9 อาชีพสาย Tech ที่ไม่ต้องเขียนโค้ดเป็น [ตอน 2]

Radar

กลับมาพบกันอีกแล้วนะครับ วันนี้ก็เหมือนเดิมเช่นเคยครับ แอดมีเนื้อหาดีๆ มาแนะนำได้ทราบกันอีกแล้ว หลายๆ คนคงเคยสงสัยนะครับว่า ตัวเราเองเนี่ยอยากที่จะทำงานอาชีพสาย Tech แต่เราดันเขียนโค้ดหรือภาษาซีไม่เป็นเลย ไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย ก็เลยเกิดคำถามที่ว่า เราจะสามารถทำงานในสายเทคโนโลยีได้รึเปล่า? วันนี้แอดมีคำตอบครับ

โดยในซีรีส์นี้จะเป็นภาคต่อจากบทความของเราก่อนหน้านะครับ
50+ อาชีพตำแหน่งงาน IT & Tech ที่ไม่ต้องเขียนโค้ด [ตอน 1]

บอกเลยนะครับว่าอาชีพในสายเทคโนโลยีเนี่ยถ้าเพื่อนๆ ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโค้ดหรือภาษาซีเลย เราสามารถใช้ความรู้ทางด้านอื่นที่เรามีเข้ามาทำในอาชีพสายเทคโนโลยได้นะครับ และมีอยู่หลายอาชีพมากเลยทีเดียว

แต่วันนี้แอดจะขอยกมา 10 อาชีพ สำหรับอาชีพสาย Tech ที่ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเป็นก็สามารถเข้าทำงานได้เหมือนกันครับ จะมีอาชีพอะไรบ้างไปดูกันเลยครับ

1. Business Analyst

tech analyst
ตำแหน่ง Business Analyst

Business Analyst หรือที่คนส่วนใหญ่จะเรียกกันว่า BA

หน้าที่หลักๆ ของ BA ในฝั่ง IT คือการที่เรานำข้อมูลและปัญหาของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์ผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุง และส่งข้อมูลเหล่านั้นให้แก่นักพัฒนาต่อไป ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องของการเขียนโค้ดก็ได้

แต่สิ่งที่เราต้องมีแน่ๆ ก็คือความสามารถในการรับรู้ถึงปัญหาของผู้ใช้งานและข้อมูลที่สำคัญต่างๆ ของนักพัฒนา ซึ่งบางครั้งเราจำเป็นต้องมีความรู้ในทั้งสองฝั่งที่มากกว่า เพื่อที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ง่าย รวมทั้งเราอาจจะต้องออกไปประสานงานทั้งในและนอกองค์กรของเรา

ซึ่งสามารถเปรียบงานในตำแหน่งนี้เป็นเหมือนล่ามที่คอยเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้งานกับนักพัฒนา เพราะฉะนั้นถ้าขึ้นชื่อว่าล่าม สกิลที่ควรจะมีเลยนั่นก็คือภาษาและเทคนิคในการสื่อสารนั่นเอง

และอีกหนึ่งสกิลที่ควรมี นั่นก็คือการมองการตลาดและธุรกิจให้เฉียบขาด ดังนั้นใครที่ชอบแนวๆ ของเศรษฐศาสตร์ ขอแนะนำงานในตำแหน่งนี้เลยครับ เพราะนอกจากจะได้ใช้ความรู้ที่มีแล้วยังเปิดโอกาสให้ตัวเองได้สัมผัสกับความรู้ทางเทคโนโลยีอีกด้วย

2. Project Manager

อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง Project manager
อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง Project manager

ต่อมาจะเป็น Project Manager หรือ ผู้จัดการโครงการครับ ซึ่งในฝั่งของ IT จะมีหน้าที่ในการบริหารโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดเอาไว้ โดยผู้ที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ แอดแนะนำว่าจะต้องมีความรู้ในส่วนของด้านบริหารที่มากพอสมควร เพราะว่านอกจากจะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนจบให้สำเร็จตามกำหนดเวลาแล้ว ยังจำเป็นต้องบริหารในส่วนของบุคลากร ทรัพยากร รวมไปถึงงบประมาณต่างๆ ควบคู่กันไปอีกด้วย เรียกว่าสกิลของการบริหารต้องครบเครื่อง

ส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งนี้จะไม่ได้ทำงานเพียงแค่คนเดียวนะครับ เพราะโครงการหนึ่งอย่างน้อยจะต้องมีขนาดใหญ่ในระดับนึง ซึ่งต้องอาศัยการทำงานเป็นทีมเพื่อให้โครงการนั้นขับเคลื่อนไปได้ แต่ในทีมๆ หนึ่งแล้วจำเป็นต้องมี Manager คนนึงที่จะต้องคอยควบคุมภาพรวม คอยแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้งานขับเคลื่อนไปได้

ดังนั้น Manager จึงสำคัญ ควรจะคัดคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน จะเห็นว่า Manager ไม่จำเป็นที่จะต้องเขียนโค้ดเป็นเลย ขอแค่มีทักษะในการบริหารที่มากเพียงพอ ก็สามารถทำงานได้แล้ว เพราะขึ้นชื่อว่าทำงานเป็นทีมยังไงเราก็จะต้องมีฝ่ายนักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือฝ่ายช่างเทคนิคกันอยู่แล้ว และก็จะมีอีกหลายฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน

3. Scrum Master

ตำแหน่งนี้จะเป็นคนที่คอยซัปพอร์ตคนในทีม นึกถึงในตอนที่มีโครงการหนึ่งที่เราจะต้องทำงาน คนแรกที่จะต้องมีเลยนั่นคือ Project Manager ไม่เพียงแค่ทำให้ทีมทำโครงการแต่ละโครงการให้เสร็จทันเวลาเพียงเท่านั้น แต่การทำงานและการพัฒนาของคนในทีมว่าจะต้องทำงานร่วมกันในรูปแบบไหนจะต้องอาศัย Scrum Master เข้ามาซัปพอร์ตด้วย

เพราะในช่วงแรกแต่ละคนที่เข้ามาร่วมทีมก็อาจจะยังไม่รู้ว่างานนี้จะต้องทำงานในลักษณะไหน จะต้องทำออกมาในรูปแบบใดเพื่อที่จะให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน

กล่าวง่ายๆ หน้าที่หลัก ของ Scrum Master คือ การดูแล ซัปพอร์ต และพัฒนาบุคลากรในทีม เช่น การ Coaching หรือ Trainning อีกทั้งยังคอยอำนวยความสะดวกในการทำงานในเรื่องต่างๆ คอยขจัด block สิ่งกีดขวางต่างๆ ที่ยังคงคอยเป็นปัญหาต่อการพัฒนาของคนในทีม

ซึ่งจะเห็นว่าตำแหน่งนี้จะเน้นในเรื่องของบุคลากรในทีมเป็นหลัก เมื่อทีมมีความรู้หรือมีประสบการณ์ที่มากพอแล้ว หน้าที่สำคัญต่อไปของ Scrum Master นั่นก็คือ การเก็บรายละเอียดปัญหาเล็กๆ ต่างๆ ที่คนในทีมได้ทำผิดพลาดไปนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้กับพวกเขาเหล่านั้น อาจจะมองว่า Scrum Master เป็นนัก Supporter ที่ดีมากในตำแหน่งนึงเลย

4. UX/UI design

อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง UX UI Design
อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง UX UI Design

ในปัจจุบันอาชีพนี้หลายบริษัทกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากสังคมออนไลน์กำลังเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแต่ละองค์กรจึงต้องมีการปรับตัวต่อแพลตฟอร์มของตนอยู่เสมอ อาชีพนี้เรียกว่าต้องมีในทุกบริษัทกันเลยทีเดียว

UX หรือ User Experience จะมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลการใช้งานโปรแกรมหรือซอฟแวร์ที่ได้ให้บริการแก่ผู้ใช้งานที่ผ่านมา หรือจะเรียกว่าเป็นการเก็บข้อมูลประสบการณ์ในการใช้งานที่ผ่านมาของลูกค้าก็ได้ครับ เพื่อนำมาวิเคราะห์ และพัฒนาให้ตอบโจทย์ความพึงพอใจของผู้ใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทางผู้ใช้งานจะสามารถรับรู้ได้จากความรู้สึกหลังจากการใช้งาน

ยกตัวอย่างเช่น Tiktok มีการเก็บข้อมูลระยะเวลาในการรับชมของผู้ใช้งาน ซึ่งเมื่อระยะเวลารับชมมาก แสดงว่าผู้ใช้งานมีความสนใจในคอนเทนต์นั้น ทางระบบก็จะคัดสรรคอนเทนต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นและอยากใช้เวลาอยู่กับแอปพลิเคชันให้นานขึ้นนั่นเอง นี่เป็นเทคนิคหนึ่งที่ tiktok มีครับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ UX design ที่จะออกแบบหรือคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ที่จะทำให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกพึงพอใจและอยากจะกลับมาใช้งานแอปพลิเคชันหรือซอฟต์แวร์ตัวนี้อีกได้อย่างไร เป็นโจทย์ที่ท้าทายแบบหนึ่งของ UX design กันเลยทีเดียว

UI หรือ User Interface คือส่วนที่เป็นหน้าเป็นตาของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งจะมีหน้าที่ตั้งแต่การออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฟอนต์ รูปภาพ วิดีโอ ฟีเจอร์ต่างๆ บนเว็บไซต์ให้ดูสบายตาเป็นที่น่าดึงดูดต่อผู้ใช้งานได้ และยังมีหน้าที่ออกแบบไปจนถึงสินค้าและบริการของบริษัทในเรื่องของ packaging ดีไซน์การใช้งานของผลิตภัณฑ์ให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้ง่ายที่สุด ซึ่งในส่วนของตำแหน่งนี้จะรับหน้าที่ต่อจาก UX มาอีกทีหนึ่งนั่นก็คือการออกแบบให้ตรงตามความต้องการหรือประสบการณ์การของผู้ใช้งาน

UI designer คืออะไร? ต่างจาก UX designer อย่างไร มาดูกัน

โดยทักษะที่สำคัญที่ควรจะมีนั่นก็คือ ความสามารถในการออกแบบหรือดีไซน์สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใครได้หลากหลายแพลตฟอร์ม มีความสามารถที่จะใช้งานโปรแกรมออกแบบต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว และที่สำคัญควรที่จะสามารถออกแบบสิ่งต่างๆ ที่ออกมาให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ใช้งานง่ายและคนอื่นสามารถเข้าใจและรับรู้ในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อออกไปด้วยครับ ยกตัวอย่างเช่น instagram แอปพลิเคชันที่เป็นยอดนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ที่จะคอยออกฟีเจอร์การใช้งานใหม่ที่สวยงาม ตามเทรนด์อยู่ตลอดเวลา สบายตา และผู้ใช้งานสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดายไม่สับสน

นี่จึงเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับ UI ที่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ออกแบบมาสามารถเป็นที่ประทับใจให้กับผู้ใช้งานที่หลากหลายประเภท หลากหลายความชอบ ให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับความพึงพอใจและอยากที่จะกลับมาใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของเราต่อไป

5. Tech Sales

Tech Sales ก็คือพนักงานขายหรือตัวแทนของบริษัทที่มีหน้าที่ขายของให้กับลูกค้านั่นเอง แต่เดี๋ยวก่อน ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ว่าจะขายของอย่างเดียว พนักงานในตำแหน่งนี้จำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะสามารถให้ความรู้แก่ลูกค้า ให้คำแนะนำได้ทั้งข้อดี – ข้อเสียของสินค้า และสามารถตัดสินใจเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกค้าได้

ดังนั้นทักษะที่สำคัญที่สุดของอาชีพนี้นั่นก็คือ การสื่อสาร เพราะจะต้องใช้ศิลปะในการโน้มน้าวใจลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าหันมาสนใจในสินค้าและบริการของเรานั่นเอง ยิ่งใครที่สามารถสื่อสารได้หลากหลายภาษาก็จะสามารถทำให้ตัวเองเป็นที่น่าสนใจและสามารถเติบโตในสายงานนี้ไปได้อีกไกล

เพราะฉะนั้นแอดบอกเลยว่าคนที่กำลังสื่อสารได้เพียงแค่ภาษาเดียวอยู่ ต้องรีบพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้แล้ว เพราะยังมีอีกหลายอาชีพเลยที่ต้องการคนที่สามารถสื่อสารได้หลากหลายภาษา อย่าปิดกั้นโอกาสตัวเองกันนะครับ

6. Tech Writer

สำหรับเพื่อนๆ คนไหนที่สนใจในงานด้านการเขียนเหมือนกับแอด แอดขอแนะนำกับเจ้าอาชีพตัวนี้เลยครับ ซึ่งหน้าที่หลักๆ นั่นก็คือ การเขียนนั่นเองครับ โดยเราจะนำข้อมูลของโปรแกรมและซอฟต์แวร์ต่างๆ มาเขียนในรูปแบบของบทความ คู่มือการใช้งาน หรือรายงานทางวิชาการต่างๆ โดยเราจะแปลงข้อมูลหรือศัพท์ทางเทคนิคต่างๆ ของพวกโปรแกรมซอฟต์แวร์ยากๆ ให้กลายมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไป

เพื่อที่ผู้อ่านจะสามารถรู้ได้ว่าเจ้าโปรแกรมตัวนี้ทำงานอย่างไร มีความสามารถและประสิทธิภาพอย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เขียนจะต้องศึกษาข้อมูลก่อน เพื่อนำมาเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เพราะว่าถ้าเราไม่รู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปแล้ว ผู้อ่านก็จะไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อออกไปได้

7. Tech Support

อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง Tech Support
อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง Tech Support

Tech support หรืองานบริการทางด้านเทคนิค มีหน้าที่ในการดูแลผู้ใช้งานหรือลูกค้าของเราที่กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ทางบริษัทของเราเป็นผู้ให้บริการ โดยปัญหาที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของฝ่าย Tech Support ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญหาที่พบมากโดยทั่วไป เช่น อาการเสียหายจากอุบัติเหตุต่างๆ หรือความขัดข้องของระบบที่ส่งมาจากต้นทาง ซึ่งเปรียบเสมือนการบริการหลังการขายนั่นเองครับ

ซึ่งในปัจจุบันในซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ผู้ผลิตจะมีระบบหรือส่วนขยายแนบมาด้วย เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถติดต่อกับฝ่ายเทคนิคผ่านทางโทรศัพท์ อีเมล หรือช่องทางอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีปัญหา ดังนั้นอาชีพนี้จึงต้องมีการศึกษาถึงตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัทตัวเองเป็นอย่างดีมาก่อน เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหรือแนะนำวิธีการใช้งานให้กับผู้ใช้งานได้อย่างทันท่วงที

อาจจะต้องมีสกิลและความรู้ในเรื่องของช่างซ่อมในระดับนึง เพราะนอกจากจะมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแล้ว เรายังจำเป็นที่จะต้องสามารถซ่อมแซมผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่ชำรุดของผู้ใช้งานได้นั่นเองครับ

8. Product Manager

อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง Product manager
อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง Product manager

ลองดูแบบเผินๆ งานอาจจะคล้ายๆ กับ Project Manager เลยนะครับ แต่ที่ต่างกันนั่นก็เพราะว่าอาชีพนี้จะดูแลจัดการที่เน้นไปในส่วนของตัวผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งในฝั่งของ IT นั่นก็คือจะดูแลในเรื่องของตัวแอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์ที่นักพัฒนาผลิตออกมานั่นเอง

โดยหน้าที่หลักๆ จะเป็นการดู feedback ของการใช้งานของผู้ใช้งาน ว่ามีความพึงพอใจในระดับใด ตรวจพบปัญหาอะไรบ้างในระหว่างการใช้งาน และนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นกลับมาพูดคุยกับนักพัฒนาถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ดีมากขึ้น

ซึ่งสกิลที่จำเป็นสำหรับสายงานนี้นั่นก็คือ ทักษะในการวางแผนกลยุทธ์ โดยจะเป็นการวางแผนการให้บริการต่างๆ ว่าบริการของผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ในรูปแบบไหนที่จะถูกใจต่อผู้ใช้งานมากที่สุด และเทรนด์ในปัจจุบันผู้ใช้งานกำลังต้องการฟีเจอร์ที่นิยมในลักษณะไหน เพราะว่าถ้าผู้ใช้งานถูกใจต่อการใช้งานผลิตภัณฑ์ของเราในทุกยุคทุกสมัย

พวกเขาก็จะใช้เวลาอยู่กับการบริการของเราเป็นเวลานานและสามารถบอกต่อบริการเหล่านั้นให้กับบุคคลใกล้ชิดต่อไปได้ และสกิลที่สำคัญอีกอย่างนึงนั่นก็คือ การสื่อสารระหว่างบุคคลครับ โดย Product Manager ส่วนใหญ่แล้วเราจะทำหน้าที่เป็นคนคอยประสานงานระหว่างผู้ใช้งานกับ Developer ครับ ดังนั้นการสื่อสารให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน เข้าใจว่าแต่ละฝ่ายนั้นต้องการอะไร คือสิ่งสำคัญที่ Product Manager ต้องสื่อสารออกไปให้แต่ละฝ่ายเข้าใจ

9. Tech Recruiter

มาถึงอาชีพสุดท้ายกันแล้วนะครับ โดย Recruiter จะเปรียบเป็นเสมือนกับนายหน้าของบริษัทต่างๆ ในการเฟ้นหาบุคลากรที่บริษัทนั้นๆ ต้องการ เพราะว่าสิ่งสำคัญในการทำให้บริษัทดำเนินต่อไปได้นั่นคือ บุคลากรที่มีคุณภาพนั่นเองครับ ดังนั้นจึงทำให้เกิดอาชีพนี้ขึ้นมา เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า “แมวมอง” ในแวดวงของวงการบันเทิงมาบ้าง ซึ่งอาชีพนี้จะมีลักษณะแบบเดียวกันเลย

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไปหาใครก็ได้มาทำงานให้กับบริษัท ต้องดูด้วยว่าเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดนั้นมีอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น เพศ อายุ บุคลิก น้ำเสียง ความสามารถ หรืออื่นๆ ซึ่งถ้าบริษัทนั้นต้องการบุคลากรในตำแหน่งที่สูงๆ เช่น ผู้จัดการ ไปจนถึงผู้บริหาร Recruiter ต้องทำการบ้านอย่างหนักแน่นอน

หน้าที่หลักๆ ของอาชีพนี้จะเป็นการวางแผนจัดการในการสรรหาบุคลากรตามช่องทางต่างๆ ไปจนถึงการนัดหมายเพื่อการสัมภาษณ์ให้กับบริษัท คอยจัดการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆ ของตัวบุคลากรเองไปจนถึงการให้คำแนะนำให้กับบุคลากร ก่อนที่บุคคลนั้นจะไป onsite ที่บริษัทสู่กระบวนการต่อไป

โดยสกิลหลักๆ ที่ Recruiter ควรมีนั่นก็คือ การทำการบ้านต่อเป้าหมายนั่นเอง ถ้าเราเป็น Recruiter แต่ไม่ทำการบ้านมาก่อนเลย จะถูกมองว่าไม่มีประสบการณ์หรือไม่เป็นมืออาชีพได้ นอกจากนั้นจะทำให้เราเสียเวลาอีกด้วย การบ้านในที่นี้นั่นก็คือ การสอบถามเกี่ยวกับเป้าหมายที่บริษัทต้องการให้ชัดเจน ไล่ตั้งแต่ หน้าตา เพศ อายุ บุคลิก ประสบการณ์ วุฒิการศึกษา เอาให้ละเอียด จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาพูดคุยกันใหม่อีก

อาชีพสาย tech - Recruiter
อาชีพสาย Tech ตำแหน่ง Recruiter

นอกจากนั้นการทำการบ้านต่อตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเรารู้เป้าหมายที่บริษัทต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการเริ่มติดต่อสื่อสารกับพวกเขา สิ่งที่ต้องทำการบ้านนั่นก็คือการเตรียมสคริปต์สำหรับการสนทนาครับ ปัจจุบันการติดต่อสื่อสารระหว่างกันจะเป็นการโทรคุย การแชต หรือการส่งอีเมลแล้ว

ดังนั้นถือว่าเป็นการเตรียมตัวที่ไม่ยาก แต่ก็จำเป็นต้องมี เราต้องทำให้ตัวเองดูมีความน่าเชื่อถือไว้ก่อน แสดงให้เป้าหมายของเราเห็นว่าองค์กรที่เราได้รับว่าจ้างมามีประสิทธิภาพและเอื้อประโยชน์ให้กับบุคลากรดีมากแค่ไหน ดังนั้นสกิลในการสื่อสารให้ผู้อื่นคล้อยตามจึงเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างนึงที่ Recruiter ควรจะมี


เป็นยังไงกันบ้างครับ สำหรับอาชีพที่แอดยกมาให้เพื่อนๆ ดูในวันนี้ แอดเชื่อว่าสามารถเปิดโลกใหม่ๆ ให้กับเพื่อนๆ หลายคนที่อาจจะยังไม่เคยได้รู้จักกับบางอาชีพใน 9 อาชีพนี้ จะเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการเขียนโค้ดเลย เราก็สามารถทำงานที่เกี่ยวกับสายเทคโนโลยีได้ แต่สกิลหลักๆ ที่จำเป็นจะต้องมีเลยนั่นก็คือการวางแผนและการสื่อสาร

เช่นเคยครับ ในครั้งหน้าถ้าเพื่อนๆ ไม่อยากพลาดเรื่องราวดีๆ ก็สามารถปักหมุดเว็บไซต์ Designil ไว้บนหน้าแรกของเว็บไซต์ได้เลยนะครับ รับรองว่าจะมีแต่เรื่องราวดีๆ มามอบให้กับเพื่อนๆ ได้อ่านกันอย่างจุใจและได้ความรู้แน่นอน ครั้งหน้าแอดจะมาเล่าอะไรให้ฟังอีก รอติดตามกันได้เลยนะครับ

อ่านบทความซีรีส์นี้
50+ อาชีพตำแหน่งงาน IT & Tech ที่ไม่ต้องเขียนโค้ด [ตอน 1]

บทความที่เกี่ยวข้อง

Designil ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างคอนเทนต์ดีๆ มีสาระประโยชน์ให้กับผู้อ่าน สิ่งที่ทีมงานแนะนำทั้งหมดมาจากการค้นคว้าและทดลองใช้งานจริงหลายสัปดาห์ หากคุณชอบเนื้อหาแบบนี้และอยากสนับสนุนให้ทีมงานให้มีแรงสร้างคอนเทนต์ดีๆ ในอนาคต สามารถซื้อสินค้าหรือบริการผ่านลิงก์บนบทความของเราได้นะครับ บางลิงก์ทางทีมงานจะได้รับส่วนแบ่งเล็กน้อยโดยจะไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับทางผู้อ่าน ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ การทำงานของเรา