7 วิธีทำสัญญาจ้างงานสำหรับ Freelance ต้องเขียนก่อนโดนโกง !!

designil

สัญญาจ้างงานสำหรับฟรีแลนซ์ สำคัญที่สุด

เชื่อว่าทุกคนที่เคยผ่านการทำงานแบบ Freelance มาพักหนึ่งแล้วแล้วนะครับ และน่าจะมีดวงได้เจอเคสที่ผู้ว่าจ้างจ่ายไม่ครบ หรือเอางานไปแล้วหนีไปไม่จ่ายสักบาทอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เราที่เป็นฟรีแลนซ์ก็ได้แต่ยืนมองแบบงง ๆ เพราะทำอะไรไม่ได้ หลายคนเลยแก้ด้วยการเก็บเงินมัดจำก่อนเริ่มงาน

การเก็บมัดจำก่อนเริ่มงานเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ช่วยชีวิตฟรีแลนซ์ได้ตลอด ผมเคยเจอเคสที่จ่ายมา 50% ตอนเริ่มงาน แต่ตอนจบงานหอบงานหายไปเลย ซึ่งผมก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการพยายามโทรติดต่อเค้า (แน่นอนว่าพี่แกไม่รับสาย) จนตอนนี้ผ่านมาเป็นปีแล้วยังไม่ได้

ทางแก้ที่จะช่วยให้ฟรีแลนซ์ตาดำ ๆ อย่างเราได้รับค่าจ้าง 100% และลูกค้าไม่หอบงานหนีไป คือ การเขียนใบสัญญา

freelancer03 การทำสัญญาจ้างงานฟรีแลนซ์
การทำสัญญาจ้างงาน

การทำสัญญาจ้างงานสำหรับฟรีแลนซ์คืออะไร

ใบสัญญา คือ เอกสารที่ระบุการจ้างงานระหว่างผู้จ้างกับฟรีแลนซ์ ซึ่งจะมีรายละเอียดแบ่งเป็นข้อ ๆ เกี่ยวกับระยะเวลางาน เงินที่ต้องจ่าย แบ่งเป็นกี่งวด ถ้างานไม่เสร็จในกำหนดจะเกิดอะไรขึ้น (เคยเจอแบบตัดเงินวันละ 1% อะไรแบบนี้ครับ) ฯลฯ

ปกติถ้าเราดีลงานกับบริษัทใหญ่ ๆ จะมีการร่างสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้ว เพราะบริษัทใหญ่บางทีก็กลัวฟรีแลนซ์โกงเหมือนกัน แต่เท่าที่เคยเจอมาบริษัทใหญ่ ๆ จะไม่ค่อยโกงครับ ที่ชอบโกงส่วนใหญ่คือลูกค้ารายย่อย หรือบริษัทเล็ก ๆ ที่ไม่มีชื่อ ไม่มีเขียนสัญญาจ้างงานทั้งนั้น

ผมได้ไปอ่านเจอในบทความของ GraphicDesignerBlender เค้าแนะนำเกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่ต้องเขียนระบุในใบสัญญาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการโดนโกง (ทั้งจากฝ่ายผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง)

การเขียนสัญญาให้รัดกุมจะทำให้เราทำงานได้สบายใจมากขึ้น และยังทำให้ดู Professional มากขึ้นด้วยครับ มาดูกันว่า 5 สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมใส่ในใบสัญญา มีอะไรบ้าง:

7 วิธีการทำสัญญาจ้างงาน สำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์

1. เขียนให้ชัดเจนว่าจะส่งงานให้ดูกี่แบบ และแก้ไขได้กี่ครั้ง

เคยเจองานที่ต้องทำไม่จบไม่สิ้น แก้เป็นร้อยรอบมั้ยครับ? นั่นเป็นผลจากการที่เราไม่ทำสัญญาระบุให้เรียบร้อยนั่นเอง

เราต้องระบุไว้เลยว่าในค่าจ้าง XXXXX บาท ตอนเริ่มงานเราจะทำงานมาให้เลือกกี่แบบ (Option) และในราคานี้เราจะแก้ไขให้สูงสุดกี่ครั้ง (Revision)

นอกจากนั้นอาจจะมีการระบุเพิ่มเติมด้วยว่าถ้ามีการขอ Option เพิ่มจากที่บอกไว้ หรือแก้ไขเพิ่มจากจำนวนที่บอกไว้ในสัญญา เราจะคิดครั้งละเท่าไหร่ และการแก้ไขแต่ละครั้งจะเสร็จในเวลากี่วัน

พอทำแบบนี้แล้วลูกค้าก็ไม่สามารถสั่งแก้บ่อย ๆ แบบบุฟเฟ่ต์ได้ เค้าต้องคิดก่อนแก้เสมอ ซึ่งเราก็จะแก้งานโดยไม่รู้สึกเสียเวลาเราด้วย เพราะกำหนดจำนวนครั้งการแก้ไขไว้แล้ว

2. กำหนดค่ามัดจำที่ต้องจ่ายก่อนเริ่มงาน

การรับงานทุกครั้งในฐานะ Freelance ควรการเก็บค่ามัดจำเสมอ ซึ่งปกติจะคิดเป็น % จากราคางานทั้งหมด เช่น 30% หรือ 50%

เงินมัดจำจะเป็นตัววัดว่าลูกค้าคนนี้จริงจังกับการทำงานกับเรามั้ย ถ้าเค้าดึงดันไม่ยอมจ่ายเงินมัดจำ ก็เป็นไปได้ว่าเค้าอาจจะมาต่อราคากับเราเราตอนงานเสร็จก็ได้ นอกจากนั้นเงินมัดจำยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดได้ในกรณีที่โปรเจคล่ม ซึ่งอันนี้เป็นที่มาของข้อถัดไปครับ

3. กำหนดค่ายกเลิก กันลูกค้าทิ้งงาน

มีหลายครั้งที่บางงานถูกยกเลิกไปกลางคัน หรือบางทีคนว่าจ้างหัวหมอ จ้างดีไซเนอร์เอาไอเดีย แล้วไปจ้างคนอื่นทำอีกทีโดยไม่ได้จ่ายให้คนคิดไอเดียก็มี ฟรีแลนซ์ตาดำ ๆ อย่างเราเลยต้องมีแผนสู้กับพวกนี้ครับ

ค่ายกเลิก เป็นสิ่งสำคัญมากในการเขียนสัญญาเลยครับ โดยเฉพาะเมื่อเรามีลางว่าจะไปเจอกับลูกค้าตรรกะประเภท “ผมไม่ได้เอางานคุณไปใช้ ผมก็ไม่ต้องจ่ายสิ” หรือ “ผมให้คนอื่นมาทำแทนคุณแล้ว ก็ไม่ต้องจ่ายสิ” ซึ่งในไทยมีเยอะมากกกกกกกกกก

การคิดค่ายกเลิกงาน ถ้าแบบเบาหน่อยอาจจะเป็นการเก็บมัดจำไปเลย แต่ถ้าแบบหนักก็จะเป็นการเก็บมัดจำ + เงินอีกกี่ % เพิ่มเติมครับ เขียนระบุไว้ในสัญญาให้เซ็นทั้งสองฝ่าย คนจ้างก็หนีไปเนียน ๆ ไม่ได้แล้วครับ

4. แจ้งลิขสิทธิ์ของผลงาน และผู้รับผิดชอบเรื่องลิขสิทธิ์

โดยปกติฟรีแลนซ์จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานทั้งหมดที่ทำขึ้น ซึ่งก็ควรคุยกับผู้จ้างให้เรียบร้อยว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อะไร บางครั้งเป็นตัวละคร Mascot ลิขสิทธิ์ของเราที่ลูกค้าต้องการนำไปใช้ (เช่น เอา Mascot LINE ไปใช้ในสินค้า 7-11) ผู้จ้างก็จะได้ลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ในสิ่งที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ลิขสิทธิ์ของตัวละครยังเป็นของเราครับ

สำหรับงานทำเว็บไซต์ ทำกราฟฟิกอาจจะเจอเรื่องการซื้อ Font, Stock Photo จากที่อื่นมาใช้ ซึ่งต้องระบุว่าใครเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ใน Font, Stock Photo ที่ซื้อมา และถ้าโดนแจ้งเรื่องลิขสิทธิ์ใครจะรับผิดชอบ

บางทีลูกค้าเอา Font ผิดลิขสิทธิ์มาให้ใช้เฉยเลย ไม่ว่าด้วยความไม่รู้หรือตั้งใจก็แล้วแต่ เราก็ต้องเขียนสัญญาดี ๆ ป้องกันตัวไว้ครับ ไม่งั้นโดนฟ้องเป็นแสน

อัพเดทเรื่องลิขสิทธิ์นะครับ Jasmine White:

ถ้าทำงานไว้ แล้วมีคนมาขอซื้องานนั้น ลิขสิทธิ์เป็นของคนทำ

ถ้ามีการจ้างให้ออกแบบให้ทำงานตามสั่ง งานที่เสร็จสิทธิ์เป็นของคนจ้าง ถ้าไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาครับ

5. กำหนดระยะเวลาการจ่ายเงิน และรอบการจ่ายเงินให้ดี

เราควรคุยกับลูกค้าว่าจะจ่ายเงินโดยแบ่งเป็นทั้งหมดกี่ครั้ง และจ่ายภายในกี่วันหลังงานเสร็จ ถ้าทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ จะมีการกำหนดไว้เลยว่าจะจ่ายภายใน 30, 60, 90 วันหลังส่งมอบงานอะไรแบบนี้ครับ ศัพท์ในวงการทำเว็บไซต์เรียกว่า “Credit” เช่น Credit 30 วัน, Credit 60 วัน

ถ้าเขียนแบบโหด ๆ หน่อย คือ ระบุไปเลยว่าถ้าไม่จ่ายเงินในเวลาที่กำหนดจะมีการปรับเท่าไหร่ หรือถ้าเป็นงานเว็บไซต์ก็อาจนำเว็บไซต์ลง (กรณีที่เราดูแลโฮสติ้งให้เค้า) ก็ได้ครับ

6. ปรับลูกค้าก็ได้ ถ้าลูกค้าทำให้งานล่าช้า

บางครั้งเราดีไซน์เสร็จแล้วส่งไป ลูกค้าไม่ยอม Feedback กลับมา หรือเขียนโค้ดเสร็จแล้วส่งไป ลูกค้าไม่ยอมส่ง Content มาให้ใส่ กลายเป็นว่างานล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญา แทนที่เราจะเอาเวลามาเริ่มงานลูกค้าคนต่อไปได้ทันที เราก็เสียเวลารอไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ

เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ เราควรกำหนดไว้ชัดเจนเลยครับ ว่าลูกค้าต้องให้ Feedback เราภายในกี่วัน หรือส่ง Content ให้เราภายในวันไหน โดยถ้าลูกค้าส่งไม่ทันในเวลาที่กำหนด อาจจะให้เพิ่มวันทำงานส่วนของเราเข้าไปอีก 1 วันทุกครั้ง หรือปรับสัปดาห์ละ XXXX บาทอะไรแบบนี้ครับ (อันนี้ฝรั่งเค้าแนะนำมาครับ โหดมาก)

พอทำแบบนี้ลูกค้าเค้าจะช่วยเราทำงานให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นผลดีกับทั้งฝ่ายเราและฝ่ายลูกค้าด้วย

7. ระบุบริการหลังการขายในสัญญาให้ชัดเจน

เคยเจอมั้ยครับ ทำเว็บเสร็จไปเป็นปีแล้ว ลูกค้าติดต่อมาให้แก้บั๊กเฉยเลย

ในงานบางประเภท เช่น ฟรีแลนซ์รับทำเว็บไซต์ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครับ ซึ่งเราก็ต้องเขียนไปในสัญญาเลยว่าเราซัพพอร์ทแก้บั๊กให้ฟรีในระยะเวลากี่เดือนหลังงานเสร็จ (ปกติจะประมาณ 1 เดือน) ถ้าหลังจากนี้ก็ต้องให้จ่ายเงินครับ เพราะให้เรามางมโค้ดเก่านี่ใช้เวลาเยอะเหมือนกัน

ในกรณีที่ลูกค้าอาจจะ Request ฟีเจอร์เพิ่มในอนาคต หรือจะจ้างให้เราอัพเดทคอนเท้นท์ให้ เราก็สามารถระบุไปในสัญญาได้เลยว่าจะคิดค่าบริการอย่างไร ชั่วโมงละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่

ดาวน์โหลดตัวอย่างสัญญาจ้างสำหรับฟรีแลนซ์, สัญญาจ้างทำเว็บไซต์

ตัวอย่างสัญญาจ้างงาน
ตัวอย่างสัญญาจ้างฟรีแลนซ์รับทำเว็บไซต์

สรุปสิ่งที่ต้องเขียนในการทำสัญญา

  1. ส่งงานให้ดูกี่แบบ แก้ไขได้กี่ครั้ง
  2. มัดจำกี่บาท
  3. ค่ายกเลิกงานเท่าไหร่
  4. ลิขสิทธิ์เป็นของใคร
  5. จ่ายเงินในระยะเวลากี่วันหลังงานเสร็จ
  6. หากลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานให้เสร็จ จะปรับเท่าไหร่
  7. บริการหลังการขายเป็นอย่างไร

สำหรับฟรีแลนซ์ที่เข้ามาอ่านแล้วรู้สึกว่าขาดอะไรไป สามารถแจ้งได้ในส่วนคอมเม้นท์เลยครับ ส่วนใครที่มีคนรู้จักเป็นฟรีแลนซ์ หรืออยากเป็นฟรีแลนซ์ แชร์บทความนี้ให้เค้าอ่านดูครับ

อยากเป็นฟรีแลนซ์เราต้องรู้เท่าทันผู้จ้างครับ ขออวยพรให้ฟรีแลนซ์ทุกท่านเจอแต่ลูกค้าดี ๆ

อ่านจบแล้ว? เราขอแนะนำบทความนี้

designil

designil

Data engineer & WordPress Developer ทำงานที่บริษัทแคนว่า ซิดนีย์ออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Designil, DataTH ชอบอ่านบทความใหม่ๆ ตลอดเวลา และชอบสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้ภาษาที่เข้าใจง่าย ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะครับ
บทความทั้งหมด

Comments are closed.