7 วิธีทำสัญญาจ้างงานสำหรับ Freelance ต้องเขียนก่อนโดนโกง !!

designil

สัญญาจ้างงานสำหรับฟรีแลนซ์ สำคัญที่สุด

เชื่อว่าทุกคนที่เคยผ่านการทำงานแบบ Freelance มาพักหนึ่งแล้วแล้วนะครับ และน่าจะมีดวงได้เจอเคสที่ผู้ว่าจ้างจ่ายไม่ครบ หรือเอางานไปแล้วหนีไปไม่จ่ายสักบาทอย่างน้อยหนึ่งครั้ง เราที่เป็นฟรีแลนซ์ก็ได้แต่ยืนมองแบบงง ๆ เพราะทำอะไรไม่ได้ หลายคนเลยแก้ด้วยการเก็บเงินมัดจำก่อนเริ่มงาน

การเก็บมัดจำก่อนเริ่มงานเพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ช่วยชีวิตฟรีแลนซ์ได้ตลอด ผมเคยเจอเคสที่จ่ายมา 50% ตอนเริ่มงาน แต่ตอนจบงานหอบงานหายไปเลย ซึ่งผมก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการพยายามโทรติดต่อเค้า (แน่นอนว่าพี่แกไม่รับสาย) จนตอนนี้ผ่านมาเป็นปีแล้วยังไม่ได้

ทางแก้ที่จะช่วยให้ฟรีแลนซ์ตาดำ ๆ อย่างเราได้รับค่าจ้าง 100% และลูกค้าไม่หอบงานหนีไป คือ การเขียนใบสัญญา

freelancer03 การทำสัญญาจ้างงานฟรีแลนซ์
การทำสัญญาจ้างงาน
📖 บทความนี้มีอะไรบ้าง แสดง

การทำสัญญาจ้างงานสำหรับฟรีแลนซ์คืออะไร

ใบสัญญา คือ เอกสารที่ระบุการจ้างงานระหว่างผู้จ้างกับฟรีแลนซ์ ซึ่งจะมีรายละเอียดแบ่งเป็นข้อ ๆ เกี่ยวกับระยะเวลางาน เงินที่ต้องจ่าย แบ่งเป็นกี่งวด ถ้างานไม่เสร็จในกำหนดจะเกิดอะไรขึ้น (เคยเจอแบบตัดเงินวันละ 1% อะไรแบบนี้ครับ) ฯลฯ

ปกติถ้าเราดีลงานกับบริษัทใหญ่ ๆ จะมีการร่างสัญญาจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้ว เพราะบริษัทใหญ่บางทีก็กลัวฟรีแลนซ์โกงเหมือนกัน แต่เท่าที่เคยเจอมาบริษัทใหญ่ ๆ จะไม่ค่อยโกงครับ ที่ชอบโกงส่วนใหญ่คือลูกค้ารายย่อย หรือบริษัทเล็ก ๆ ที่ไม่มีชื่อ ไม่มีเขียนสัญญาจ้างงานทั้งนั้น

ผมได้ไปอ่านเจอในบทความของ GraphicDesignerBlender เค้าแนะนำเกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่ต้องเขียนระบุในใบสัญญาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการโดนโกง (ทั้งจากฝ่ายผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง)

การเขียนสัญญาให้รัดกุมจะทำให้เราทำงานได้สบายใจมากขึ้น และยังทำให้ดู Professional มากขึ้นด้วยครับ มาดูกันว่า 5 สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมใส่ในใบสัญญา มีอะไรบ้าง:

7 วิธีการทำสัญญาจ้างงาน สำหรับคนทำงานฟรีแลนซ์

1. เขียนให้ชัดเจนว่าจะส่งงานให้ดูกี่แบบ และแก้ไขได้กี่ครั้ง

เคยเจองานที่ต้องทำไม่จบไม่สิ้น แก้เป็นร้อยรอบมั้ยครับ? นั่นเป็นผลจากการที่เราไม่ทำสัญญาระบุให้เรียบร้อยนั่นเอง

เราต้องระบุไว้เลยว่าในค่าจ้าง XXXXX บาท ตอนเริ่มงานเราจะทำงานมาให้เลือกกี่แบบ (Option) และในราคานี้เราจะแก้ไขให้สูงสุดกี่ครั้ง (Revision)

นอกจากนั้นอาจจะมีการระบุเพิ่มเติมด้วยว่าถ้ามีการขอ Option เพิ่มจากที่บอกไว้ หรือแก้ไขเพิ่มจากจำนวนที่บอกไว้ในสัญญา เราจะคิดครั้งละเท่าไหร่ และการแก้ไขแต่ละครั้งจะเสร็จในเวลากี่วัน

พอทำแบบนี้แล้วลูกค้าก็ไม่สามารถสั่งแก้บ่อย ๆ แบบบุฟเฟ่ต์ได้ เค้าต้องคิดก่อนแก้เสมอ ซึ่งเราก็จะแก้งานโดยไม่รู้สึกเสียเวลาเราด้วย เพราะกำหนดจำนวนครั้งการแก้ไขไว้แล้ว

2. กำหนดค่ามัดจำที่ต้องจ่ายก่อนเริ่มงาน

การรับงานทุกครั้งในฐานะ Freelance ควรการเก็บค่ามัดจำเสมอ ซึ่งปกติจะคิดเป็น % จากราคางานทั้งหมด เช่น 30% หรือ 50%

เงินมัดจำจะเป็นตัววัดว่าลูกค้าคนนี้จริงจังกับการทำงานกับเรามั้ย ถ้าเค้าดึงดันไม่ยอมจ่ายเงินมัดจำ ก็เป็นไปได้ว่าเค้าอาจจะมาต่อราคากับเราเราตอนงานเสร็จก็ได้ นอกจากนั้นเงินมัดจำยังเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดได้ในกรณีที่โปรเจคล่ม ซึ่งอันนี้เป็นที่มาของข้อถัดไปครับ

3. กำหนดค่ายกเลิก กันลูกค้าทิ้งงาน

มีหลายครั้งที่บางงานถูกยกเลิกไปกลางคัน หรือบางทีคนว่าจ้างหัวหมอ จ้างดีไซเนอร์เอาไอเดีย แล้วไปจ้างคนอื่นทำอีกทีโดยไม่ได้จ่ายให้คนคิดไอเดียก็มี ฟรีแลนซ์ตาดำ ๆ อย่างเราเลยต้องมีแผนสู้กับพวกนี้ครับ

ค่ายกเลิก เป็นสิ่งสำคัญมากในการเขียนสัญญาเลยครับ โดยเฉพาะเมื่อเรามีลางว่าจะไปเจอกับลูกค้าตรรกะประเภท “ผมไม่ได้เอางานคุณไปใช้ ผมก็ไม่ต้องจ่ายสิ” หรือ “ผมให้คนอื่นมาทำแทนคุณแล้ว ก็ไม่ต้องจ่ายสิ” ซึ่งในไทยมีเยอะมากกกกกกกกกก

การคิดค่ายกเลิกงาน ถ้าแบบเบาหน่อยอาจจะเป็นการเก็บมัดจำไปเลย แต่ถ้าแบบหนักก็จะเป็นการเก็บมัดจำ + เงินอีกกี่ % เพิ่มเติมครับ เขียนระบุไว้ในสัญญาให้เซ็นทั้งสองฝ่าย คนจ้างก็หนีไปเนียน ๆ ไม่ได้แล้วครับ

4. แจ้งลิขสิทธิ์ของผลงาน และผู้รับผิดชอบเรื่องลิขสิทธิ์

โดยปกติฟรีแลนซ์จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานทั้งหมดที่ทำขึ้น ซึ่งก็ควรคุยกับผู้จ้างให้เรียบร้อยว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อะไร บางครั้งเป็นตัวละคร Mascot ลิขสิทธิ์ของเราที่ลูกค้าต้องการนำไปใช้ (เช่น เอา Mascot LINE ไปใช้ในสินค้า 7-11) ผู้จ้างก็จะได้ลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ในสิ่งที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ลิขสิทธิ์ของตัวละครยังเป็นของเราครับ

สำหรับงานทำเว็บไซต์ ทำกราฟฟิกอาจจะเจอเรื่องการซื้อ Font, Stock Photo จากที่อื่นมาใช้ ซึ่งต้องระบุว่าใครเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ใน Font, Stock Photo ที่ซื้อมา และถ้าโดนแจ้งเรื่องลิขสิทธิ์ใครจะรับผิดชอบ

บางทีลูกค้าเอา Font ผิดลิขสิทธิ์มาให้ใช้เฉยเลย ไม่ว่าด้วยความไม่รู้หรือตั้งใจก็แล้วแต่ เราก็ต้องเขียนสัญญาดี ๆ ป้องกันตัวไว้ครับ ไม่งั้นโดนฟ้องเป็นแสน

อัพเดทเรื่องลิขสิทธิ์นะครับ Jasmine White:

ถ้าทำงานไว้ แล้วมีคนมาขอซื้องานนั้น ลิขสิทธิ์เป็นของคนทำ

ถ้ามีการจ้างให้ออกแบบให้ทำงานตามสั่ง งานที่เสร็จสิทธิ์เป็นของคนจ้าง ถ้าไม่ได้ระบุไว้ในสัญญาครับ

5. กำหนดระยะเวลาการจ่ายเงิน และรอบการจ่ายเงินให้ดี

เราควรคุยกับลูกค้าว่าจะจ่ายเงินโดยแบ่งเป็นทั้งหมดกี่ครั้ง และจ่ายภายในกี่วันหลังงานเสร็จ ถ้าทำงานกับบริษัทใหญ่ ๆ จะมีการกำหนดไว้เลยว่าจะจ่ายภายใน 30, 60, 90 วันหลังส่งมอบงานอะไรแบบนี้ครับ ศัพท์ในวงการทำเว็บไซต์เรียกว่า “Credit” เช่น Credit 30 วัน, Credit 60 วัน

ถ้าเขียนแบบโหด ๆ หน่อย คือ ระบุไปเลยว่าถ้าไม่จ่ายเงินในเวลาที่กำหนดจะมีการปรับเท่าไหร่ หรือถ้าเป็นงานเว็บไซต์ก็อาจนำเว็บไซต์ลง (กรณีที่เราดูแลโฮสติ้งให้เค้า) ก็ได้ครับ

6. ปรับลูกค้าก็ได้ ถ้าลูกค้าทำให้งานล่าช้า

บางครั้งเราดีไซน์เสร็จแล้วส่งไป ลูกค้าไม่ยอม Feedback กลับมา หรือเขียนโค้ดเสร็จแล้วส่งไป ลูกค้าไม่ยอมส่ง Content มาให้ใส่ กลายเป็นว่างานล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญา แทนที่เราจะเอาเวลามาเริ่มงานลูกค้าคนต่อไปได้ทันที เราก็เสียเวลารอไปโดยเปล่าประโยชน์ครับ

เพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ เราควรกำหนดไว้ชัดเจนเลยครับ ว่าลูกค้าต้องให้ Feedback เราภายในกี่วัน หรือส่ง Content ให้เราภายในวันไหน โดยถ้าลูกค้าส่งไม่ทันในเวลาที่กำหนด อาจจะให้เพิ่มวันทำงานส่วนของเราเข้าไปอีก 1 วันทุกครั้ง หรือปรับสัปดาห์ละ XXXX บาทอะไรแบบนี้ครับ (อันนี้ฝรั่งเค้าแนะนำมาครับ โหดมาก)

พอทำแบบนี้ลูกค้าเค้าจะช่วยเราทำงานให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นผลดีกับทั้งฝ่ายเราและฝ่ายลูกค้าด้วย

7. ระบุบริการหลังการขายในสัญญาให้ชัดเจน

เคยเจอมั้ยครับ ทำเว็บเสร็จไปเป็นปีแล้ว ลูกค้าติดต่อมาให้แก้บั๊กเฉยเลย

ในงานบางประเภท เช่น ฟรีแลนซ์รับทำเว็บไซต์ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยครับ ซึ่งเราก็ต้องเขียนไปในสัญญาเลยว่าเราซัพพอร์ทแก้บั๊กให้ฟรีในระยะเวลากี่เดือนหลังงานเสร็จ (ปกติจะประมาณ 1 เดือน) ถ้าหลังจากนี้ก็ต้องให้จ่ายเงินครับ เพราะให้เรามางมโค้ดเก่านี่ใช้เวลาเยอะเหมือนกัน

ในกรณีที่ลูกค้าอาจจะ Request ฟีเจอร์เพิ่มในอนาคต หรือจะจ้างให้เราอัพเดทคอนเท้นท์ให้ เราก็สามารถระบุไปในสัญญาได้เลยว่าจะคิดค่าบริการอย่างไร ชั่วโมงละเท่าไหร่ เดือนละเท่าไหร่

ดาวน์โหลดตัวอย่างสัญญาจ้างสำหรับฟรีแลนซ์, สัญญาจ้างทำเว็บไซต์

ตัวอย่างสัญญาจ้างงาน
ตัวอย่างสัญญาจ้างฟรีแลนซ์รับทำเว็บไซต์

วิธีใช้งาน ไปที่ File > Download ไฟล์หรือ Copy คัดลอกไปเป็นของตัวเองได้เลยนะครับ

สรุปสิ่งที่ต้องเขียนในการทำสัญญา

  1. ส่งงานให้ดูกี่แบบ แก้ไขได้กี่ครั้ง
  2. มัดจำกี่บาท
  3. ค่ายกเลิกงานเท่าไหร่
  4. ลิขสิทธิ์เป็นของใคร
  5. จ่ายเงินในระยะเวลากี่วันหลังงานเสร็จ
  6. หากลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานให้เสร็จ จะปรับเท่าไหร่
  7. บริการหลังการขายเป็นอย่างไร

สำหรับฟรีแลนซ์ที่เข้ามาอ่านแล้วรู้สึกว่าขาดอะไรไป สามารถแจ้งได้ในส่วนคอมเม้นท์เลยครับ ส่วนใครที่มีคนรู้จักเป็นฟรีแลนซ์ หรืออยากเป็นฟรีแลนซ์ แชร์บทความนี้ให้เค้าอ่านดูครับ

อยากเป็นฟรีแลนซ์เราต้องรู้เท่าทันผู้จ้างครับ ขออวยพรให้ฟรีแลนซ์ทุกท่านเจอแต่ลูกค้าดี ๆ

อ่านจบแล้ว? เราขอแนะนำบทความนี้

Designil ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างคอนเทนต์ดีๆ มีสาระประโยชน์ให้กับผู้อ่าน สิ่งที่ทีมงานแนะนำทั้งหมดมาจากการค้นคว้าและทดลองใช้งานจริงหลายสัปดาห์ หากคุณชอบเนื้อหาแบบนี้และอยากสนับสนุนให้ทีมงานให้มีแรงสร้างคอนเทนต์ดีๆ ในอนาคต สามารถซื้อสินค้าหรือบริการผ่านลิงก์บนบทความของเราได้นะครับ บางลิงก์ทางทีมงานจะได้รับส่วนแบ่งเล็กน้อยโดยจะไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับทางผู้อ่าน ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ การทำงานของเรา

designil

designil

Data engineer & WordPress Developer ทำงานที่บริษัทแคนว่า ซิดนีย์ออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Designil, DataTH ชอบอ่านบทความใหม่ๆ ตลอดเวลา และชอบสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้ภาษาที่เข้าใจง่าย ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะครับ
บทความทั้งหมด