EP5 แรงบันดาลใจในการเรียนรู้ คุณหลง พัทยา Experience Designer

Natk

Designil Chats สัปดาห์นี้เราได้นำบทสัมภาษณ์จาก Experience ดีไซน์เนอร์ผู้มากประสบการณ์ คุณหลง พัทยา มานำเสนอ พี่หลงถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานสายอาชีพ User Experience Designer, Researcher ทำงานกว้างไปจนถึงการออกแบบประสบการณ์อย่าง Experience พร้อมเล่าวิธีการตั้งคำถาม การหาคำตอบในแต่ละโปรเจค ช่วยแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้ดีเข้าใจผู้บริโภค

📖 บทความนี้มีอะไรบ้าง แสดง
22853125 10155272764567547 3234565413517395733 n
พี่หลง พัทยา

แนะนำตัวกันก่อน

สวัสดีคร้าบ ชื่อหลงครับ เมื่อก่อนรับงาน Freelance ทำแบรนด์ตัวเองไม่ได้จดบริษัทชื่อ consumotive.com ปัจจุบันเป็น Experience Designer ครับ

เริ่มต้นสนใจการออกแบบ หรือสายอาชีพนี้ได้อย่างไร

สนใจเพราะตอนนั้นเริ่มหมดทางทำมาหากินครับ เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ แล้วก็มาทำเว็บดีไซน์ ทำได้เฉพาะ front-end ด้วย ตอนนั้นก็เลยเรียน WordPress เพิ่มเป็น back-end ง่ายๆ ปรับปลั๊กอิน ทำเว็บเสร็จพอถูไถหางานได้บ้าง หลังๆ มางานมันเริ่มถูกลง คนเข้ามาทำในตลาดกันเยอะขึ้นตัดราคากันสนุกสนาน เราก็คิดว่า ไม่ดีละ อยู่อย่างนี้ไปยาวๆ ไม่มีกินแน่นอนเพราะสไตล์เราก็สู้เด็กใหม่ๆ ไม่ได้เลย เขาเก่งกว่าจริงๆ ก็เลยมองหาว่ามีอะไรบ้างที่เป็นอาชีพอื่นๆ ที่น่าสนใจ แล้วก็มาลงเอยว่าอันนี้แหละ ถูกใจ

วันที่เริ่มคิดแบรนด์ consumotive คือวันที่รู้สึกว่าเออ เทรนด์มันกำลังมาทางนี้แน่ๆ เมืองไทยกำลังเจริญตามแบบเมืองนอกนั่นแหละก็คือเมื่อก่อนใครสินค้าดีกว่าก็ชนะ แต่พอความเก่งเรื่องการคิดสินค้ามันเริ่มสูสีกัน มีตังค์ผลิตได้เยอะพอๆ กัน ของก็ดีพอกัน ก็ต้องไปแข่งเรื่องอื่นแล้วคือบริการ ซึ่งถ้ามีตังค์ก็ทำบริการดีๆ พอกันได้อีกนั่นแหละ แล้วสุดท้ายทุกคนก็จะต้องไปถึงจุดที่ต้องตั้งคำถามต่อว่า ถ้ามีตังค์เท่ากัน มีของดีเท่ากัน เซอร์วิสได้เหมือนกัน แล้วอะไรอีกที่จะทำให้ลูกค้าเลือกเราไม่เลือกอีกเจ้านึง ถึงตรงนี้เราเห็นว่าเสน่ห์เรื่องความประทับใจ ความถูกจริตในการใช้งานของแต่ละแบรนด์ที่ต่างกันมันตอบโจทย์เต็มๆ

สุดท้ายทุกคนก็จะต้องไปถึงจุดที่ต้องตั้งคำถามต่อว่า ถ้ามีตังค์เท่ากัน มีของดีเท่ากัน เซอร์วิสได้เหมือนกัน แล้วอะไรอีกที่จะทำให้ลูกค้าเลือกเราไม่เลือกอีกเจ้านึง เลยปักธงว่า อาชีพนี้เนี่ยแหละที่จะสำคัญในอนาคต

ก็เลยปักธงว่าเอาล่ะ อาชีพนี้เนี่ยแหละที่จะสำคัญในอนาคต มันเป็นแนวทางของการทำให้แบรนด์ที่ดีมากๆ อยู่แล้วตอนนี้ดียิ่งขึ้นไปอีกได้ แต่ที่เขาไม่เคยทำได้อาจเป็นเพราะไม่เคยเอาลูกค้ามานั่งพูดอะไรให้เขาฟังที่โต๊ะประชุมตรงๆ เลย

เล่าความรู้สึกวันแรกที่เข้ามาทำตำแหน่ง UX Designer

ไปของานพี่หวังทำ ขอทำให้พี่หวังฟรีเลยเพราะอยากมีพอร์ทโฟลิโอแรกของตัวเอง 5555 (แต่พี่หวังก็ให้งบมาทำด้วย ขอกราบขอบพระคุณเฮียที่ทำให้มีวันนี้) ก่อนไปของานก็เลยศึกษาเริ่มต้นเองอยู่เป็นเดือน จำได้ว่าช่วงสงกรานต์หยุดอยู่บ้าน รีเสิร์ชหา pdf ทุกอันที่อ่านเข้าใจ ดูทุกอย่างที่มันน่าจะเกี่ยวโยงกัน ทำความเข้าใจว่าตกลงมันคืออาชีพอะไร ทำอะไรบ้าง ต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง พอเข้าใจละว่ามันคืองานวิจัย จากนั้นมานั่งเซ็ตเฟรมเวิร์กว่าถ้าจะทำขาย ต้องทำอะไรให้ลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบบ้าง สรุปจบกับตัวเองได้ปั๊บก็นั่งทำพรีเซนเตชั่นแนะนำบริการที่จะขาย  พิมพ์นามบัตร แล้วก็ใจกล้าๆ เดินเข้าไปหาลูกค้าเลย

งานแรกที่ได้ทำสรุปก็เลยเป็นจัดเนื้อหาและโครงสร้างเว็บใหม่ กับปรับปรุง flow จ่ายเงินให้ payment gateway ของพี่หวังวันที่ได้เริ่มงานคือดีใจมาก บวกกับการเตรียม framework มาก็เลยรู้ว่าจะเริ่มอะไร ยังไง ก่อนหลัง อะไรที่ต้องขอข้อมูลจากลูกค้า จากนั้นก็ลงมือแผนทำเทสต์ ออกไปทำ listening sessions กลับมาเสนอทางปรับปรุง แล้วค่อยลงมือดีไซน์ ฯลฯ

ช่วงนั้นเหนื่อยมาก สนุก และกลัวลึกๆ ว่ามันจะเฟล แต่เราเชื่อในการบ้านที่ทำมาดีเราเลยไม่ panic สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นเรื่องเป็นราวดี ได้ความรู้เยอะมาก เก็บพอร์ทไว้ครบถ้วนก็เอาอันนี้แหละไปเล่าให้ลูกค้าคนต่อไปฟัง มันก็น่าสนใจ ก็มีคนใช้งานเรามาเรื่อยๆ

UX Designer กับ ธุรกิจ Fintech ในการทำองค์กร Fintech ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ มีอะไรที่ท้าทายบ้าง

43661907 10157274877203274 4721998671422423040 o
พี่หลงและทีมงานจาก KBTG

ดีใจมากๆ ตอนที่ได้ทำงานที่ KBTG ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราพร้อมแล้วที่จะเอาอาชีพนี้ไปรับใช้สังคมผ่านสิ่งที่เราทำ คือถ้าเป็นตอนเริ่มงานใหม่ๆ เราก็หวังแหละว่าจะได้พัฒนาตัวเอง แต่พอทำมาสักพักเราจะเริ่มถามว่าอาชีพนี้มันสร้าง impact ให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นได้ไหม แล้วจังหวะมันมาพอดีคือองค์กรใหญ่ (ที่สุดแล้วในฝั่งแบงค์ในความรู้สึกเรา) รับเราเข้าไป แล้วท้าทายให้ได้ลองทำจริงๆ ซึ่งก็ทำให้เห็นความท้าทายทั้งนอกและในองค์กรที่ธนาคารต้องต่อสู้ฝ่าฟัน

43509260 10215017467342488 8013431822031519744 n
พี่หลงและทีมงานจาก KBTG

Fintech ถ้าพูดถึงเฉพาะ banking มีปัญหาสำคัญอยู่เรื่องนึงคือ ฟังก์ชั่น โปรดักต์ และเซอร์วิส ของสามอย่างนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายสิบปีแล้ว ธนาคารไม่เคยมีระบบอะไรเป็น core business ของตัวเองจริงๆ เลยนอกจาก transactions ของตัวเลข ไม่มีสินค้าอย่างอื่นนอกจากสินเชื่อ และไม่มีบริการอย่างอื่นนอกจากบริการสาขามานานมากแล้ว แต่สิ่งที่แบงค์มีแบบไม่มีใครสู้ได้เลยคือความน่าเชื่อถือในการดูแลเงิน ซึ่งก็ได้จากการทำแบบเดียวกันมาหลายสิบปีนี่แหละ ซึ่งก็ยังหาวิธีเอามาใช้ได้ไม่มากนัก

ขณะเดียวกัน Fintech ในเมืองไทยที่เป็น non-bank เองก็มีปัญหาที่ตัวเองก็ขาดสองอย่างนั้นนั่นแหละ คือ ตัวเองไม่มี trust ในสายตาของผู้บริโภค และนั่นทำให้ตัวเองจะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ลูกค้าก็จะไม่มีใครกล้าเอาด้วยเหมือนกันเพราะเขาเองก็ไม่ได้รู้จักลูกค้าจริงเลยสักอย่าง (แค่จะดู transactions จริงๆ ก็ยังไม่มีสิทธิ์เลย ต้องมาขอเก็บต่างหากเท่าที่ได้)

แต่ความท้าทายที่สุดในแวดวง fintech เนี่ย จริงๆ คือไม่มีใครเชื่อใจกันได้จริง แบงค์จะทำงานกับ fintech ก็ต่อเมื่อเป็นการ acquired เข้ามาเป็นลูกของแต่ละแบงค์หรือถือหุ้นใหญ่เท่านั้น เพราะ mindset แย่ๆ อย่างที่ Fintech Startup mentors ชอบสอนกันว่า Fintech กำลังจะมา disrupt ธนาคารแล้วนะๆๆ คำนี้เนี่ยแหละ ที่เคลมใหญ่แต่สร้างความวุ่นวายและทำให้เกิดการแตกแยกโดยไม่รู้ตัว จนในที่สุด เด็กก็ตั้งเป้าแต่จะ disrupt ผู้ใหญ่ ส่วนผู้ใหญ่ก็กลัวเด็กจะมา disrupt ทั้งๆ ที่ถ้าเราย้อนไปมองดูปัจจัยสองสามข้อเมื่อกี้จะเห็นว่ามันไม่มีใครรอดถ้าทำงานแยกกัน มันตายทั้งคู่ ฝั่งนึงก็เก่งขึ้นไม่ได้อย่างรวดเร็ว อาจต้องใช้เวลานานมาก ส่วนอีกฝั่งนึงก็ไม่มีวันโตเพราะไม่เคยมีข้อมูลในมือจริงๆ เลย เป็นต้น

งานที่ท้าทายของ Fintech จริงๆ คือการทำให้คนที่ควรเป็น partners กันน่ะเห็นประโยชน์ร่วมกัน และไม่ได้อยู่ร่วมกันแบบปรปักษ์ที่ต้องจำใจจับมือกัน แต่มันเป็นการแสดงความจริงใจต่อกันที่จะเห็นว่าเราจะช่วยให้ Financial Business ในเมืองไทยมี ecosystem ที่ดีขึ้น มี platforms ที่ดีให้ใช้ ผ่านองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ และผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากบริษัทสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กันได้ยังไง มันเป็นเรื่องของความสามัคคีหรือแตกแยกล้วนๆ เลยครับ

52332955 10214064339737682 6234416145659592704 o
พี่หลงและงานพูด

การเป็น UX Designer จะมีวันนึงที่เราจะต้องตามหาคำตอบของโจทย์ที่ยากมากๆ เรามีวิธีรับมือยังไงกับโจทย์ที่ได้รับมาบ้าง

เรารับมือด้วยการหาคำถามที่ดีที่สุดให้เจอก่อน ด้วยทุกวิถีทางที่จะทำได้เลยนะ เพราะเราเชื่อว่าถ้าต้องตอบคำถามที่ดีที่สุดให้ได้สักข้อนึง เทียบกับการตอบคำถามที่ยังไม่ตรงหลายๆ ข้อ เราควรเสียเวลาทำแบบแรกมากกว่า

แล้วก็ต้องถ่อมใจไว้ด้วยว่าคนตั้งคำถามได้ดีที่สุดอาจไม่ใช่เราด้วยนะ บางทีเราตั้งได้ตื้นสุดๆ เลยก็มี แต่ยิ่งคุยกับคนในระบบงานหรือในโปรเจคต์เยอะๆ บางคนจะเป็นคนตั้งคำถามที่ดีกว่าให้เราแทน ซึ่งก็ดี บางทีเขารู้จริงกว่าเรา ก็ต้องฟังให้ออก ต้องหาคำถามนั้นให้เจอ

ยิ่งคุยกับคนในระบบงานหรือในโปรเจคต์เยอะๆ บางคนจะเป็นคนตั้งคำถามที่ดีกว่าให้เราแทน ซึ่งก็ดี บางทีเขารู้จริงกว่าเรา ก็ต้องฟังให้ออก ต้องหาคำถามนั้นให้เจอ

เท่าที่เจอคือ โจทย์ที่ยากมากๆ มักมาพร้อมกับความคลุมเครือ หลายตัวแปร ชวนงง ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี ดีที่สุดสำหรับเราคือหาจุดเริ่มต้นจากตรงไหนของเรื่องก็ได้ ให้ได้สักอย่างก่อน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลของ business unit ตอนนี้ หรือปัญหาในที่ทำงานเขา หรือ product มันกำลังโดน disrupted หรือบางทีถ้าไม่รู้ว่าปัญหาเป็นอะไรจริงๆ แล้วเป็นบริษัทที่อยู่มาสักพักแล้ว เราจะไปเริ่มที่ product supports กับ sales เขาสองคนนี้คือคนที่เจอปัญหาจากลูกค้าเยอะและตลอดเวลา เวลาไม่รู้จะเริ่มที่ไหนเราจะไปเริ่มที่ปัญหาที่ลูกค้าบอกพวกเขามา แล้วเราก็เอามา sorting จัดกลุ่มจนเห็นว่าน้ำหนักมันไปตกเรื่องอะไร

ถ้าพี่หลงกำลังมองหาน้องในทีมเพิ่ม คิดว่า Portfolio แบบไหนที่เรากำลังมองหา

เราชอบคนสองแบบ แบบแรกคือคนที่เรียนตรงสายมา พร้อมกับฝึก mindset ของตัวเองให้เป็นกลางมาแล้ว ไม่มี bias หรือความเชื่อมั่นไปเองติดมาเยอะเกินไป ข้อนี้จำเป็นเพราะตลอดเวลาที่ทำงานมาเองเรารู้สึกว่า researchers เป็นอาชีพที่ต้องรู้ตัวว่าเราพูดแทนคนอื่นที่เราไปสัมภาษณ์มา เราเลยต้องฝึกตัวเองไม่ให้เอาตัวเองไปมีอิทธิพลในการเน้นสิ่งที่ลูกค้าอยากจะพูดเพื่อให้ผลรีเสิร์ชมันถูกใจเรา ซึ่งพวกนี้ถ้าเรียนมาแล้ว ก็ไม่ควรต้องให้มาสอนอีก เพราะเอาจริงๆ มันสอนยากนะ

ในขณะที่คนอีกแบบที่เราอยากได้มาร่วมทีมคือคนที่คิดว่าตัวเองรู้หลายอย่าง แต่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังจะต้องไปรีเสิร์ชทั้งหลายมากนัก เหมือนน้ำไม่เต็มแก้ว คือเหมือนคนกลุ่มนี้จะทิ้งความเชื่อว่าตัวเองถูก หรือไม่เผลอตั้ง assumption ตอนที่ไม่ควรตั้งได้ง่ายกว่า เทรนง่ายกว่าเพราะเราไม่เชื่อว่าตัวเองเก่งเกินไป

นอกจากพี่หลงจะทำงานประจำแล้ว ได้ข่าวว่าจัดงาน Sketch Meetup อยากให้เล่าให้ฟังหน่อยว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ตอนนั้นรู้สึกตัวว่าต้องเริ่มทำ mobile UI แล้วก็คิดว่า sketch นี่มันดีแฮะ มันทำ automation ให้เราได้หลายอย่างมากๆ และมันช่วยเราทำ research เรื่อง UI ผ่าน wireframe เร็วๆ ได้ด้วย แล้วความเป็นระบบของ Sketch มันยิ่งดีขึ้นไปอีกถ้าเราเป็นคนคิดอย่างเป็นระเบียบ มันจะยิ่งง่ายขึ้นไปอีกห้าเท่าสิบเท่า มันเป็นเครื่องมือสำหรับคนขี้เกียจที่แท้จริง ตอนนั้นก็เลยหาคนสอน ตอนนั้นไปเรียนกับคุณนน Sappawish Siripon ซึ่งตอนนี้กลายเป็น Lead UI Designer ที่ KBTG ไปแล้ว นั่งสอนนั่งคุยกัน แล้วก็เลยมา join group

img 1259
งาน Sketch Meetup ติดตามกันได้ในกรุ๊ป Facebook เลย

พอทำไปสักพักเราก็อยากแบ่งปันพวกเทคนิคลัดๆ ที่เราเจอจาก plugins และวิธีการต่างๆ เนี่ยให้คนอื่น ตามประสาเรานะ เราก็จะคิดเป็นเฟรมเวิร์กตั้งแต่ต้นจนจบเลยว่าทำยังไงให้มันเร็ว พอเขามี meetup ก็จะชอบไปแชร์บ่อยๆ แล้วพอต่อมาแอดมินหลัก (เพิร์ธ Designil) เขาต้องไปเรียนต่อแล้วเขาก็เลยถามว่าเราอยากจะทำไหม ตอนนี้ก็เลยรับมาทำครับ สนุกดี

img 1257
งาน Sketch Meetup สอนใช้โปรแกรม Sketch กันอย่างสนุกนสนาน

งานอดิเรก

ไปเรียนคอร์สสั้นๆ กับซื้อหนังสือ (ใช่ ซื้อ อ่านช้ามากอย่าเรียกว่าอ่านเลย) เรียนคอร์สสั้นๆ นี่ชอบมาก รู้สึกว่าได้รับการแบ่งปันความรู้จากคนอื่น แล้วทุกวันนี้มันมีอะไรดีๆ ให้เรียนเยอะมาก สอนเขียนตัวหนังสือสวย (calligraphy) สอนถักเปีย (อันนี้เพื่อนทำไม่ได้ไปเรียน แต่เห็นคอร์สเพื่อนแล้วสนุกดี) สอนทำเค้ก สอนทำกระเป๋า ลามไปจนถึงกลับไปเรียน ป.โท ที่ธรรมศาสตร์อีกเพราะเขาเปิดคณะใหม่มาคณะนึงน่าเรียนมาก อ้อแล้วก็ดูหนัง มีความสุขมากกับการได้ดูหนังดีๆ

บริหารเวลาอย่างไร ต้องเรียน ทำงาน ไหนจะจัดกิจกรรมอีก หาแรงบันดาลใจมาจากไหนบ้าง

เราเป็นคนที่ตารางพังมากนะ แต่พยายามอัดๆๆๆ ทุกอย่างเข้าไปในตารางให้ได้ก่อนเลยแล้วรับปากกับตารางไว้แล้วก็จะพยายามไม่เลื่อน พยายามตะลุยให้เสร็จ แต่ตอนใส่เข้าไปเราจะกะไว้แล้วว่าเวลาแค่นั้นมันน่าจะทัน

ยิ่งทำเยอะเรายิ่งได้รู้นะ เราชอบมากเพราะเรารู้สึกว่าคนเราหยุดเรียนไม่ได้แล้วสมัยนี้ ไม่เรียนคือตกยุค ไม่เรียนคือมันจะใช้ชีวิตในปัจจุบันได้ไม่สนุกเท่ากับเรารู้ทันอะไรที่ดีๆ และรู้เท่าทันอะไรที่มันไม่ดี

คำแนะนำสำหรับดีไซน์เนอร์มือใหม่

เอาดีสักอย่างครับ จะมองปัจจุบันเอาที่ชอบก็ได้ หรือจะมองอนาคตเผื่อไว้หน่อยก็ได้ว่าอีกหน่อยอยากทำอาชีพนี้ไปนานๆ ไหม อาชีพนี้มันพัฒนาได้ไหม มันพาเราไปถึงเงินเดือนสูงๆ ดูแลคนที่บ้านได้ หรือมันพาเราไปทำงานเมืองนอกได้อย่างที่เราฝันไว้หรือเปล่า ถ้าน่าจะไปไม่ถึง ให้ดูไว้เลยว่าเราต้องเรียนอะไรเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องเป็นปริญญาอีกใบหรืออนุปริญญา

แล้วอย่าดูถูกความรู้ที่เราเก็บเล็กผสมน้อยมาระหว่างทาง มันอาจเป็นงานอดิเรก แต่ถ้ามันเป็นความรู้ที่จริง ความรู้ที่ทันโลก มันคือดี ใครจะรู้อีกหน่อยอาจจะมีคนต้องการความถนัดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของเราอย่างอาชีพใหม่ๆ ทุกวันนี้บนโลกก็ได้

ฝากผลงานให้เพื่อนๆได้ติดตาม

ทำเว็บชื่อหลงดอทเน็ต (lhong.net) และเว็บขายงานชื่อ consumotive.com คร้าบ อ้อ แล้วก็ช่วงนี้เริ่มรู้สึกว่า framework การทำ listening session กับ user เราเริ่มแข็งแรงแล้ว อยากทำคอร์สแบบเน้นสอนสัมภาษณ์ถอดไอเดียอย่างเดียวเลย เพราะมันเอาไปใช้กับงานได้หลากหลายและสำหรับใครที่อยากเปลี่ยนอาชีพตัวเองมาเน้นทำ UX Researcher ให้เป็นจริงๆ เราว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช่ที่สุดแล้วนะในสายตาเรา กำลังร่างหลักสูตรอยู่ฮะอีกสักเดือนสองเดือนคงจะลองเปิดดูสักครั้งว่ามีคนสนใจมั้ย


สำหรับคนที่ชอบอ่านบทความประวัติอาชีพที่น่าสนใจ เส้นทางอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นทั้งทำงานบริษัท ฟรีแลนซ์หรือธุรกิจส่วนตัว ติดตามอ่านกันได้เป็นประจำในบทความชุด Designil Chats ทุกสัปดาห์

อ่าน Designil Chats EP.1 สัมภาษณ์คุณพิชญ์ PRODUCT DESIGNER คนไทยในออสเตรเลีย
อ่าน Designil Chats EP2 ทำความรู้จักอาชีพขายธีมบน THEMEFOREST กับ NUTZUMI
อ่าน Designil Chats EP3 เส้นทางอาชีพกับป๋อม สุธัม UX Designer
อ่าน Designil Chats EP4 AOMAM สร้างรายได้กับการขาย Icon

Natk

Natk

UI Specialist ซิดนีย์ ออสเตรเลีย | ประสบการณ์ทำงาน 11 ปี | สนใจเรื่อง User Interface, User Experience, Accessibility, Education | ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Tech ไทยในออสเตรเลีย | ผู้ดูแลเว็บไซต์ Designil
บทความทั้งหมด