ทำไมสมัครงาน UX UI ยากจัง? รวม 10 ขั้นตอนสมัครงานให้ได้งาน

Natk

สมัครงาน UX UI เป็นเรื่องอะไรที่ค่อนข้างยากมาก ๆ สำหรับเพื่อน ๆ ที่เรียนจบใหม่ หรือกำลังจะย้ายสายงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Designer ที่ทำงานที่ต่างประเทศ หากยังไม่มีประสบการณ์ในประเทศนั้น ๆ การหางานก็จะยากขึ้นหลายเท่าตัว

วันนี้แอดนัทได้เข้าไปอ่าน Design group ในออสเตรเลีย มีดีไซน์เนอร์มือใหม่มาตั้งถามคำถามว่า

1. จบสายกราฟิกมา ทำยังไงถึงจะหางาน UX UI ได้ ?

2. ทำไมมีพอร์ตฟอลิโอแล้วยังสัมภาษณ์งานไม่ได้ สมัครงานไม่ผ่านสักที ?

3. ทำไมถึงไม่มีคนรับเราเข้าทำงานสักที ?

4. เรียนจบมาก็ได้ทำแต่โปรเจคจำลอง ไม่เคยทำโปรเจคจริง
พอไปสมัครงานบริษัทก็บอกอยากจะดูโปรเจคของจริง แล้วยังงี้จะหางานทำได้ที่ไหน พอไปสมัครตำแหน่ง Junior ก็ชอบบอกว่าขอคนมีประสบการณ์​ 2 -3 ปี ตอนนี้หางานมาสองเดือนแล้ว ยังไม่ได้เลย

คำถามเหล่านี้มีคำตอบจากดีไซน์เนอร์หลาย ๆ ท่านในออสเตรเลียมาแนะนำเพียบ มาดูเทคนิคในการสมัครงาน UX UI กันเลยค่ะ

เทคนิคการสมัครงาน ux ui
เทคนิคการสมัครงาน ux ui
📖 บทความนี้มีอะไรบ้าง แสดง

เคล็ดลับวิธีสมัครงาน UX UI ให้ได้งาน

1. หาคอนเนคชั่น

หาคอนเนคชั่นเพิ่ม ทั้งฝั่งของอาชีพ Designer รวมไปถึงอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเรา เพื่อจะได้รู้จักคนในวงการมากขึ้น เมื่อเรารู้จักคนมากขึ้น โอกาสที่จะได้แนะนำงานกันนั้นก็มีสูงขึ้น

โดยเทคนิคการหาคอนเนคชั่นที่ดีนั้น เราก็แนะนำว่าอยากให้เพื่อน ๆ ลองไปงาน Local meetup, Local community งานที่จัดเป็นประจำในประเทศที่เราจะสมัครงาน เพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมอาชีพมากยิ่งขึ้น จะได้ทำความเข้าใจลักษณะการทำงาน สังคมของประเทศนั้น ๆ

ในต่างประเทศเองจะมีระบบการแนะนำงานที่เรียกว่า Employee Referral Program

Referral คืออะไร ?

คือการแนะนำคนเข้าทำงานบริษัทนั้น ๆ ทำให้ HR ลดระยะเวลาในการกรอง Resume ทำให้เราเข้าไปรอบสัมภาษณ์ Interview ได้เร็วยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการแข่งขันกับผู้แข่งขันอื่น ต้องอย่าลืมว่าเวลาเราสมัครงานที่ต่างประเทศ เราจะต้องแข่งขันกับคนทั้งโลก ตำแหน่งงานหนึ่งอาจจะมีคนยื่นสมัคร 300 คนพร้อมกัน ดังนั้นการได้ Referral อาจจะทำให้เราแซงหน้า 300 คนที่สมัครมาพร้อมกับเราเลยค่ะ

แต่การจะได้ Referral มาได้นั้นก็ไม่ได้ง่าย เราจะต้องมี Connection มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ Refer ก่อน แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่ม connection ในวงการที่เราจะทำงานได้ คำแนะนำจาก Designer ที่ออสเตรเลียมีดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ลองไปทำงานแข่ง Hackathon ทำโปรเจคภายใน 24 ชม., 48 ชม.
  • ไปเข้าร่วมกิจกรรม Meetup, เข้าร่วมงานอีเวนต์ ที่มีช่วงในการพูดคุยกับพูดอื่น เพื่อทำความรู้จักกับคนอื่นให้มากยิ่งขึ้น
  • หาคนรู้จักในประเทศที่เราจะสมัครงานที่เป็นคนไทยเหมือนกัน ลองติดต่อเพื่อสร้าง connection

โดยเว็บไซต์ยอดนิยมในการหาคอนเนคชั่นและทำกิจกรรมคือ

event club community building
Event & Club

2. หา Mentor ในประเทศที่เราจะสมัครงาน

การมี Mentor มีประโยชน์มาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรากำลังจะสมัครเข้าทำงานในบริษัทขนาดใหญ่แล้วเรายังไม่รู้ขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน, การเตรียม Portfolio, หรือการตอบคำถาม การมี Mentor ที่เคยทำงานในบริษัทที่เราจะไปสมัครงานจะช่วยทำให้เราได้เตรียมตัวผ่านด่านของการสัมภาษณ์และได้งานง่ายขึ้น เรียกได้ว่าการ Mentor หรือ Coaching นั้นมีหลากหลายด้านให้เราได้ใช้พัฒนาทักษะในการทำงานเลยค่ะ

เราขอแนะนำบทความนี้สำหรับเพื่อน ๆ ที่สนใจการหา Coaching ในสายงาน UX UI


3. ลองเริ่มทำงานกับบริษัท Startup & internship ก่อน

ถ้ายังหางานไม่ได้ ก็ต้องเริ่มสมัครงานที่เป็นบริษัท​ startup หรือทำงานแบบ internship ก่อน เพื่อให้มีประสบการณ์จริง โดยปัจจุบันการทำงานสาย UX จากที่เราลองจัดกลุ่มมาจะมีบริษัทของผู้ว่าจ้างอยู่หลัก ๆ ประมาณ 4 ประเภทด้วยกันคือ

*หมายเหตุ ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่เรารวบรวมมาจากการพูดคุยกับดีไซน์เนอร์หลาย ๆ ท่าน ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัทจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด

3.1 Consultancy – งานที่เราจะได้ไปนั่งทำงานกับบริษัทของลูกค้า

โดยลักษณะการทำงานของบริษัท consult จะเป็นงานที่จะส่งเราไปนั่งประกบลูกค้าตามช่วงระยะเวลาโปรเจค ทำให้เราจะได้ connection กับลูกค้าเยอะมาก ๆ เหมาะสำหรับคนที่มี skill ที่หลากหลาย เป็นคนขยันหาความรู้ เพราะถ้าเป็นคนที่ไม่ตามเทคโนโลยี จะไม่เหมาะกับงานแบบนี้เลย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ชอบทำงานฟรีแลนซ์ หรืออยากออกมาทำธุรกิจตัวเองในอนาคต การเริ่มที่บริษัท consult จะช่วยให้เราเก็บ connection ได้เยอะมาก ๆ

ข้อเสียคือมีเวลาของโปรเจคที่จำกัด ทำให้คนที่ทำงาน consult จะต้องเป็นคนรักษาเวลา และ proactive มาก ๆ ในการกำหนด deadline และปิดโปรเจคให้ทันเวลาที่กำหนด บางครั้งอาจจะทำให้เกิดการ Burnout หรือเครียดสะสมได้ อีกข้อคืออาจจะไม่มีระยะเวลาในการทำ Research ที่เพียงพอ UX หลาย ๆ ท่านที่ชอบทำงานแบบ Research จริงจังอาจจะชอบสไตล์ Corporate มากกว่า

ยกตัวอย่างบริษัทชื่อดัง เช่น McKinsey, Deloitte, EY, KPMG, PwC, Accenture, Thoughtworks

3.2 Corporate – บริษัทที่มี Product เป็นของตัวเอง

UX Designer หลาย ๆ ท่านจะชื่นชอบการทำงานบริษัทที่มี Product เป็นของตนเองเพราะว่า จะได้ทำงานที่ละเอียด บางโปรเจคมีระยะเวลาให้เราลองไปทำ Research ได้อย่างเต็มที่ ไม่รีบเร่งจนเกินไป ทำให้เราได้ข้อมูล insight จาก User ที่ละเอียด

ข้อเสียคือ ด้วยความที่เป็นบริษัทใหญ่ อาจจะทำให้เราไม่ได้ทำงานหลากหลาย เพราะบางตำแหน่งอาจจะมีคนทำให้ทั้งหมด ทำให้เราจะได้สกิลลึกมากกว่าสกิลที่ออกไปด้านกว้าง

ยกตัวอย่างบริษัทชื่อดังที่มี product ของตนเอง Apple, Google, Facebook และอื่น ๆ อีกเพียบ

office ux ui
office ux ui

3.3 Agency – บริษัทที่จะรับงานลูกค้ามาทำเป็นโปรเจค ๆ

บริษัทประเภท Agency จะเป็นบริษัทที่มี Business model คือการรับงานลูกค้ามาเป็นโปรเจค ทำให้ Designer ที่ทำงานในบริษัทลักษณะนี้จะมีความเชี่ยวชาญทางด้านการทำงานที่หลากหลาย ทั้ง Design, Dev รวมไปถึงหลากหลาย Platform จะเหมาะสำหรับคนที่ชอบออกแบบ ชอบทำงานหลาย ๆ แบบ มีโปรเจคสนุก ๆ ให้ทำตลอดทั้งปี ตำแหน่งยอดนิยมในบริษัทเหล่านี้คือชื่อ Product designer นั่นเอง

ข้อเสีย เป็นบริษัทที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะมีการทำสัญญากับลูกค้าไว้ ดังนั้นหากงานล่าช้าจะทำให้การทำงานมีความเครียดและจะมีการทำงานล่วงเวลาอยู่บ่อย ๆ Work life balance อาจจะไม่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทประเภท corporate

3.4 Startup – บริษัทที่เพิ่งเริ่มก่อตั้ง

บริษัท Startup เป็นบริษัทที่จะทำให้ดีไซน์เนอร์มือใหม่ได้ลองทำงานเยอะมาก เรียกได้ว่าได้เรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้นจากบริษัทเล็ก ๆ ไปด้วยกันกับ startup เลย แต่ทักษะที่ดีไซน์เนอร์มือใหม่จะต้องมีคือการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน เพราะคุณอาจจะได้ทำตั้งแต่ UX, UI, Writing, Graphic design รวมไปถึงงานประเภทอื่น ๆ ทำให้ดีไซน์เนอร์มือใหม่จะได้เรียนรู้ธุรกิจเยอะมาก รู้วิธีการเริ่มบริษัทด้วยตนเองและอื่น ๆ อีกเพียบ

ข้อเสีย เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา มีการ pivot product เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ทำให้บางครั้งเราอาจจะไม่ได้ลงไปการทำ Research แบบละเอียด ทำให้ต้องข้ามหลาย ๆ ขั้นตอนเพื่อให้ทำงานแข่งกับเวลาได้ทัน

หลังจากเราลองรวบรวมบริษัทมาให้เพื่อน ๆ รู้จักแล้ว เราก็อยากแนะนำเว็บไซต์สำหรับไปลองฝึกงาน Internship หาได้ง่าย ๆ ผ่านทาง LinkedIn ตามวิธีด้านล่างนี้เลย

ในประเทศไทยเองยังมีเว็บไซต์สำหรับรับสมัครงานอีกเพียบอาทิเช่น Jobsdb ลองค้นหา Internship เป็นต้น

สมัครงาน ux ui internship
ux internship

4. สะสมงานฟรีแลนซ์

งานฟรีแลนซ์นี่แหละจะช่วยทำให้ Portfolio ของเรานั้นมีงานแบบโปรเจคจริง ๆ ไม่ใช่โปรเจคจำลอง แต่การจะได้งานฟรีแลนซ์มาได้นั้น เราจะต้องมี connection ของพี่ ๆ ในวงการด้วย ซึ่งการจะได้คอนเนคชั่นมาก็อย่าลืมออกไปเจอคนเยอะ ๆ นะคะ

5. ทำวิดีโอแนะนำตัวเอง เล่า Case studies

ถ้ายังหางานไม่ได้อีกก็เปิดช่อง Youtube เล่า Case studies ที่เราทำงานทั้งหมดเก็บไว้อ่านเองเลย การทำวิดีโอจะช่วยให้เราได้แสดงสกิล Presentation ให้ตรงกับงานที่เราจะสมัครอีกด้วย

ปัจจุบัน Designer บางคนจะทำวิดีโอแนะนำตัวเองและพูดถึงบริษัทที่ไปสมัครงานด้วยในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วส่งไปพร้อมกับ Resume เพื่อให้เป็นที่น่าสนใจกับผู้ว่าจ้าง ช่วยแสดงออกตัวตนและทักษะการสื่อสารของเรา

linkedin เว็บไซต์ที่คนทำงานบริษัทต้องมีบัญชี
linkedin เว็บไซต์ที่คนทำงานบริษัทต้องมีบัญชี

6. ดูว่าอยากทำงานที่ไหน ติดต่อหาตำแหน่ง UX หรือคนในทีมไปทาง LinkedIn เลย

ถ้าเราลองมานั่งดูบริษัทที่เราอยากทำแล้ว เราลองติดต่อหาคนที่ทำงานในบริษัทนั้น ๆ เพื่อพูดคุยหาคอนเนคชั่น ชวนมากินกาแฟ หรือพูดคุยออนไลน์ แล้วลองถามดูว่ามี job opening บ้างมั้ย เราสนใจอยากสมัครงาน UX UI ถึงแม้เขาจะยังไม่ประกาศรับสมัครงานก็ลองติดต่อ reach out กับคนที่ทำงานบริษัทนั้น ๆ ดู

ถ้าในอนาคตมีตำแหน่งที่จะเปิดรับ เราก็สามารถขอคำแนะนำจากเขาได้เลย เช่นวิธีการเตรียมตัวการสัมภาษณ์ สิ่งที่องค์กรกำลังมองหาอยู่ในตำแหน่งนี้ต้องมีอะไรบ้าง เป็นต้น

7. สมัครงาน UX UI ไม่ได้ ลองดูอาชีพข้างเคียงมั้ย

ปัจจุบันการทำงาน UX UI ไม่ได้มีแค่ตำแหน่งเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีชื่ออาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายอาชีพนี้อีกเพียบ อาทิเช่น

  • CX Designer
  • Service designer
  • Product designer
  • Usability Analyst
  • Information Architect
  • Interaction Designer
  • Visual Designer
  • UX Writer

และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อน ๆ ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมรายละเอียดของงานที่ทำ ฝึกฝนทักษะเพิ่ม เมื่อพร้อมแล้วก็เตรียมตัวยื่น Resume

8. หัด skill การเขียนโค้ด – Web/Application development

มาลองสร้างงานที่เรารีเสิชมาให้ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน เพื่อจะทำให้งานของเราดูเป็นรูปเป็นร่าง ให้สามารถใช้งานได้จริง ตรงส่วนนี้จะช่วยให้เราโชว์ว่าสกิลของเราหลากหลาย และแสดงให้เห็นถึงมุมมองความเข้าใจเรื่องโค้ดด้วย

ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มหัดเขียนโค้ดอย่างไร ลองเริ่มต้นด้วย HTML & CSS แบบง่าย ๆ ก่อนเลย

อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียนเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางนี้
รีวิว 10 คอร์สเรียน UX ด้านเทคโนโลยีจาก Coursera

behance portfolio สมัครงาน ux ui
behance portfolio

9. ใช้ Behance ให้เป็นประโยชน์

การทำ Portfolio บนเว็บไซต์ออนไลน์นั้นควรเขียนเล่าอธิบายงานโปรเจคฝึกหัดที่เราทำแบบละเอียดให้ดี ๆ เพราะเป็นพื้นที่ที่จะทำให้คนมาเจอเราบนออนไลน์ได้ โดย Designer หลาย ๆ ท่านที่ได้ไปทำงานต่างประเทศ ก็ได้งานมาจากการเขียน Portfolio ที่ดี รวมไปถึงการมีผลงานลงบน Behance, Vimeo อีกด้วย

ยืนยันว่าคนที่แอดนัทรู้จักได้งานต่างประเทศเพราะ Portfolio UI UX ออนไลน์ถึง 3 คนเลยค่ะ ^_^

10. อย่าลืมปรับปรุง CV, Portfolio และ Cover letter ของเรา

เรามาดูกันว่าแต่ละอย่างคืออะไร ทำไมต้องทำบ้าง

  1. Cover letter 
    อธิบายว่าเราจะไปช่วยบริษัทแก้ปัญหาที่เขามีอยู่ได้ยังไงบ้าง เป็นเอกสาร A4 ที่ต้องเขียนบรรยายอย่างละเอียดให้ตรงกับงานที่เราจะสมัคร (ไม่ควรใช้เอกสารซ้ำเหมือนกันทุกงาน)
  2. CV หรือ Resume
    การทำ resume จะต้องมี keyword ตรงกับงานที่เราจะสมัคร เพราะปกติ HR จะใช้พวกระบบ AI ในการสแกนเอกสารของเราทั้งหมดเพื่อดูว่าเรามี Qualification, Keyword ที่ตรงกับเขาต้องการกี่ % หลังจากนั้นจะมีการเรียกเราเข้าไปสัมภาษณ์งาน
  3. Job application tracker 
    เป็นไฟล์ไว้เช็คว่าเรายื่นสมัครงานไปกับบริษัทไหนบ้าง เพราะปกติเวลาสมัครงานที่ต่างประเทศจะต้องสมัครเยอะมาก ๆ ก่อนจะได้งาน เป็นเรื่องปกติมากที่เราจะลืมว่าเรายื่นที่ไหนไปแล้ว

ดังนั้นเราจะต้องจดตลอดว่าเราเคยสมัครงานไปที่ไหน วันที่เท่าไร ถึง stage ไหนแล้ว ได้ rejection หรือยัง จะได้รู้ว่าถ้าจะสมัครซ้ำ ต้องรออีกกี่เดือน กี่ปี ปกติจะ rotate สมัครซ้ำได้ภายใน 6 เดือน++ บางบริษัทก็ 1 ปี++

มีเทมเพลตแจกด้วยบน Figma
figma resume template

11. หาคนช่วยตรวจ Resume, CV, Portfolio, LinkedIn และ Cover letter

เพื่อน ๆ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเราสามารถใช้บริการตรวจ Resume, CV, LinkedIn ได้ โดยเราสามารถจ้างบริการอย่าง Fiverr ให้เจ้าของภาษา Native มาช่วยเราเช็คคำเขียนของเราอย่างละเอียด

ตัวอย่างบริการช่วยตรวจ Resume ภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างบริการช่วยตรวจ Portfolio ภาษาอังกฤษ

12. เรียนออนไลน์ที่สอนทั้ง Skill และ Career guide

หาคอร์สเรียนออนไลน์ระยะยาวที่สอนทั้งทักษะการเรียน ไปจนถึงการเตรียม Portfolio และการสมัครงาน หลังจากแอดนัทลองสอนทักษะทั้งแบบกลุ่มแบบเดี่ยวไปเป็นจำนวนมาก ก็ได้ค้นพบว่าการสอนแบบตัวต่อตัวระยะยาวตอบโจทย์กับผู้ที่อยากเปลี่ยนงานมากที่สุด พร้อมทั้งได้ไกด์เรื่องของการสมัครงาน การดึงจุดเด่นของตัวเองมาใช้ในการพรีเซนต์งานอีกด้วย

จึงเกิดมาเป็นคอร์สสอนตัวต่อตัวแบบระยะยาวที่สอนไปจนถึงขั้นตอนสมัครงานนี้ค่ะ
เพื่อน ๆ สามารถดูรายละเอียดการสอนของแอดนัทได้จากที่นี่เลย


จบไปแล้วสำหรับเทคนิคการสมัครงานที่ดีไซน์เนอร์ในออสเตรเลียแนะนำมา เพื่อน ๆ มีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้าง
อย่าลืมติดตามบทความอื่น ๆ ของเราได้ทางด้านล่างนี้นะคะ

Natk

Natk

UI Specialist ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เป็นดีไซน์เนอร์มา 12 ปี | สนใจเรื่อง User Interface, User Experience, Accessibility, Education | ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Tech ไทยในออสเตรเลีย | ผู้ดูแลเว็บไซต์ Designil
บทความทั้งหมด