EP3 เส้นทางอาชีพกับป๋อม สุธัม UX Designer

Natk

กลับมาต่อกันด้วยบทความที่น่าสนใจจาก Designil Chats บทความสัมภาษณ์ดีไซน์เนอร์ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์สำหรับน้องๆและดีไซน์เนอร์มือใหม่

บทความนี้แอดนัทได้นำข้อมูลเนื้อหาสาระดีๆจากการสัมภาษณ์พี่ป๋อม ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Senior UX Designer ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB มาฝากกันค่ะ

พี่ป๋อมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน UI และ UX ให้ความรู้มากมายในงานมีทอัพ การอบรม การสอน และทางเฟสบุคกรุ๊ปอย่าง UX Thailand พี่ป๋อมจะมาเล่าให้เราฟังเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานด้าน UX, UI นั้นควรเริ่มต้นศึกษาอะไร วิธีการเตรียมตัวการสมัครงาน การเลือกเปลี่ยนสายอาชีพ รวมไปถึงงานมีทอัพที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากหาความรู้เพิ่ม

ป๋อม สุธัม ธรรมวงศ์ Senior UX Designer
ป๋อม สุธัม ธรรมวงศ์ Senior UX Designer

แนะนำตัวกันก่อน

ชื่อป๋อมครับ สุธัม ธรรมวงศ์ ตอนนี้เป็น Senior UX Designer ในทีม SCB10X ครับ และก็ take role เป็น Product Owner ด้วย เพราะว่า run ทีมของตัวเองเล็กๆ กับ product ที่ด้วยกันในทีม ก่อนหน้านี้ก็ทำมาหลายอย่างครับ ถ้าเอาตั้งแต่จบป.ตรีก็ Web Designer, Interactive Designer, CSS Designer ซึ่งใช้เวลากับ role เหล่านี้ประมาณ 4 ปีครับ

แล้วย้ายสายไปทาง advertising agency ไปรับหน้าที่เป็น Project Manager รวมแล้วประมาณ 3-4 ปีครับ และเรียนว่าสายล่าสุดที่ทำอยู่ตอนนี้ พี่เรียกว่าเป็น Product Development ละกัน ก็ทำตั้งแต่ UX Designer, Product Owner และล่าสุดก็มาที่ Senior UX Designer 

วันแรกที่ตัดสินใจมาทำงานด้านนี้

มันเป็นเรื่องที่เล่าบ่อยอยู่เหมือนกันครับ คือต้องบอกว่าจริงๆแล้วตอนเราทำงาน Web Designer ตั้งแต่จบปอตรี มันมีการอ้างอิงการใช้ item ของ UX มาบ้างอยู่แล้วนะ แต่อาจจะไม่ได้ถูกทำทั้ง process เช่นว่า พี่จะออกแบบเว็บหน้านี้ คิดจากอะไร ใครใช้ ใครเห็น

ถ้าเอาแบบคำว่า “UX” เข้ามาในชีวิตตอนไหน น่าจะเป็นตอนทำงานโฆษณาครับ ตอนนั้นทำ Project Manager แล้วเราก็ต้องศึกษางานเยอะประมาณนึง เพื่อที่จะได้สื่อสารหรือคุยกับ vender, outsource ได้ เพราะหน้าที่หลักของ Project Manager คือคนกลาง ถ้าเราทำหน้าที่คนกลางที่ไม่ดี สื่อสารไม่เข้าใจ คงไม่มีใครอยากทำงานด้วย

ตอนนั้นก็เลยหยิบจับ item ของ UX มาทำงานแบบไม่รู้ตัวอีกแล้ว ตอนนั้นจะเน้นๆ Wireframe บ่อยมาก เรียกว่าทำเกือบทุกวัน แต่ก่อนจะมา Wireframe มันก็ต้องรู้ Journey กับ User Flow อีกว่าคนใช้งานหรือ User จะไปเจอแต่ละหน้าได้ยังไง ทำอะไรมาก่อน-ระหว่าง-หลัง ก็ทำแบบนั้นทุกวัน 

จนวันนึงมีงานอีเวนท์งานนึงชื่อว่า StartupWeekend ครับ ลองหาใน google ก็ยังมีข้อมูลอยู่บ้างครับ งานจะเป็นสไตล์ hackathon เลยครับ ตอนนั้นคือปี 2014 ที่ปัจจุบันนี้มีงาน hackathon เกือบทุก week เลย เราก็ไปงาน Startup Weekend สมัครไปในบทบาท UX Designer เลย อยากลอง พอได้ไปร่วมงาน 3 วัน ก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันดีมากนะ ชอบเลย แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะย้ายสายงานครับ แต่ก็ศึกษามาตลอด

เพื่อนคนนั้นบอกว่า “ถ้าเราตัดเรื่องเงินออกไปเลย นายอยากทำอะไร?” พี่ก็บอกว่า “UX” คำเดียวเลย

จนมีช่วงจังหวะนึงที่เราเรียนปริญญาโท ตอนนั้นคือเรียนการตลาด แล้วก็ทำงานโฆษณาไปด้วย มันเหนื่อยมากตอนนั้น เจอปัญหาเยอะมาก ก็มีปรึกษากับเพื่อนคนนึง ซึ่งเค้าก็ให้คำแนะนำที่น่าประทับใจมาก เพื่อนคนนั้นบอกว่า “ถ้าเราตัดเรื่องเงินออกไปเลย นายอยากทำอะไร?” พี่ก็บอกว่า “UX” คำเดียวเลย แล้วก็รู้สึกได้ทันทีว่า การทำอะไรที่เราชอบ สนใจ มันไปสุดจริงๆ ไม่กังวลอะไรเลย เหมือนมาเจอมาทำความฝันตอนอายุมากแล้ว ฮ่าๆ (ตอนนั้นพี่อายุ 30 ครับ) และนั่นแหละ ก็เป็นความรู้สึกและเหตุการณ์ตอนเริ่มต้นเข้ามาทำหน้าที่นี้จริงจัง

จำเป็นไหมที่จะต้องเรียนจบด้าน IT, ด้านออกแบบ, หรือจิตวิทยามาโดยตรง

คือเอาจริงๆ พี่ว่าจบมาตรงมันก็ดี แต่ต้องบอกว่า แต่ละคนมี background ชีวิตที่แตกต่างกันครับ อย่างพี่ พี่ไม่ได้เป็นคนที่ active อะไรมากช่วงมัธยม เรียนแบบผ่านไปวันๆ ไม่เครียด กว่าจะรู้ตัวเองว่าชอบอะไรอยากทำอะไรก็อายุเยอะแล้วอย่างที่บอกไปก่อนหน้า หรือพออยากจะไปศึกษาต่างประเทศบ้าง ค่าใช้จ่ายก็แพง สูงมาก ๆ อยากสอบชิงทุนก็ต้องให้เวลาในการศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อสอบเข้า แต่เราก็ต้องมีรายได้ซึ่งก็ต้องทำงานตลอดเวลา ดังนั้นมันทำให้ไม่มีเวลาโฟกัสอะไรได้มาก

ร่ายซะยาว จะบอกอะไรใช่ไหม ฮ่า ๆ คืออันนี้ต้องบอกว่า มันคือความคิดเห็นและมุมมองส่วนตัวเนอะ พี่ไม่ได้บอกว่ามันถูกต้องหรอก ถือว่าแชร์ประสบการณ์และมุมมองนะครับ 

กลับมาที่คำถามนะครับ จำเป็นไหมที่ต้องเรียนจบด้านที่ว่า สำหรับพี่คิดว่า ไม่จำเป็นครับ แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ เราเสียเปรียบคนจบตรงมากกว่า แต่จะทำยังไงให้เราเก่งขึ้นกว่าตัวเราเองในวันนี้หรือเมื่อวานนี้ ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใครเลยครับ เอาตัวเราเองดีกว่า สิ่งที่ต้องทำ คือขยันและมีวินัย ดูเหมือนคำขวัญวันเด็ก ฮ่า ๆ แต่เรื่องจริงเลย ทุกวันนี้พี่จะกดอ่าน กดเรียน ศึกษา อ่านบทความ ให้ได้ทุกวัน วันละย่อหน้าก็มีความหมายแล้วนะครับ แล้วค่อย ๆ สะสม ทำงานจริง ตั้งข้อสงสัย ลงมือทำ เก็บประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ พูดคุยกับคนที่ทำงานสายเดียวกันบ้าง และสายรอบข้างที่เป็น Product Development ด้วย เพราะการทำงานจริงไม่ได้ทำตัวคนเดียวครับ

ศึกษาอ่านบทความให้ได้ทุกวัน วันละย่อหน้าก็มีความหมายแล้วนะครับ เก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ พูดคุยกับคนที่ทำงานสายเดียวกัน และสายรอบข้างที่เป็น Product Development เพราะการทำงานจริงไม่ได้ทำตัวคนเดียวครับ

ภาพบรรกาศการทำงานในสายงาน User Experience
ภาพบรรกาศการทำงานในสายงาน User Experience

ซึ่งการจบมาตรง ไม่ว่าจะ IT ก็จะได้เปรียบเรื่องของขอบเขตการทำงานของ software, hardware กระบวนการคิดและการทำงาน ซึ่งพวกนี้ถ้าเราไม่ได้จบตรงสายก็ต้องเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มคนทำงานเหล่านี้ อย่างงาน Meetup ที่มีเยอะและบ่อยมาก ใช้โอกาสเหล่านี้ให้เต็มที่ หรือด้านออกแบบ ก็เป็นทักษะการลงมือทำ ถ้าอยากทำได้หรือมี process ที่ต้องทำ ก็ต้องเริ่มใช้ tool เยอะๆ บ่อยๆ หาเทคนิค หรือจิตวิทยา อาจจะเริ่มจาก คุยกับคนเยอะๆ เข้าใจที่มาที่ไปทำไมพวกเค้าถึงแบบนั้นเยอะๆ เรียนรู้วิธีการสื่อสารที่ดีที่จะได้ข้อมูลที่ไม่ได้เกิดจากการพูดตรงๆ เหล่านี้น่าจะช่วยทำให้เราทำงานได้ตามเป้าหมายครับ

งานปัจจุบันทำอะไรบ้าง

ถ้าเอา job title หรือชื่อตำแหน่งงาน ก็คือ Senior UX Designer เกริ่นก่อนว่า ตอนที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ ตั้งใจอย่างแรกสุด คือเราอยากทำ Research มากๆ (แม้ว่าตอนเรียนมหาวิทยาลัยจะไม่ชอบมากก็ตาม ฮ่าๆ) เนื่องด้วยว่า ที่ผ่านมาเราทำงานออกแบบมาเยอะมากแล้ว เอาจริงก็เป็น 10 ปีแล้วตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี แต่งาน Research ถือว่าได้ทำแต่น้อยมาก ๆ พอเข้ามาก็ได้ทำจริง ๆ และชอบมากจริง ๆ ตามความตั้งใจไว้เลย

การทำงานกับทีมที่ได้เจอคนมากมายหลากหลาย
การทำงานกับทีมที่ได้เจอคนมากมายหลากหลาย

อีกด้านนึงก็คือเป็น Product Owner ด้วยครับ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมตั้งใจตั้งแต่ตอนเข้ามาแล้ว เราก็ใช้วิชาที่เคยทำงาน Product Development จากที่เก่ามาเริ่ม ตั้งแต่ recruit ทีมเข้ามาเลย, สัมภาษณ์คนสมัครงาน, ระหว่างรอทีมเข้ามาก็ออกไปทำ usability testing กับ user research รวมถึงเตรียมอุปกรณ์และความพร้อมเมื่อทีมเข้ามาจะได้ทำงานได้เลย และก็มีคุยอัพเดตกับ stakeholder หรือ head team ของเราเนี่ยแหละ อัพเดตเรื่อยๆ ว่าเราทำอะไรไปบ้าง เจออะไรบ้าง ซึ่งก็เป็นอีกหน้าที่ของ Product Owner ด้วย คือ Stakeholder Management ครับ โดยรวมก็ประมาณนี้

ในชีวิตด้านนอกบริษัท ก็จะมีทำคลาสสอน UX ด้วย และก็มีไปสอนที่มหาวิทยาลัยแบบที่ไปเป็น Guest Speaker และก็ปีนี้กำลังจะมีงานสอนที่มหาวิทยาลัยเทอมนึงด้วยครับ เป็นสิ่งที่อยากทำอยู่แล้ว เพราะเราอยากแชร์ประสบการณ์ให้กับน้องๆ ส่วนนึงในใจก็อยากให้เค้าทันกับโลกด้านนอกในการทำงานจริงด้วย เตรียมรับมือกับสถานการณ์จริง

ภาพบรรยากาศการอบรมคอร์ส User Experience
ภาพบรรยากาศการอบรมคอร์ส User Experience

ความท้าทายของงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

น่าจะคือการเริ่มจากศูนย์เลย อาจจะเรียกว่า 0.2 ก็ได้ คือมันมีการทำงานมาเบื้องต้นแล้ว และเราก็รับเอามาสานต่อเต็มๆ หลังจากนั้น จากนั้นก็สร้างทีม ซึ่งเอาจริงๆ เราไม่เคยสร้างทีมมาก่อนนะ แต่เราเคยทำงานกับทีมมาแล้ว ก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร แต่เอาเข้าจริง มันก็มี(ว่ะ) ฮ่าๆ มีหลายอย่าง เช่น ตั้งแต่ recruit ทีมเลย เรียกมาสัมภาษณ์ พอได้แล้วว่าคนนี้จะมาทำงาน เวลาเข้าจริงก็ไม่มา เราก็ต้องเปลี่ยนแพลน หรือพอทีมมาครบมาเจอหน้างานกัน ก็จะเจอ issue ที่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแผนกันอีก พี่ว่ามันก็สนุกไปอีกแบบนะแหละ

ทีมงานทุกคนก็เก่งมาก เราเป็นเหมือนคนตัวเล็กๆ ในทีมที่มีแต่คนเก่งทั้งหมด ก็ต้องทำให้ตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถมากขึ้น เป็นการ force ตัวเองให้ดีขึ้น

ความท้าทายต่อมา จะเรียกว่าอย่างแรกก็ไม่ผิด คือการได้เข้ามาทำในส่วนของธนาคารที่มีคนให้ความสนใจเยอะ ความกดดันก็มา ทีมงานทุกคนก็เก่งมากๆ ยิ่งช่วงแรกที่ร่วมงานกับชาวต่างชาติด้วยที่เก่ามากๆ เราเป็นเหมือนคนตัวเล็กๆ ในทีมที่มีแต่คนเก่งทั้งหมด ก็ต้องทำให้ตัวเองมีความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถมากขึ้น ก็เป็นการ force ตัวเองให้ดีขึ้นด้วย ไม่งั้นคงจะมี question หรือคำถามเกิดขึ้นในหัวแน่นอนว่า “มาทำงานที่นี่ได้ยังไงมีความสามารถแค่นี้” เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ส่วนที่เราทำมันคือการทำงานในระดับ Senior และระดับ Senior คือคนที่มีปัจจัย 3 อย่างด้วยกัน คือ Key Role ที่ชัดเจน ทำหน้าที่ตัวเองได้ดีและลึก, Coaching คือการแบ่งปันหรือสอนคนอื่น แนะนำคนอื่นได้ และ Accept คือการได้รับการยอมรับจากทีม ไม่ใช่แค่คนที่สัมภาษณ์งานหรือหัวหน้าเราเท่านั้น เพราะการทำงานจริง คือการทำงานกับทีม ไม่ใช่หัวหน้าหรือคนสัมภาษณ์เท่านั้น

ความท้าทายอีกเรื่องที่ตัวเองก็เป็นคนรนหาที่เอง ฮ่าๆ ก็คือการทำ UX ในส่วนที่เป็น Research เนี่ยแหละ ที่เราสนใจและชอบมากๆ อยากทำมากๆ แล้วเราก็ได้เข้ามาทำจริงๆ มันก็ท้าทายด้วย สนุกด้วย และก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ คือพี่เชื่อว่า การลงมือทำงานจริง มันมีค่ามากกว่าการอ่านหรือนั่งเรียน course online ไปวันๆ

ทำงานไปแล้วพบว่าที่เราเรียนมาเนี่ย ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการเลย เปลี่ยนงานยังทันมั้ย

ได้ดิ! คือพี่เป็นคนนึงที่จบแล้วทำงานไม่ได้ตรงสายเป๊ะๆ พี่จบปริญญาตรีวิทยาการคอมพิวเตอร์ครับ หรือ Computer Science และปริญญาโทจบสาขาการจัดการการตลาดครับ และอยากบอกอีกอย่างนึงว่า พี่ก็ไม่ได้จบเมืองนอก หรือมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดังใดๆ และตำแหน่งงานที่พี่ทำก็ไม่ได้ตรงกับความต้องการของมหาวิทยาลัยที่วางเอาไว้ว่าจบแล้วต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ จบแล้วต้องเป็นนักการตลาด

ประโยคที่ว่า “เพิ่งรู้ตัวว่าชอบ” โห บอกเลยว่าแม่งโคตรดี การที่รู้ตัวเองว่าชอบอะไร มันมีค่ามากเลยนะ พี่ยินดีกับคนที่รู้ตัวเร็วว่าชอบอะไร ส่วนคนที่รู้ช้าอย่าเพิ่งเครียดหรือวิตกกังวลไป พี่เชื่อว่า สิ่งดีๆ หลังจากนั้นมันจะรอเราอยู่ อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยนแล้วดี ก็ถือว่าดีมาก แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วไม่ได้เป็นแบบที่ตั้งใจไว้ ก็ถือว่าเป็นบทเรียนครับ แน่นอนว่า ณ เวลาที่พลาดพลั้ง มันเสียใจแหละ แต่รีบกลับมาหาทางออกต่อ

คำตอบนะครับ เปลี่ยนอาชีพได้ครับ มันอาจจะช้า แต่ได้ทำแน่นอน เหมือนที่พี่บอกตอนต้นครับ ลองไม่คิดถึงเรื่องเงิน เราอยากทำอะไร ลองวางแผนดูครับ หรือระหว่างเราทำงานที่เราไม่ได้ชอบเนี่ย ลองหาโปรเจคเล็กๆ ที่เราชอบหรืออยากทำ ลองเอามาทำดูก่อน เพราะถ้าหากเรายังไม่เคยทำ เราอาจจะไม่รู้เลยก็ได้ว่าเราอยู่กับมันได้จริงหรือป่าว มันมีประโยคนึงที่พี่บอกกับน้องๆ หลายคนเลยว่า “งานทุกงานมันมีปัญหาหมดแหละ แต่ปัญหาแบบไหนที่เราอยู่กับมันได้ และเราอยากจะแก้ปัญหานั้น”

งานทุกงานมันมีปัญหาหมดแหละ แต่ปัญหาแบบไหนที่เราอยู่กับมันได้ และเราอยากจะแก้ปัญหานั้น

ภาพบรรยากาศการอบรมพร้อมเสื้อสุดเท่ห์จาก Sketch

คำแนะนำในการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานด้าน Design

สิ่งที่สำคัญของการสัมภาษณ์งาน คือประสบการณ์ของเราครับ และประสบการณ์ของเรามันก็อาจจะมีหลายแบบมากๆ และการสมัครงานมันก็หลายวิธีด้วย แต่ที่แน่ๆ มันมักจะเป็นแบบ one way communication ครับ หมายถึง เราต้องส่งอะไรบางอย่างไปบอกเค้าครับว่าเราทำงานนี้ได้ เราเลยสมัครงานนี้ แต่จะทำยังไงให้เค้ารู้ว่าเราทำได้ละ?

เราก็ต้องเล่าครับ วิธีเล่าแบบดั่งเดิมก็อาจจะเขียนจดหมาย, ส่ง resume เล่าประวัติอย่างย่อ การทำงาน ยิ่งเราเป็น Designer ด้วย ผลงานต่างๆ ที่เคยทำ หรือการทำ portfolio ก็ควรจะต้องตามมาด้วย ซึ่งวิธีการเล่า ก็ควรจะเล่าให้เข้าใจง่าย เพราะมันควรจะต้องใช้เวลาเพียงน้อยนิด เพื่อรู้ว่าเราเหมาะกับหน้าที่ที่เค้าเปิดรับตำแหน่งนี้ยังไง

ควรจะเล่าในเอกสารหรือ resume ได้ว่า งานที่เราทำ ทำด้วยวิธีการใด ทำไมถึงทำ ทำให้ใคร เจออุปสรรคอะไรบ้าง ผลลัพธ์เป็นยังไง แล้วได้เรียนรู้อะไรจากงานนั้น

ไม่ว่าจะตำแหน่ง UI Designer, Visual Designer หรือ UX Designer ก็ควรจะเล่าในเอกสารหรือ resume ได้ว่า งานที่เราทำ ทำด้วยวิธีการใด ทำไมถึงทำ ทำให้ใคร เจออุปสรรคอะไรบ้าง ผลลัพธ์เป็นยังไง แล้วได้เรียนรู้อะไรจากงานนั้น พี่ว่าอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ คนสัมภาษณ์เค้าอยากรู้หลักๆ เลยคือ กระบวนการคิด และการแก้ปัญหาครับ 

ถ้าเอาคำตอบแบบตรงกับคำถามเลยว่า เตรียมตัวสัมภาษณ์ยังไง 

  • ทำการบ้านมาก่อน ว่าบริษัทมีผลงานอะไรบ้าง 
  • ไปให้ถึงก่อนเวลา สำรวจสถานที่ 
  • รถไฟฟ้าหรือมอไซค์เท่านั้น อย่าไว้ใจการขับรถ เพราะท้องถนนเอาแน่เอานอนไม่ได้
  • ไม่ต้องตื่นเต้น ตอบให้ตรงคำถาม
  • เตรียมคอมตัวเองไปและ internet เปิดให้พร้อมใช้งาน เปิด file/folder พอร์ทงานรอไว้เลย (ถ้าใช้ Google Slide ควรเปิดแล้วดูให้ครบทุกหน้าก่อนพับหน้าจอ เพราะรูปจะได้โหลดไว้ก่อน หรือ export PDF มาก่อนเลย)
  • เก็งคำถามล่วงหน้าไปก่อน และลองซ้อมตอบก่อน เช่น ถ้าเกิดปัญหา….คุณจะแก้ปัญหานี้ยังไง, ถ้าผมอยากได้….ภายใน…..แล้วเกิดปัญหาว่าทำไม่ได้ จะทำยังไง และลองซ้อมกับเพื่อนหรือแฟนดูบ้าง
  • เก็งคำตอบแล้ว เก็งคำถามด้วย เพราะเค้าจะเปิดโอกาสให้เราถาม สำคัญมากนะครับ เค้าจะดูด้วยว่าเราสนใจเค้ามากน้อยขนาดไหน คำถามที่ดีก็จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น เช่น ปกติแล้วที่นี่เวลาไปหาลูกค้าจะมีหน้าที่ส่วนไหนไปบ้าง ใช่…..หรือเปล่าครับ / คืออย่าถามแบบดูไม่รู้ แต่ต้องมีคำตอบในใจหรือที่คาดการณ์แล้ว คนสัมภาษณ์จะไม่คิดในใจเลยหรอว่า “อะไรกันแค่นี้ไม่รู้หรอว่าเวลาไปหาลูกค้ามีใครไปบ้าง”
  • ควรถามสวัสดิการนะครับ อย่าให้เกิดเหตุการณ์ว่า “ทำไมตอนสัมภาษณ์พี่ไม่เห็นบอกผมเลย” เราเองเนี่ยแหละที่พลาด
  • ลองถามพวก career path หรืออนาคตทีมของบริษัทไว้ก็ดีว่าเค้าจะ scale ทีมไหม ยังไง เราจะได้แพลนอนาคตตัวเองไปด้วย

เอาประมาณนี้แล้วกัน นี่ให้คำตอบสดๆ มาก ฮ่าๆ นึกได้ประมาณนี้ พี่เคยเขียนบทความเรื่องสัมภาษณ์งานไว้ด้วย ลองไปหาอ่านที่ medium พี่นะครับ พี่ไม่ลง URL ให้นะครับ เดี๋ยวไม่อ่านสัมภาษณ์ด้านล่างต่อ พี่เสียใจ ฮ่าๆ

คำแนะนำสำหรับดีไซน์เนอร์มือใหม่

ทำเยอะๆ ศึกษาเยอะๆ อย่าหยุดเรียนรู้ครับ สังเกตสิ่งรอบตัวและตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ เช่น งานนี้มันทำให้ใครนะ ใครเป็นคนใช้งาน ใช้งานแบบอื่นได้ไหม เค้าคิดจากอะไรทำไมถึงได้งานแบบนี้ออกมา เค้าใช้เครื่องมืออะไรบ้างนะ ต้องใช้เวลานานไหมนะ กลายเป็นหัวข้อที่ตอบน้อยสุดเลย แหะๆ แต่มันก็ควรจะเริ่มต้นแบบนี้จริงๆ สำหรับมือใหม่ครับ และมือเก่าก็ต้องทำอยู่เรื่อยๆ มีวินัยกับตัวเองตลอดเวลา :) 

Meetup หรือเว็บไซต์แนะนำที่ไม่ควรพลาด

งาน Meetup มีเยอะมากเลยครับ ยิ่งเราทำงานสาย Design มันก็ถือว่ามีเยอะมากๆ แต่ก่อนพี่ก็จัดของ UX Connext ครับ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้จัดการแล้ว แล้วก็มีใน Facebook group ช่ือ UX Thailand ก็จะมีประกาศ Meetup อยู่เรื่อยๆ ถ้าเอาหลักๆ จะมี 2 ผู้จัดหลัก ที่แนะนำเลยคือ

บรรยากาศงาน Meetup ที่ไปเป็นประจำ เจอหน้ากันแล้วอย่าลืมทักทายกันนะ
บรรยากาศงาน Meetup ที่ไปเป็นประจำ เจอหน้ากันแล้วอย่าลืมทักทายกันนะ

ถ้ามีโอกาส อยากให้ลองไปงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Meetup สายตัวเองด้วย ลองดูก่อน มันอาจจะยาก แต่ลองไปดูบรรยากาศ วิธีการทำงาน วิธีแก้ปัญหาของเค้าด้วย รวมถึงไปงานอีเวนท์ต่างๆ ด้วยนะ ไปเปิดหูเปิดตา เปิดรับความรู้ใหม่ๆ หรือข่าวใหม่ๆ 

เมื่อตอนปลายปีพี่ลองไปงาน UXSEA จัดที่สิงคโปร์ ราคาเข้างานไม่แพงมาก ประเทศเพื่อนบ้านเราก็เริ่มมีงาน UX ด้วย ราคาไม่แพงมาก ถือว่าเดินทางไปรับความรู้ ฝึกใช้ภาษาบ้าง (เพราะพี่ก็ไม่เก่ง ฮ่าๆ) และใช้โอกาสไปเที่ยว ได้เห็นอะไรใหม่ๆ จะได้เกิดการตั้งคำถามหรือเห็น service ที่ไม่ิชนหูชินตาเราบ้าง จะได้เกิดการเรียนรู้ครับ

ส่วนเว็บไซต์ที่ไม่ควรพลาด เราชอบเว็บนี้ครับ

  • https://www.interaction-design.org/ เพราะเราเรียนเว็บนี้อยู่ด้วย
  • https://www.nngroup.com/ ความรู้และบทความก็มีมากเลยครับ
  • https://uxdesign.cc/ เป็น medium ที่มีนักเขียนหลากหลายประเทศ รวมถึงคนไทยด้วย

สกิลแนะนำที่ควรมีในยุค 2019 หรือหนังสือที่น่าสนใจ

พี่เป็นคนขี้เกียจอ่านหนังสือครับ ฮ่าๆ โคตรแย่เลยเนอะ แต่ก็พยายามอ่านอยู่นะครับ ก็ซื้อหนังสือมาหลายเล่ม จริงๆ มุมมองพี่ อนาคตจะเป็นเรื่อง soft skill ครับ แปลเป็นไทยมันคืออะไรดีอะ ทักษะทางด้านการจัดการและอารมณ์ น่าจะประมาณนี้ เพราะพี่เชื่ออย่างนึงว่า การลงมือทำ มันเกิดจากการฝึกฝนที่ใช้งานบ่อยๆ หาอ่านเทคนิคแล้วก็ทำมันซ้ำๆ แต่เรื่องการจัดการ การรับมือ การเข้าใจคน เป็นทักษะที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างมีที่มาที่ไป คิดวิเคราะห์ได้ หรือคาดการณ์ได้ประมาณนึง คือมันไม่มีสูตรสำเร็จในการจัดการทุกอย่างแน่นอน แต่มันต้องใช้ทักษะในการคิดเยอะมากๆ critical thinking สำคัญมากๆ จะเรียกว่าพื้นฐานเลยก็ว่าได้

การทำอะไรบ่อยๆ เราเรียกว่าการฝึกฝน ถ้าเราฝึกฝนบ่อยๆ จะเกิดเป็นความชำนาญ เมื่อเราชำนาญมากแล้ว จะเกิดเป็นสัญชาตญาณ

พี่ชอบหนังเรื่องนึงและก็ชอบยกประโยคนี้มาพูดกับคนอื่นบ่อยๆ มีหนังเรื่อง triple tap เป็นหนังฮ่องกงครับ ตัวละครตัวนึงพูดว่า “การทำอะไรบ่อยๆ เราเรียกว่าการฝึกฝน ถ้าเราฝึกฝนบ่อยๆ จะเกิดเป็นความชำนาญ เมื่อเราชำนาญมากแล้ว จะเกิดเป็นสัญชาตญาณ” พี่ว่า สัญชาตญาณเนี่ยสำคัญ มันต้องตอบและคิดออกมาได้ทันที คนทำงาน Design ที่เป็น Digital Product อย่างทุกวันนี้ เราไม่ควรตอบแค่ว่า “สวย” แต่ควรตอบได้ว่า มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ได้ทันทีที่มีคนถาม ต้องมีชุดข้อมูลในการตอบและวิธีการตอบที่ทำให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย

สุดท้าย ทักษะที่สำคัญมากๆ สำหรับพี่ คือ การสื่อสาร เพราะหน้าที่ของ Designer คือการทำชิ้นงานออกมาที่มีคุณค่าด้วยตัวงาน รวมถึงบอกที่มาที่ไป เหตุผลในการสร้างชิ้นงาน รวมถึงการซักถามด้วย เพราะเราก็ต้องนำ feedback มาปรับปรุงงานในครั้งต่อไปถัดไป การสื่อสารแทบจะอยู่ในทุกขั้นตอนเลย ตั้งแต่เริ่มทำงาน ก็ต้องไปรับ requirement, เสร็จก็ต้องมาทำ research

หากคุณคือ UX แต่ UI ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพราะก็ต้องรู้เพื่อให้งานตัวเองแข็งแรงขึ้น, ทำงานเสร็จก็ต้องส่งมอบให้ developer อีก อธิบายว่าทำไมถึงออกแบบเช่นนั้น เพื่อให้ developer เข้าใจเหตุผลการออกแบบ เพราะเผื่อบางทีเค้าจะได้ช่วยเราตรวจงานได้ หรือเราอาจจะเผลอทำอะไรตกหล่นก็ได้ คำว่า “ทีม” สำคัญมากๆ


ฝากผลงาน

ผลงานเขียน https://medium.com/@Sutham

Facebook https://web.facebook.com/sutham

Podcast กับเพื่อนที่เป็น Lead Data ก็จะเป็นการนั่งคุยกันระหว่าง UX และ Data ครับ เพราะคิดว่าน่าจะมีอะไรสนุกๆ เมื่อทั้งสองศาสตร์มาเจอกันครับ ยังไงก็ ฝากติดตามด้วยนะครับ ที่เพจ หมีเรื่องมาเล่า https://web.facebook.com/2bearstalk/ และ podbean https://twobearstalk.podbean.com/

คอร์สอบรม UX นะครับ https://v1.skooldio.com/courses/ux-foundations-2


สำหรับคนที่ชอบอ่านบทความประวัติอาชีพที่น่าสนใจ เส้นทางอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทำงานบริษัท ฟรีแลนซ์หรือธุรกิจส่วนตัว ติดตามอ่านกันได้ในบทความชุด Designil Chats ทุกสัปดาห์

อ่าน Designil Chats EP.1 สัมภาษณ์คุณพิชญ์ PRODUCT DESIGNER คนไทยในออสเตรเลีย
อ่าน Designil Chats EP2 ทำความรู้จักอาชีพขายธีมบน THEMEFOREST กับ NUTZUMI

Natk

Natk

UI Specialist ซิดนีย์ ออสเตรเลีย | ประสบการณ์ทำงาน 11 ปี | สนใจเรื่อง User Interface, User Experience, Accessibility, Education | ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Tech ไทยในออสเตรเลีย | ผู้ดูแลเว็บไซต์ Designil
บทความทั้งหมด

5 Responses

  1. บทความดีมากเลยครับผมกำลังจะจบปี 4 เรียน it ยังไม่รู้จะไปในด้านไหนดีพอมาอ่านละเริ่มรู้ตัวเองมากขึ้นขอบคุณครับ