โฮสต์เว็บที่ไหนดี: เปรียบเทียบ Shared Hosting vs Dedicated Hosting vs Cloud Hosting

designil

ในช่วงหลายปีที่แอดรับทำเว็บไซต์มา มีคนเข้ามาสอบถามแอดมินอยู่ตลอดว่า “จะใช้บริการ Hosting เว็บไซต์ของเจ้าไหนดี” ซึ่งหลังจากที่แอดได้ลองใช้มาหลายรูปแบบในเวลาหลายปีที่ผ่านมา ได้เห็นข้อดี-ข้อเสียของแต่ละแบบ ก็เลยเอามาสรุปเขียนเป็นบทความนี้ให้อ่านกันครับ ในบทความนี้เราจะเจาะลึกข้อดี – ข้อเสียของ Shared Hosting VS Dedicated Hosting (VPS) VS Cloud Hosting ที่กำลังมาแรงในขณะนี้

แน่นอนว่าทุกคนอยากได้โฮสติ้งที่โหลดเว็บไซต์ได้เร็ว, ปรับแต่งได้ตามต้องการ, และราคาคุ้มค่า แต่ด้วยความที่โฮสต์ติ้งมีหลากหลายประเภท ซึ่งราคาและความสะดวกก็แตกต่างกันออกไป เลยทำให้มีหลาย ๆ ครั้งที่คนเลือกใช้ Hosting ที่ไม่เหมาะสมกับงานที่ทำอยู่

เหตุผลที่เราควรเลือก Hosting ที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็เพราะว่า โฮสต์ติ้งที่เหมาะสมจะทำให้เราได้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในราคาที่คุ้มที่สุด ซึ่งหากไม่มีความรู้เราก็จะเจอปัญหาเหล่านี้

  • Hosting ทรัพยาน้อยเกินกว่าจำนวนคนเข้าจริง – จะทำให้เว็บไซต์เราโหลดช้า คนเข้าใช้งานก็จะไม่พอใจและไม่กลับมาอีก พอเว็บไซต์โหลดช้าแล้ว SEO (อันดับใน Google) ของเราก็จะตกด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ Google นำความเร็วเว็บไซต์มาจัดอันดับแล้ว
  • Hosting ทรัพยากรเยอะเกินไป – จะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเช่าทรัพยากรที่เราไม่ได้ใช้จริง เป็นการเปลืองเงินโดยใช่เหตุ
  • โฮสติ้งปรับแต่งได้น้อย – จะทำให้เรามีข้อจำกัด เช่น Shared Hosting บางเจ้าอาจจะไม่ยอมให้เราใช้ Cronjob สำหรับตั้งเวลาในการรันโค้ด
  • โฮสติ้งปรับแต่งได้เยอะเกินไป – แต่คนจัดการไม่มีความรู้มากพอ ก็จะทำให้ใช้ประสิทธิภาพ Hosting ได้ไม่เต็มที่ เป็นการเปลืองเงินโดยใช่เหตุเช่นกัน และถ้าเว็บไซต์มีปัญหามาก็แก้ไขไม่เป็น

Hosting ที่เราใช้บริการทั่วไป ก็จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก ๆ คือ

  1. Shared Hosting
  2. Dedicated Hosting
  3. Cloud Hosting

มาดูกันว่าแต่ละแบบมีข้อดี – ข้อเสีย อย่างไรกันบ้างครับ

Shared Hosting คืออะไร ดี-ไม่ดีอย่างไร

แชร์โฮสติ้ง Shared Hosting คืออะไร

Shared Hosting ถือเป็นตัวเลือกแรกเลยสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำเว็บไซต์ หรือทำเว็บไซต์ที่ไม่ใหญ่มากนัก โดยสาเหตุที่เรียกว่า Shared Hosting ก็เพราะเค้าจะใช้เครื่อง Server 1 เครื่องในการโฮสต์เว็บไซต์ของลูกค้าหลาย ๆ คนพร้อมกัน และทุกเว็บในเครื่องนี้ก็จะแชร์ทรัพยากรจากเครื่องเดียวกันนั่นเอง

โดยเท่าที่ผมทราบมา Server เครื่องหนึ่งจะมีลูกค้าใช้งานโดยเฉลี่ย 50 คนพร้อมกันครับ หรือบางที่ก็อาจจะมากกว่านั้น

ข้อดีของ Shared Hosting มีดังนี้:

  • มีคนดูแลให้ – เจ้าของโฮสต์ติ้งเป็นคนดูแลโฮสต์เราให้ ถ้ามีปัญหาทางด้าน Hardware เค้าก็จะจัดการให้ ซึ่งดีมาก ๆ สำหรับคนที่ไม่อยากดูแลโฮสติ้งเอง เรามีหน้าที่แค่อัพโค้ดขึ้นไปเท่านั้น
  • ราคาถูก – จากที่แอดเคยเห็นมา ค่าใช้จ่ายของ Shared Hosting เริ่มต้นที่ประมาณปีละ 390 บาท ไปจนถึงประมาณ 10,000 บาท (จริง ๆ อันนี้ก็ไม่ถูกแล้ว) เหมาะมากสำหรับคนที่อยากเปิดเว็บไซต์แต่ยังไม่พร้อมลงทุนเยอะครับ
  • เริ่มต้นได้รวดเร็ว – ถ้าต้องการใช้ Software ที่ได้รับความนิยม เช่น WordPress, Magento, Joomla, Drupal ฯลฯ โฮสต์ส่วนใหญ่มีตัวติดตั้งให้แบบกดสองสามทีได้เว็บเลย

ข้อเสียของ Shared Hosting มีดังนี้:

  • ไม่รองรับเทคโนโลยีบางประเภท – Shared Hosting มักจะใช้เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูง (ในสมัยก่อน) เช่น LAMP Stack (Linux, Apache, MySQL, PHP) แปลว่าถ้าเราพัฒนาเว็บด้วย Ruby, NodeJS หรือ PostgreSQL ก็บอกลา Shared Hosting ได้เลยครับ
  • ทรัพยากรต้องแชร์กับคนอื่น – ปกติ Shared Hosting จะเขียนไว้ว่าได้พื้นที่ / Bandwidth เท่าไหร่ แต่ไม่เขียนว่าได้ RAM / CPU เท่าไหร่ เป็นเพราะว่าเราต้องใช้ร่วมกับคนอื่น ทำให้การันตีไม่ได้ว่าเราจะได้ทรัพยากรเท่าไหร่ครับ สมมติจู่ ๆ เว็บเราคนเข้าเยอะมาก ๆ เราก็จะไปดึงทรัพยากรจากเครื่อง Server มาเยอะ ทำให้เว็บอื่นใน Server เดียวกันโหลดช้า ซึ่งพอกระทบลูกค้าคนอื่น โฮสต์ก็มีโอกาสที่จะปิดเว็บเราทิ้ง แล้วอีเมลมาถามว่าต้องการอัพเป็นแพลน VPS มั้ย (เหตุการณ์จริงฮะ เคยมีโฮสต์โทรมาหาตอนตี 3 ถามว่าจะอัพเป็น VPS มั้ย)
  • โดนแฮคได้โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรผิด – ต่อจากข้อเมื่อกี้ คือ ทุกเว็บแชร์ทรัพยากรของโฮสต์เดียวกัน ทำให้มีเคสที่คนอื่นพาไวรัสเข้าเว็บไซต์ของเค้าเอง (เช่น จากการใช้โปรแกรม FTP ของปลอม) แต่ก็ลามมาเว็บไซต์เราด้วยครับ หรือบางครั้ง ข้อมูลเราอาจจะหายไปหมดเลย แต่เคสพวกนี้ไม่ค่อยเจอครับผม โอกาสน้อย แต่เกิดขึ้นได้
  • ปรับแต่งได้น้อย – สิ่งที่แลกมากับความสะดวกที่มีคนดูแลให้ คือ เราไม่สามารถปรับแต่งอะไรเองได้เยอะ (เพราะมันก็จะไปกระทบกับลูกค้าคนอื่นที่แชร์อยู่ใน Server เดียวกัน) สิ่งที่สำคัญ ๆ เลยก็เช่น เราไม่สามารถ SSH เข้าไปจัดการโฮสต์ติ้งได้ ทำได้เฉพาะอัพไฟล์ทาง FTP เท่านั้น ซึ่งทำให้ใช้ไม่ได้กับการเว็บไซต์สมัยใหม่ที่มักจะมาพร้อมกับ Command Line Interface

ตัวอย่างผู้ให้บริการ Shared Hosting: P&T Hosting, HostNeverDie, Ruk-Com ฯลฯ

ต่อไปเราจะมารู้จักกับ Dedicated Hosting ซึ่งเป็นการ “ปลดล็อก” ช้อเสียของ Shared Hosting แลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั่นเองครับ

Dedicated Hosting คืออะไร ดี-ไม่ดีอย่างไร

Dedicated Hosting คืออะไร

Dedicated Hosting คือ การนำ Server ทั้งเครื่องมาใช้คนเดียวเลย ไม่ต้องแบ่งใคร ซึ่งแน่นอนว่าราคาก็ต้องสูงกว่าแบบ Shared Hosting แต่ก็แลกมากับข้อดีหลายอย่างด้วยกันครับ ส่วนใหญ่แล้วผู้ให้บริการ Shared Hosting จะมีบริการ VPS หรือ Dedicated Hosting ด้วย

VPS ย่อมาจาก “Virtual Private Server” ซึ่งก็ถือเป็น Dedicated Hosting เวอร์ชั่นประหยัด ความสามารถจะเป็นลูกครึ่งระหว่าง Shared Hosting กับ Dedicated Hosting คือ ลูกค้าหลายคนใช้ Server เครื่องเดียวกัน แต่ใช้เทคโนโลยีในการแบ่งทรัพยากรขอผู้ใช้แต่ละคนแยกจากกันเลย เพื่อให้ถ้าคนนึงจะลง PHP แต่อีกคนจะลง NodeJS ก็ไม่มีปัญหา

ข้อดีของ Dedicated Hosting มีดังนี้

  • ไม่ต้องแบ่งทรัพยากรกับใคร – เราสามารถใช้ทรัพยากรได้เต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงว่าวันไหนจะโดนโฮสต์เตะออกจาก Shared Hosting หรือวันไหนเว็บไซต์คนอื่นจะมาทำเว็บเราโหลดช้า
  • ใช้เทคโนโลยีไหนก็ได้ – ส่วนใหญ่เวลาเช่า Hosting ประเภทนี้ เราบอกผู้ให้บริการได้เลยว่าต้องการให้ติดตั้งอะไรบ้าง หรือเราจะเข้าไปติดตั้งเองผ่าน SSH ก็ยังได้ อยากใช้ Ruby, NodeJS, หรือแม้แต่ Python ก็เข้าไปจัดการเองได้เลย
  • ปรับแต่งได้เยอะ – เราสามารถแก้ไขเองได้ทุกอย่างด้วยการ SSH สามารถปรับแต่งได้ทุกซอกทุกมุมของ Server อยากได้ความปลอดภัย ความเร็วระดับไหนก็รีดศักยภาพของ Server ออกมาได้เต็มที่
  • ใช้งานนาน ๆ จะมีโปรโมชั่นรับเครื่อง Server ไปเลย – Dedicated Server หลายเจ้า จะมีเขียนระบุว่า “ถ้าใช้งานเกิน X เดือน จะได้รับเครื่อง Server ไปเลย” ซึ่งอันนี้ฟังดูดีมาก โดยเฉพาะถ้าเราคิดว่าจะไม่มีการ Scale เพิ่มแรม เพิ่มสเปคเครื่องเลยครับ แต่ในธุรกิจปัจจุบัน เราต้องมีการขยายธุรกิจของเราให้โตขึ้น เพราะฉะนั้นการได้เครื่อง Server ที่ตกรุ่นไปแล้วก็ไม่ได้ดีอย่างที่เราคิดครับ
  • ความปลอดภัยสูงมาก – เพราะเราใช้ทรัพยากรทั้งเครื่อง Server อยู่คนเดียว (ในกรณีของ Dedicated Hosting นะครับ ไม่ใช่ VPS) ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลของเราไม่มีใครวิ่งเข้ามาขโมยไปได้ง่าย ๆ หรือบริษัทใหญ่ ๆ ก็มักจะมีห้อง Server ของตัวเองเลยครับ เหมาะมากกับธุรกิจที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูลสูงที่สุด

ข้อเสียของ Dedicated Hosting มีดังนี้

  • ราคาสูง – ค่าใช้จ่ายของ Dedicated Hosting / VPS จะตกอยู่ประมาณ เดือนละ 800 บาท – 10,000 บาท อันนี้สังเกตว่าราคาของ Shared Hosting ที่ผมบอกไปก่อนหน้านี้ เป็นราคา “ต่อปี” นะครับ แต่ของ Dedicated Hosting / VPS จะเป็นราคา “ต่อเดือน”
  • ต้องดูแลเองเยอะ – เพราะ Dedicated Hosting ให้อิสระผู้ใช้บริการอย่างเราในการติดตั้งอะไรก็ได้ จึงเป็นไปได้ว่าผู้ดูแล Hosting เค้าจะไม่เข้าใจเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ แปลว่าต่อให้มีผู้ให้บริการ Dedicated Hosting เราก็ต้องดูแลของเราเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเราใช้เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมเช่น WordPress ผู้ให้บริการ Dedicated Hosting / VPS บางเจ้าก็มาช่วยได้ในระดับหนึ่งเช่นกันครับ หรือถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ บางแห่งก็จะจ้างคนดูแล Server (System Admin) มาคอยดูแลประจำที่บริษัททุกวันครับ

ตัวอย่างผู้ให้บริการ Dedicated Hosting และ VPS: P&T Hosting, HostNeverDie, Ruk-Com ฯลฯ (จะเห็นว่าผู้ให้บริการ Shared Host ก็จะให้บริการ VPS หรือ Dedicated Hosting ด้วยนั่นเองครับ)

ด้วยความที่ Dedicated Hosting มีราคาสูง ทั้งในค่า Hardware และ Maintenance ทำให้เกิดทางเลือกสำหรับคนที่งบไม่เยอะ (แต่ถ้าเซ็ตไม่เป็นก็อาจจะกลายเป็นใช้งบเยอะกว่าเดิม) นั่นก็คือ Cloud Computing

Cloud Hosting คืออะไร ดี-ไม่ดีอย่างไร

Cloud Hosting คืออะไร

Cloud Hosting คือ การที่ Server ตั้งอยู่หลายที่ทั่วโลก (ที่นิยมกันก็ คือ USA, London, Singapore, Tokyo) เวลาต้องการใช้งานเราก็จ่ายเงินให้ผู้ให้บริการ แล้วจะสามารถใช้งานได้เหมือนเราเป็นเจ้าของ Server เองเลย สิทธิ์ของเราเหมือนใช้ VPS หรือ Dedicated Hosting โดยที่ไม่ต้องลงทุนเยอะเหมือนใช้ Dedicated Hosting ซึ่งเป็นผลให้ Cloud Hosting เป็นโฮสต์ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ในธุรกิจใหม่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ Startup ต่าง ๆ ครับ

นอกจากเอามาทำระบบออนไลน์แล้ว Cloud Hosting ยังเหมาะกับงานพวก Data Science / Machine Learning อีกด้วยครับ เพราะว่าเราสามารถจ่ายตามการใช้งานเป็นชั่วโมงได้ ใช้เสร็จก็ปิด ไม่ต้องจ่ายเงินเยอะ สำหรับเว็บสมัยใหม่ที่ต้องการนำ Machine Learning หรือ AI มาใช้ ควรต้องรู้จัก Cloud Hosting ไว้เลย

ข้อดีของ Cloud Hosting มีดังนี้

  • เหมาะกับลูกค้าจากทั่วโลก – สำหรับคนที่ทำเว็บไซต์สำหรับลูกค้าต่างประเทศ การใช้ Cloud เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ เพราะส่วนใหญ่ผู้ให้บริการ Hosting ในไทยจะตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ไทยเท่านั้น ทำให้ลูกค้าต่างประเทศเข้าได้ช้า แต่ถ้าลูกค้าของเราเป็นคนไทย ก็ยังสามารถใช้ Cloud Hosting ที่ตั้งในประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ ซึ่งแอดทดสอบมาแล้วว่าเข้าเว็บได้แรงพอ ๆ กับเว็บไซต์ในไทยเลยครับ (วิธีแก้อีกอย่าง คือ ใช้ CDN เช่น CloudFlare ที่แอดเคยแนะนำไปใน บทความสอนติดตั้ง SSL)
  • ทำได้เหมือน VPS / Dedicated Hosting – เรามีทรัพยากรเป็นของตัวเอง, ติดตั้งอะไรก็ได้, และปรับแต่งอะไรก็ได้ สามารถ SSH เข้าไปได้เหมือนกับมีเครื่อง Server ของตัวเอง
  • จ่ายตามชั่วโมงที่ใช้ (จ่ายเงินแบบ “Pay-as-you-use”) – อันนี้เหมาะมากสำหรับคนที่อยากทดลองอะไรใหม่ ๆ แต่ไม่ได้ต้องการเช่า Server ทั้งเดือนครับ เปิดมาใช้เสร็จแล้วปิดทิ้งได้เลย
  • ไม่ต้องเป็นเจ้าของ Hardware – สำหรับบริษัทใหญ่ ๆ ที่มักจะทำห้อง Server เป็นของตัวเอง ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อ Hardware ต่าง ๆ ทั้งหมดเอง ทำให้ TCO (Total Cost of Ownership – ค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าของระบบ) สูง พอระบบของเราโตขึ้น ต้องการจะจะเปลี่ยน Server ทีก็ต้องโละของเก่า แล้วจ่ายเงิใหม่เยอะอีกรอบ แต่
  • ไม่ต้องตั้ง Data Center เอง – สำหรับบริษัทที่ระบบและข้อมูลสำคัญมาก ๆ นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ข้อมูลจะต้องถูก Backup ไว้หลายที่ครับ ซึ่ง Cloud ชื่อดัง ๆ จะมีการทำ Data Center เตรียมไว้หลายที่ในการสำรองข้อมูลของเราให้อัตโนมัติ ทำให้มั่นใจได้ว่าต่อให้ Server หลักของเราโดนคนวางระเบิด ข้อมูลก็ยังอยู่ครบ

ข้อเสียของ Cloud Hosting มีดังนี้

  • ต้องดูแลเองเยอะ – ข้อนี้เหมือนกับ Dedicated Hosting เลยครับ เพราะเวลาเราเริ่มใช้ Cloud Hosting ก็จะมีแค่ VM (Virtual Machine) เปล่า ๆ ให้เราติดตั้งทุกอย่างเอง ถ้าเกิดปัญหาอะไรเราก็ต้องดูแลทุกอย่างเองครับ ซึ่งอันนี้เป็นเหตุผลหลักเลยที่คนที่ไม่มีความรู้ด้านการดูแล Server จะไม่เลือกใช้ Cloud Hosting กัน
  • ล่มทันทีถ้าเน็ตออกนอกประเทศไม่ได้ – ในบางครั้งที่ Internet ออกต่างประเทศไม่ค่อยดี เช่น เคยมีข่าวว่าผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในไทยบางเจ้าจงใจปล่อยให้เน็ตออกต่างประเทศช้ากว่าปกติเพื่อประหยัดต้นทุน พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะทำให้ลูกค้าเข้าใช้เว็บเราซึ่งอยู่ใน Cloud Server ได้ช้ากว่าปกติครับ หรือบางทีอาจจะเข้าไม่ได้เลย แต่สบายใจได้ว่าเหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยครับ
  • ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงกว่า Dedicated Hosting ในระยะยาว – ถ้าเราคิดว่าเว็บไซต์เราจะไม่ต้องอัพเกรด Hardware อะไรไปอีก 5-10 ปี การใช้ Dedicated Hosting เป็นไปได้ว่าจะถูกกว่าครับ แต่ถ้าเราคิดว่าเราต้องมีการอัพเกรดอยู่เรื่อย ๆ การใช้ Cloud Hosting จะช่วยลด TCO มาก

ตัวอย่างผู้ให้บริการ Cloud Hosting: Amazon AWS, Google Cloud Platform, DigitalOcean, Heroku ฯลฯ

เลือกโฮสต์ติ้งไหนดี Shared vs Dedicated vs Cloud Hosting

หลังจากเราได้รู้จักกับ Hosting ประเภทต่าง ๆ แล้ว ก็ได้เวลาตัดสินใจแล้วครับว่าเราจะใช้โฮสต์ติ้งประเภทไหนดี ผมจะแนะนำเกณฑ์ในการเลือก Hosting ที่ผมใช้ให้กับลูกค้าของ Designil Studio (บริการรับทำเว็บไซต์ของ Designil) ดังนี้ครับ

ถ้าทำเว็บเล็ก เน้นค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดไว้ก่อน

แนะนำให้ใช้ Shared Hosting ครับ ซึ่งต้องเป็นเว็บที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนด้วยนะครับ เช่น WordPress หรือ PHP Framework ที่ไม่ต้องใช้ Command Line แบบ CodeIgniter

ข้อดีของ Shared Hosting คือ ราคาถูก จ่ายประมาณปีละ 1,200 บาทก็มีพื้นที่ และ Bandwidth เหลือเฟือ ลงระบบ Cache เพื่อรับทราฟฟิกสำหรับเว็บไซต์ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง ๆ ได้สบาย แถมมีเจ้าของโฮสต์ดูแลให้ เราไม่ต้องทำอะไรเยอะ

แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น NodeJS, Ruby, หรือ Go อันนี้แนะนำให้ไป Cloud Hosting เลยครับ เพราะ Shared Hosting รันเว็บเราไม่ได้ ถ้าใช้น้อย ราคาก็ไม่ห่างจาก Shared Hosting ดี ๆ เท่าไหร่ หรือบางเจ้าก็ฟรีไปเลย เช่น AWS หรือ Heroku ครับ

สำหรับเรื่องของการดูแลระบบ ถ้าใช้ Shared Hosting จะมีคนดูแลระบบให้เลย ต่างกับ Cloud Hosting ที่ไม่มีคนดูแล แต่ได้ความยืดหยุ่นในการใช้งานผ่าน SSH (Secure Shell) ซึ่งเหมาะกับผู้ใช้ระดับสูงมากกว่าครับ

ถ้าทำเว็บขนาดกลาง – ใหญ่ และโอเคที่จะดูแลระบบเอง

ในกรณีนี้ การใช้ Cloud Hosting เป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจที่กำลังโตแบบ Startup ซึ่งนอกจาก Cloud Hosting จะไม่แพงมากแล้ว เรายังสามารถปรับจำนวนทรัพยากรมากน้อยเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ระบบของเราต้องการใช้งาน ถ้าช่วงไหนคนน้อยก็ลดทรัพยากรให้เหลือน้อย ๆ ส่วนช่วงคนใช้งานเยอะก็เพิ่มขึ้นมาได้

แต่สำหรับองค์กรใหญ่ที่ไม่ต้องการนำข้อมูลไปไว้บน Cloud ก็เลือกใช้เป็น Dedicated Hosting แบบวางเครื่องเซิร์ฟเวอร์เองได้ครับ บริษัทใหญ่ ๆ ในปัจจุบันมักจะเลือกทางนี้กันเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของข้อมูล

เท่าที่แอดรู้มา คือ ธนาคารใหญ่ ๆ ที่ออสเตรเลีย (ตอนนี้แอดทำงานด้าน Data Science อยู่ที่ออสเตรเลีย เลยได้คุยเรื่องพวกนี้เยอะ) เค้ามีการเซ็นสัญญากับผู้ให้บริการ Cloud ในเรื่องของข้อกฏหมายความเป็นส่วนตัว และเริ่มย้ายข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์ในบริษัทขึ้นไปบน Cloud เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายกันแล้วครับ

ถ้าทำเว็บขนาดกลาง – ใหญ่ และอยากมีคนดูแลให้

ถ้าเราทำเว็บใหญ่แล้วอยากมีคนดูแลให้ ขอแนะนำเป็น VPS หรือ Dedicated Hosting ครับผม สเปคจะแรงกว่า Shared Hosting เยอะ แถมมีผู้ให้บริการดูแลให้ เราแค่ส่งเมลไปติดต่อ Support เค้าก็จัดการให้เสร็จสรรพ

ทางเลือกนี้มีข้อเสียเล็กน้อย คือ ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการ VPS / Dedicated Hosting เค้าร่วมค่า Support มาเรียบร้อยแล้ว ทำให้สูงกว่า Cloud Hosting อยู่พอสมควร แอดลองกดเครื่องคิดเลขเร็ว ๆ พบว่า Cloud Hosting ที่สเปคเดียวกับ VPS ราคาถูกกว่ากันถึง 20% – 60% เลยทีเดียวครับ

สรุป: เลือกโฮสติ้งไหนดี

สรุปวิธีเลือกโฮสติ้งง่าย ๆ ที่แอดใช้นะครับ

  • Hosting เว็บ PHP / WordPress ราคาประหยัดสุด ๆ – Shared Hosting
  • Hosting เว็บแบบไหนก็ได้ ราคาประหยัด ยอมดูแลเอง – Cloud Hosting
  • Hosting เว็บขนาดกลาง-ใหญ่ มีคนดูแลให้ – VPS
  • Hosting เว็บขนาดใหญ่-ใหญ่มากกกกกก มีคนดูแลให้ – Dedicated Hosting / ทำห้องเซิร์ฟเวอร์เองเลย

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ เลือกใช้ Hosting ที่เหมาะกับระบบที่กำลังพัฒนาอยู่ได้ง่ายขึ้นนะครับ หากบทความนี้มีประโยชน์ รบกวนช่วยแชร์ให้กับเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วยครับ :) หรือถ้ามีติชมยังไงก็คอมเม้นท์หรือส่ง Inbox มาหาแอดที่ Facebook Page ได้เลยฮะ (ลิงค์อยู่ด้านล่าง) เดี๋ยวคราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังเรื่องของ Hosting แนวใหม่ที่เป็นลูกครึ่งระหว่าง Cloud Hosting กับ VPS แอดใช้อยู่ในบางงาน ค่อนข้างโอเคเลยครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง

สำหรับท่านที่ใช้งาน WordPress สามารถดูปลั๊กอินที่น่าสนใจของ Designil ได้ที่นี่เลยนะครับ

  • Designil PDPA ทำเว็บไซต์ให้รองรับ PDPA ภายใน 3 นาที
  • WOOCOMMERCE PROMPTPAY QR CODE จ่ายเงินง่ายภายในคลิ๊กเดียว
  • WOOCOMMERCE THAI ADDRESS ใส่ที่อยู่ภาษาไทยอัติโนมัติตอนชำระเงิน

ติดตามบทความดี ๆ แบบนี้เพิ่มเติมได้ที่ Designil Facebook Page

designil

designil

Data engineer & WordPress Developer ทำงานที่บริษัทแคนว่า ซิดนีย์ออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Designil, DataTH ชอบอ่านบทความใหม่ๆ ตลอดเวลา และชอบสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้ภาษาที่เข้าใจง่าย ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะครับ
บทความทั้งหมด