[Graphic Design] กราฟฟิกดีไซน์กับจิตวิทยามนุษย์ (part I)

Thanut Panityothai

ก่อนอื่นต้องขอโทษด้วยครับที่อัพเดทช้า ที่สัญญากันไว้ว่าจะอัพให้หลังจาก 1 สัปดาห์ผ่านมา แต่กลับเป็น 1 เดือนไปซะงั้น เนื่องจากผมมีงานเข้าอย่างแรงครับ จึงต้องรีบทำงานให้เสร็จก่อน (และรับเงินไปซื้อ psp มานั่งเล่น…)

คราวนี้เราจะมาพูดถึงกราฟฟิกดีไซน์กับจิตวิทยาของมนุษย์กัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อนักกราฟฟิกดีไซน์เนอร์โดยตรง หรืออาจเป็นสายอื่นๆเช่น นักคำนวน นักวิทยาศาสตร์ หรือนักร้อง ก็ย่อมทำได้นะครับ (เว่อร์ไปมั้ง…)

บทความนี้มีเนื้อหาค่อนข้างยาว ดังนั้นผมจะแบ่งออกเป็น 7 ตอนใหญ่ๆด้วยกัน ซึ่งตอนนี้ผมจะนำเสนอตอนแรกกันก่อน

ปฐมบทจิตวิทยาของมนุษย์

จิตวิทยา คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต) , กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เนื้อหาที่นักจิตวิทยาศึกษาเช่น การรับรู้ (กระบวนการรับข้อมูลของมนุษย์) , อารมณ์, บุคลิกภาพ, พฤติกรรม, และรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จิตวิทยายังมีความหมายรวมไปถึงการประยุกต์ใช้ความรู้กับกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน (เช่นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในครอบครัว, ระบบการศึกษา, การจ้างงานเป็นต้น)

และยังรวมถึงการใช้ความรู้ทางจิตวิทยาสำหรับการรักษาปัญหาสุขภาพจิต นักจิตวิทยามีความพยายามที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงหน้าที่หรือจุดประสงค์ ต่าง ๆ ของพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากตัวบุคคลและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาขั้นตอนของระบบประสาทซึ่งมีผลต่อการควบคุมและ แสดงออกของพฤติกรรม

จิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ศึกษาค้นคว้าเพื่อนำข้อมูลความรู้มาเสนอ อธิบาย และเพื่อควบคุมและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ จิตวิทยามุ่งศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการของร่างกายกับจิตใจ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นระเบียบแบบแผน เพราะร่างกายและจิตใจมักมีการแสดงออกร่วมกัน อีกทั้งยังแสดงออกในแนวทางที่สามารถทำนายได้

จิตของมนุษย์

มีอยู่ 3 แบบด้วยกันคือ

1. จิตสำนึก (Conscious) คือจิตที่เราสามารถระลึกได้ คิดได้ ควบคุมได้ เป็นจิตที่เสมือนอยู่บนผิวน้ำ

2. จิตใต้สำนึก (Subconscious) คือจิตที่เราไม่สามารถระลึกได้ ควบคุมไม่ได้ แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีสมาธิในระดับหนึ่ง หรือถูกระลึกขึ้นมาโดยสิ่งเร้า เช่น รูปภาพตอนคุณยังเด็กๆ เป็นต้นฯ จิตนี้เสมือนปลาที่ว่ายอยู่ภายในน้ำ อยู่ระหว่างผิวน้ำและก้นบึง

3. จิตไร้สำนึก (Unconscious) คือจิตที่เราไม่สามารถระลึกได้ เป็นจิตที่ไร้การควบคุม ไร้ความคิด ไร้ตัวตน เป็นจิตที่อยู่ลึกที่สุด เสมือนก้นบึงมหาสมุทร

จิตวิทยาที่สัมพันธ์กับกราฟฟิกดีไซน์

แบ่งออกเป็น 4 อย่างด้วยกัน คือ

  1. สี (Color)
  2. ขนาด (Size)
  3. ลักษณะปรากฎ (Texture)
  4. รูปแบบการทำงาน (Technical)

สี (Color)

สี เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการกำหนดภาพลักษณ์ (Imagination) ของผลงาน เป็นสิ่งที่มีการเชื่อมต่อ (Resonance) ระหว่างผลงานและผู้สัมผัส (Human) โดยผู้สัมผัสจะถูกคล้อยตามไปทางจิตวิทยาด้านสีที่กำหนดในผลงาน เช่น ถ้าสีใช้โทนร้อน (Hot-Tone Color) ผู้สัมผัสจะมีกระบวนการทางความคิดภายในจิตสำนึกหรือจิตใต้สำนึก สร้างอารมณ์และความคิดขึ้นมาต่อชิ้นงาน โดยในที่นี้หมายถึงผลงานคือสิ่งเร้านั่นเอง

ผลงานหรือชิ้นงานของคุณอาจเป็นรูปปั้น รูปวาด รูปถ่าย หรือ รูปแบบเว็บไซท์ที่ได้ออกแบบไว้ก็ได้

บทบาทของสี อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้น สีมีบทบาทด้านการแสดงอารมณ์และความคิดมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นขนาดและลักษณะปรากฎ สีเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับการควบคุมระบบในสมอง มีการเชื่อมต่อกับสิ่งเร้าตลอดเวลา เมื่อขณะคุณใช้สายตามอง กระบวนการทางสมองก็จะแปรตามความคิดที่เกิดขึ้น เช่น เด็กอายุ 3-4 เดือนที่นั่งเล่นของเล่นหลากสี เหตุที่ทำแบบนั้นก็เพื่อให้เด็กมีการควบคุมระบบในสมองด้วยตนเองตั้งแต่เกิด

เราต้องรู้จักการควบคุมสี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกแบบหรือดีไซน์ชิ้นงานหรือผลงาน การหัดมองสีและเรียกชื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณต้องรู้การควบคุมโทนสี การกะโทนสี การวางโทนสี การเรียงโทนสี เป็นต้นฯ

https://www.colourlovers.com/

เป็นเว็บไซท์หนึ่งที่มีนักเชี่ยวชาญด้านการออกแบบโทนสี จัดสรรโทนสีให้กับนักดีไซน์เนอร์ทั้งมือใหม่และผู้ที่คิดโทนสีไม่ออก ซึ่งท่านสามารถเข้าไปดู และสังเกตการออกแบบโทนสีได้เป็นตัวอย่าง

ทฤษฎีสี

มีอยู่หลายทฤษฎี ซึ่งท่านสามารถหารายละเอียดได้ที่ Google แต่ในที่นี้ผมจะยกตัวอย่างทฤษฎีแค่ 2 อย่างที่ผมใช้อยู่เป็นประจำ

1.Percentage Color & Lightening

การกำหนดค่าสีออกมาเป็นสัดส่วนร้อยละ (เปอร์เซ็นท์) และการกำหนดความสว่างของสี เช่น 60/30/10 ที่ใช้กันทั่วไปตามการตกแต่งห้องหรือตกแต่งบ้าน หรือ 50/30/20 ที่ใช้กันตามเว็บไซท์ชื่อดัง (เช่น Facebook) หรือ 90/4/4/2 ซึ่งเป็นทฤษฎีสีของเว็บไซท์ Google นั่นเอง

การกำหนดค่าออกมาเป็นสัดส่วนร้อยละ มีประโยชน์ด้านการวัดขนาดและลักษณะด้วย อาจทำให้การทำงานง่ายขึ้น และมองภาพลักษณ์ได้ชัดเจนมากขึ้น

การกำหนดค่าความสว่างของสีก็เช่นกัน ในแต่ละสัดส่วนที่เรากำหนด เราจะต้องควบคุมสีให้มีความเข้มหรืออ่อนที่เข้ากับสีอื่นๆที่อยู่ข้างเขียง หรือที่เรียกว่าการทำให้เกิดการคู่ขนานของสี (Parallel Color)

Verdin
by pinkcoma

2.Luvi’s Color Creation Laws

เป็นทฤษฎีที่ผมเขียนขึ้นมาเอง ท่านสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาติจากผม ซึ่งวิธีนี้จะคล้ายๆกับวิธีข้างต้น แต่จะทำให้คุณมองได้ง่ายขึ้น

การทำตามทฤษฎีนี้จะต้องทำเป็นลำดับขั้นตอนอย่างน้อย 4 ขั้นตอนจาก 7 ขั้นตอน ซึ่งจะมีดังนี้

1.กำหนดขอบเขตของโทนสี คิดถึงอารมณ์และความรู้สึกของสี จากนั้นร่างสีออกมาตามจินตนาการที่คุณเห็น


2.วางสีโดยใช้สีที่คุณจินตนาการไว้ จากมากที่สุดไล่ไปจนถึงน้อยที่สุด (จะได้ออกมาเป็นสัดส่วนร้อยละ)

3.ค่อยๆเรียบเรียงสีที่ไม่มีความจำเป็นออกไป หรือมีความจำเป็นน้อยให้ไปอยู่ด้านหลังสุดของลำดับ

4.ลองค้นหาสีที่ใกล้เคียงกับสีหลัก แล้วค่อยๆใส่ลงไป อาจใช้ทฤษฎี Secant, Triangle, Quadable, Gradient ช่วยก็ได้ (โดยเทียบกับวงกลมสี) จากนั้นใส่เข้าไปในชุดสีที่คุณได้เรียงไว้

5.ใส่สีที่อยู่ตรงข้ามกับสีหลักของคุณอย่างน้อย 1 สีเข้าไป (เช่นสีหลังคุณเป็นสีน้ำเงิน คุณต้องใส่สีเหลืองเข้าไปด้วย)

6.ปรับความสว่างและความเข้มให้ไล่เรียงกัน ไม่ควรนำสีหลักของคุณเป็นสีสว่าง (ควรเข้มไว้เพื่อให้สีเด่น)

7.ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์กราฟฟิก ให้จดจำ HEX Color Code ไว้ (เป็นเลขฐาน 16 เรียงกัน 6 ตัว) ส่วนถ้าเป็นกราฟฟิกที่ไม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ให้หาชื่อสีที่ค้างเคียงและจดจำ (ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะคุณอาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง)

บทความหน้า ผมจะมาสอนเกี่ยวกับการควบคุมสีและการเลือกใช้สี โดยใช้ Color Circle และการใช้ตารางสี HEX Color Code โดยใช้ชื่อสามัญในการเทียบ ซึ่งจะเป็นขั้น Advance สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้วย (อาจมีการใช้ศัพท์เฉพาะปะปนเข้าไป) ส่วนวันนี้ผมขอตัวไปทำงานต่อละครับ

ป.ล. ก่อนไปจากบทความนี้ ให้สังเกตดีๆครับ เกี่ยวกับหน้าแรกของบทความนี้ จะเห็นว่ามีความผิดปกติไปเกี่ยวกับตัวอักษร “อ่านบทความนี้…” ซึ่งจะใหญ่กว่าทั่วไปที่เคยทำมา นั่นก็เป็นจิตวิทยาครับ แต่อยู่ในหมวดหมู่ของขนาดและลักษณะปรากฎ ซึ่งจะทำให้เนื้อหาดูน่าอ่านมากขึ้นครับ


LuviKunG

อ้างอิง :

[1] https://th.wikipedia.org

[2] https://www.thaihomelist.com

รูปประกอบจาก: helpscout.com