว่าอีเมล หรือข้อความในแอพ ช่วยทำให้เราอธิบายข้อมูลได้ในระดับลึก สำหรับข้อมูลที่ต้องใช้ในการอธิบายแบบละเอียด

โซเชียลมีเดีย

ช่องทางสำหรับคนที่อยากสร้างการมองเห็นผ่านทางโซเชียลมีเดีย แต่เหมาะสำหรับการอัพเดทที่มีขนาดสั้น เอาไว้สร้างความน่าสนใจ

Apple App Store/Google Play Store

ช่องทางนี้เป็นที่ยอดนิยมที่สุดสำหรับการปล่อย Release notes นั่นก็คือทาง Apple App store และ Google Play Store ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ User ของเราต้องการที่จะซื้อแอพหรืออัพเดท ก็จะต้องเข้ามาอ่านบน App store ก่อนเพื่อดูความน่าสนใจ ดังนั้นเราจะได้เห็นการอัพเดทอะไรที่น่าสนใจเพียบที่นี่

อีเมล

ช่องทางอีเมลจะใช้ในการสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอให้เขามาใช้งานสินค้าของเรา โดยส่วนใหญ่จะใช้ประกาศให้กับลูกค้าของเราได้ทราบ และดึงดูดลูกค้ากลับมาใช้งานซ้ำสำหรับผู้ใช้งานขาประจำของเรา


5 วิธีการเขียน Release Notes

1. ภาพสื่อสารได้ดีกว่าตัวหนังสือ

ผู้บริโภคส่วนใหญ่จำได้เพียง 20% ของข้อความที่พวกเขาอ่านถ้าหากว่าเนื้อหานั้นไม่ได้มาพร้อมกับภาพ ถ้าหากว่าเราทำหน้าอัพเดทข่าวสารที่มีแต่คำอธิบายยาวเหยียดโดยไม่มีรูปภาพประกอบระหว่างเวอร์ชั่นก่อนหน้าและเวอร์ชั่นปัจจุบัน ก็จะทำให้ข้อความของเรานั้นดูไม่น่าสนใจและน่าเบื่อ แนะนำว่าให้ใส่ GIF แบบสั้นๆ หรือภาพหน้าจอที่เป็นประโยชน์ที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นทำอะไรได้บ้าง

2. แบ่งหมวดหมู่ของการอัพเดทให้เป็นกลุ่ม

User ไม่ชอบอ่านอะไรที่ไร้ระเบียบและไม่มีหมวดหมู่ การอ่านตัวหนังสือจำนวนมากทำให้คนไม่สามารถกวาดสายตาไปมาและจดจำข้อมูลได้ ดังนั้นเราจึงต้องแบ่งหมวดหมู่ของการอัพเดทให้แยกออกเป็นกลุ่ม ด้วยการใส่หัวข้อที่ชัดเจน การใส่ drop down menu, การใส่ bullet points หรือการทำให้ paragraph ของเรามีขนาดสั้นลง

การแบ่งกล่องออกเป็นสัดส่วนช่วยทำให้เราอ่านข้อความได้ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

release notes amazon business
อัพเดทเรื่องฟีเจอร์ทางธุรกิจจาก Amazon

ตัวอย่างภาพด้านบนมาจาก Amazon Business ที่ให้การอัพเดททางด้านมุมมองของธุรกิจ ว่าปี 2021 มีอะไรเปลี่ยยนแปลงไปบ้าง โดยเราสามารถเลือกอ่านได้จากรายปี รายเดือน หรือราย product แยกเป็นหัวข้อ ซึ่งบอกเลยว่าอ่านง่ายมากๆ มองเห็นมุมมองโดยรวมของการทำธุรกิจได้อย่างครบถ้วนและชัดเจน

meta quest release notes
Meta quest – การเขียนอัพเดทจาก Meta

Meta quest ใช้การแบ้งหมวดหมู่ด้วยการแบ่งเป็นวันที่ วันที่ล่าสุดอยู่ด้านบน หลังจากนั้นจะเป็น Accordion ให้คนที่สนใจกดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้านใน พร้อมแบ่งเนื้อหาด้วย bullet point ในแต่ละประเด็นที่ต้องการจะนำเสนอ

3. อย่าใช้คำศัพท์ทางเทคนิคที่ยากจนเกินไป

การเขียนอัพเดทนั้นอาจจะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโปรโมตสินค้าใหม่, แนะนำฟีเจอร์ใหม่ๆ, หรือการสร้างความสัมพันธ์ PR กับลูกค้าของเรา และบางครั้งก็มีที่เราจะต้องเขียนเพื่อเป็นการสื่อสารกับผู้ใช้งานกลุ่ม Developer ที่ต้องใช้คำศัพท์ทางเทคนิคจำนวนมาก

ดังนั้นเราจึงจะต้องควบคุมภาษาไม่ให้ดูยาก น่าสับสน และต้องหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ที่เรารู้จักกันเฉพาะในองค์กร

ขั้นตอนแรกก่อนการเริ่มเขียนเราจึงจะต้องรู้ก่อนว่าผู้อ่านของเราเป็นใคร? เรากำลังสื่อสารกับใคร? ผู้อ่านมีความรู้ในข้อมูลที่เรากำลังจะสื่อสารออกไปมากน้อยแค่ไหน? อาทิเช่น การเขียน Release notes ให้กับ Developer เองนั้นสามารถใช้คำศัพท์เฉพาะทางสำหรับโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาได้เพราะผู้อ่านมีความเชี่ยวชาญในแวดวงการเขียนโปรแกรมมาแล้วหลายปี

แต่หากเราจะเขียนให้กับผู้อ่านทั่วไป เช่น เขียนอัพเดทเวอร์ชั่นของแอปพลิเคชั่น Facebook ว่ามีฟีเจอร์ใหม่ๆอะไรออกมาบ้าง เราไม่ควรใช้คำศัพท์เฉพาะทางมากเกินไป เพราะผู้ที่จะโหลดแอปของเรามักจะเป็นบุคคลทั่วไป ที่อาจจะยังไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีมาก่อนหรือรู้จักแอปของเรามาก่อน ดังนั้นเราจึงต้องหลีกเลี่ยงข้อมูลที่เข้าใจได้ยากในการนำเสนอตรงส่วนนี้

4. เขียนให้เข้าใจง่ายและกระชับ

วิธีการเขียนที่ดีคือการเขียนให้สั้น เข้าใจง่าย มีการไฮไลท์คำที่ต้องการนำเสนอในข้อมูลของเรา ไม่ให้ข้อมูลของเรายาวจนเกินไป จนไม่มีใครอยากอ่าน

release notes amazon highlight text
Update from Amazon highlight text

ตัวอย่างภาพด้านบนเป็นการเขียนจาก Amazon ที่มีการทำตัวหนาในการเน้นคำที่อยากนำเสนอ ทำให้คนสแกนสายตาอ่านข้อมูลที่ต้องการได้ไวมากยิ่งขึ้น

5. แสดงความเป็นตัวตนขององค์กรของคุณผ่านทางข้อความ

ช่องทางการเขียนอัพเดทของเรานั้นเป็นช่องทางที่ทรงพลังที่สุดในการบอกเล่าเรื่องราวของบริษัท และบอกว่าบริษัทของเรามีการอัพเดท ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเราอยุ่เป็นประจำ ทำให้ลูกค้าได้เห็นความสม่ำเสมอ สร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจของเราได้ ว่าเรายังไม่หนีหายไปไหนนะ และยังดูแลคุณอยู่เป็นประจำ

แต่เราจะต้องระมัดระวังในการเขียนไม่ให้ดูเป็นการ Hard sell มากจนเกินไป จนทำให้ลูกค้าของเราอ่านแล้วดูเป็นโฆษณา

เดี๋ยวเราลองมาดูตัวอย่างจากภาพประกอบด้านล่างนี้เพื่อเป็นไอเดียในการเขียนของเรากันเลยครับ


ตัวอย่าง Release Notes แบบเท่ห์ๆ

หลังจากเราอ่านวิธีการเขียนไปแล้ว เราลองมาดูตัวอย่างหลายๆ แบบกันครับ ว่ามีแบบไหนที่น่าสนใจกันบ้าง

slack release note
ภาพ 1 – slack release note

ภาพ 1 – ตัวอย่างการเขียนจาก Slack มีการแบ่งหมวดหมู่เวอร์ชั่นออกเป็น What's New, Bug fixes และใช้คำขึ้นต้นในการเขียนด้วยคำว่า We ซึ่งเป็นภาษาที่นำเสนอได้อย่างน่ารัก และแสดงถึงตัวตนที่เข้าถึงง่ายของแบรนด์ได้อย่างชัดเจน

snapchat release note
ภาพ 2 – Snapchat release note

ภาพ 2 – การเขียนของ Snapchat ได้แบ่งหมวดหมู่ออกเป็น New, Improvements และ Fixed ที่อ่านได้เรียบง่ายด้วย bullet points

hubspot what's new
ภาพ 3 – Hubspot what's new

ภาพนี้จะเป็นการเขียนอัพเดท What's new จาก Hubspot ที่เป็นภาพวิดีโอพร้อมอัพเดทเนื้อหาอย่างละเอียด น่าสนใจมากๆ


จบกันไปแล้วนะครับ สำหรับบทความแนะนำวิธีการเขียนอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ๆ แบบบนเว็บไซต์หรือจะบนแอปเองก็ตาม เพื่อนๆ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามแบรนด์ที่เราแนะนำเลยนะครับ แล้วมาติดตามกันใหม่ในบทความหน้าคร้าบ

Peridot

Peridot

รวมบทความรีวิวและความคิดเห็นของทีมงาน Designil แบ่งปันเนื้อหาที่เข้าใจง่ายเป็นประจำทุกสัปดาห์
บทความทั้งหมด