STAR technique เทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์งานให้ได้ผล

PND777

เพื่อนๆ ลองจินตนาการถึงตอนที่สัมภาษณ์กับบริษัทที่เราชอบ เราเตรียมตัวข้ามวันข้ามคืน ทบทวนความรู้เก่าๆ ตัดผม โกนหนวด ใส่สูทผูกไท พร้อมกับความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม เราเดินเข้าไปนั่งหน้าผู้สัมภาษณ์กว่า 5 คน เราพิชิตคำถาม Hard skill ได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อ ผู้สัมภาษณ์ถามว่า “ช่วยเล่าหน่อยว่าคุณจัดการ……” เรานิ่งไปซักพัก และเริ่มตอบทุกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้อง เราเล่าไปนานกว่า 10 นาที และ ไม่รู้จะจบยังไง และสุดท้ายเมื่อเรามองตาผู้สัมภาษณ์ ทันใดนั้นเรารู้แล้วว่างานนี้ได้ปลิวหายไปแล้ว

ถ้าเพื่อนๆ เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ และสงสัยว่าเราพลาดตรงไหน ถือว่าเพื่อนๆ มาถูกบทความแล้วครับ วันนี้เราจะมาหาคำตอบปัญหานี้กันกับ “STAR technique เทคนิคตอบคำถามสัมภาษณ์งานให้ได้ผล”

STAR technique คือ?

How to Master the STAR technique in Interviews - WizardSourcer
STAR technique

STAR technique คือรูปแบบหรือฟอร์มที่ใช้ในการตอบคำถามสัมภาษณ์ประเภท Behavioral question ซึ่งเป็นคำถามที่ถามถึงเหตุการณ์ในอดีตหรือประสบการณ์ต่างๆ เพื่อดูว่าคนๆนี้ถ้ามาทำงานร่วมกับเรา เขาจะสามารถจัดการหรือแก้ปัญหานี้ได้ไหม

ตัวอย่างรูปแบบ Behavioral question ที่มักจะขึ้นด้วยประโยคนี้

  • Tell me about a time when…(ช่วยเล่าเหตุการณ์ตอนที่เจอ….)
  • What do you do when…(คุณจะทำอย่างไรเมื่อ….)
  • Have you ever…(คุณเคยทำ….)
  • Give me an example of…(ช่วยยกตัวอย่าง…)

ซึ่งเวลาที่เพื่อนๆเจอคำถามพวกนี้ ถ้าเพื่อนๆไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนก็อาจตอบสั้นไปไม่สามารถจับใจความได้หรือยืดยาวไปจนน่าเบื่อได้ ดังนั้นการนำ STAR มาใช้จะทำให้เพื่อนๆ เล่าเรื่องได้กระชับ และตรงตามความต้องการของผู้สัมภาษณ์มากยิ่งขึ้น

มาดูกันดีกว่า STAR ย่อมาจากอะไรบ้าง

  • Situation (สถานการณ์) = เกริ่นด้วยสถานการณ์โดยรอบโดยให้รายละเอียดที่สำคัญเท่านั้น
  • Task (เป้าหมาย) = อธิบายหน้าที่หรือสิ่งที่ต้องทำ
  • Action (สิ่งที่ทำ) = แจกแจงขั้นตอนต่างๆที่ทำใหเป้าหมายสำเร็จ
  • Result (ผลลัพธ์) = จบด้วยผลลัพธ์

ตอนนี้ เพื่อนๆ คงเข้าใจ STAR แล้วแต่อาจยังสับสนว่าจะนำไปใช้อย่างไร หัวข้อต่อไปจะให้คำตอบเพื่อนๆเองครับ

วิธีการใช้ STAR ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

1. เลือกสถานการณ์(Situation)ให้เหมาะสมและน่าสนใจ

ส่วนที่สำคัญที่สุดในการเล่าเรื่องให้มีประสิทธิภาพ ก็คือการเปิดเรื่องที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้อยู่หมัด และยังต้องเกี่ยวข้องคำถามด้วย ถึงแม้ว่าเพื่อนๆ จะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าผู้สัมภาษณ์คิดเห็นอย่างไร

ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ

การ list เหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับสายงานทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้บนกระดาษก่อน และเลือกว่าเหตุการณ์ไหนเหมาะกับคำถามแบบไหน

ไม่ต้องกลัวว่าจะลืมเรื่องที่ตัวเองจะเล่า เพราะว่าเรามีเวลาทบทวนได้ซักประมาณ 3 วินาทีในระหว่างสัมภาษณ์ จากนั้นพยายามสรุปเหตุการณ์ให้กระชับ แต่ยังน่าสนใจ โดยใช้เวลาเล่าประมาณ 10-15 วินาที

เช่น ถ้าผู้สัมภาษณ์ถามถึง เหตุการณ์ที่เพื่อนๆ ผิดพลาดกับ Client เพื่อนๆ ก็ไม่ต้องเล่าตั้งแต่การหา Client เลยครับ แต่ต้องจำไว้เสมอว่าเป้าหมายของการเกริ่นนี้ ก็เพื่อสร้างผลลัพธ์ตอนท้ายที่ตราตรึงนั่นเอง

ตัวอย่างประโยคสถานการณ์ (Situation)

  • ในสมัยที่ผมทำงานบริษัทเก่านะได้รับมอบหมายงานมา 20 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าตกลงจบงานที่ 3 เดือน หลังจากนั้น 3 วัน อยู่ๆลูกค้าเกิดเปลี่ยนใจอยากได้งานเร็วขึ้นอีก 1 เดือน
  • ในตำแหน่งการตลาดดิจิทัลครั้งก่อนของฉัน บริษัทของฉันได้ตัดสินใจที่จะมุ่งเน้นไปที่การตลาดผ่านอีเมลเป็นหลัก และต้องการเพิ่มรายชื่อผู้สมัครรับอีเมลมากกว่าเดิม 30%

2. เน้นที่เป้าหมาย (Task)

หลังจากเกริ่นสถานการณ์แล้ว ก็จะเข้าเรื่องราวสิ่งที่ต้องทำ (Task) เพื่อจัดการปัญหานั้น ซึ่งเป็นส่วนที่บอกว่าเพื่อนๆเข้าใจในปัญหาจริงและเหาะสมกับตำแหน่งงานหรือเปล่า การเน้นเป้าหมายคือการเน้นไปที่หน้าที่ในสถานการณ์นั้นๆ ตลอดจนวัตถุประสงค์ ก่อนที่จะเล่าสิ่งที่เราจะทำต่อไป

ตัวอย่างประโยคเป้าหมาย (Task)

  • ในตอนที่ผมเป็นตำแหน่งผู้จัดการการตลาด เป้าหมายในสถานการณ์นี้คือการเพิ่มรายชื่ออีเมลลูกค้าอย่างน้อย 50% ในเวลาเพียง 4 เดือน
  • สิ่งที่ผมต้องทำให้ได้คือต้องหาทางออกให้กับบริษัทก่อนที่บริษัทจะเกิดเสียลูกค้า หรือขาดทุนเพราะลูกค้ายกเลิก order

3. แบ่งเป็นวิธีแก้ปัญหา (Action) ในแบบของเรา

เมื่อได้อธิบายให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจปัญหาที่เผชิญและหน้าที่ของเราแล้ว ก็ถึงเวลาอธิบายสิ่งที่เราทำ และวิธีที่เราเลือกใช้แก้ปัญหานี้

ถ้าเป็นไปได้แนะนำว่าอย่าใช้คำตอบที่คนส่วนใหญ่ตอบกันเช่น

  • “ดังนั้นฉันจึงทำงานอย่างหนัก….” หรือ “ฉันได้ค้นคว้า…”

นี่เป็นโอกาสที่จะได้แสดงศักยภาพของเราให้ประจักต์เด่นชัด ดังนั้นเรื่องราวควรประกอบไปด้วยข้อมูลเพียงพอกับวิธีแก้ปัญหาของเรา เช่น

  • ทำงานเป็นทีมหรือเปล่า?
  • ใช้ Sofware อะไรบ้าง?
  • มีการวางแผนอะไรบ้าง?

และนี่คือสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากจะรู้จริงๆ

ตัวอย่างประโยคสิ่งที่ทำ (Action)

  • ผมเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปดูเนื้อหาในโพสต์บนบล็อกเก่าและตัดสินใจพัฒนาเนื้อหาให้จูงใจให้ลูกค้าอยากสมัครรับอีเมลมากขึ้น ซึ่งทำให้เว็บไซต์ของเรามี Conversion ดีขึ้นในทันที หลังจากนั้น ผมทำงานร่วมกับทีมการตลาดเพื่อวางแผนและจัดการการสัมภาษณ์ผ่านเว็บที่ต้องใช้ที่อยู่อีเมลในการลงทะเบียน ซึ่งดึงดูดลูกค้าที่สนใจมากขึ้นเข้าสู่เว็บไซต์ของเรา
  • สิ่งที่ผมทำไป ผมรวบรวมตั้งทีมขึ้นมาใหม่เพื่อจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะโดยรวบรวมผู้ที่มีความสามารถด้านนี้หลายๆ ด้านมาไว้ด้วยกัน แล้ว outsource งานออกไป แล้วอธิบายต่อตามที่ต้องการ

4. แจกแจงผลลัพธ์ (Result)

และแล้วก็ถึงเวลาที่เราจะเฉิดฉายด้วยการเล่าเรื่องที่เปลี่ยนจากสถานการณ์เลวร้ายอย่างบริษัทขาดทุน 10 ล้านให้กลายเป็นสร้างกำไร 10 ล้านในตอนท้าย

ส่วนสุดท้ายนี้คือการเล่าผลลัพธ์ที่ได้จากการกระทำของเรา และแน่นอนว่าผลลัพธ์มันต้องดีขึ้นนะ ไม่ใช่แย่ลง อย่าง “สุดท้ายแล้วผมก็โดนไล่ออก และตัดสินใจมาสมัครงานที่นี่ครับ” แบบนี้ไม่เอา

และอย่าลืมดึงความสนใจผู้สมัครด้วยการเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแก้ปัญหานี้ด้วยในตอนจบ

สิ่งสุดท้ายที่แอดอยากจะบอกคือ โปรดจำเอาไว้ผู้สัมภาษณ์สนใจ Result ที่มาพร้อมเหตุผลที่ดีประกอบเสมอ

ตัวอย่างประโยคผลลัพธ์ (Result)

  • จากการเพิ่มกลยุทธ์อีเมล ทำให้ผมสามารถเพิ่มรายชื่อสมาชิกจาก 25,000 สมาชิกเป็น 40,000 สมาชิกได้ภายในสามเดือน ซึ่งเกินเป้าหมายของทีมที่ตั้งไว้ 20%
  • สุดท้ายผมสามารถจัดการสิ่งนี้ได้โดยไม่เสียลูกค้า อีกทั้งยังได้รับคำชมจากลูกค้า จนต้องเพิ่มออเดอร์ขึ้นเป็นสองเท่าใน 4 เดือนต่อมา ซึ่งสามารถทำรายได้ให้กับบริษัทมากถึง 100 ล้านบาทในช่วงปีที่ผ่านมา

3 สิ่งที่เรียนรู้จากการสัมภาษณ์งาน

ด้วยความที่แอดก็เพิ่งเข้าสู่วัยทำงานเมื่อไม่กี่อาทิตย์มานี้ ทำให้แอดเข้าใจเพื่อนๆทุกคนที่ยังกำลังสบสนกับการหางานอยู่ แอดขอเป็นหนึ่งกำลังใจที่ช่วยให้เพื่อน ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ลำบากนี้

แอดเลยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการยื่นสมัครงานกว่า 50 ที่ สัมภาษณ์ 10 ที่ และจบที่ทำงาน 1 บริษัทมาเล่าให้ฟัง

1. ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา

ประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่าสัมภาษณ์ในแต่ละครั้ง ไม่มีครั้งในเหมือนกันเลย ทั้งเรื่องสถานการณ์และคำถาม บางครั้งถามเรื่องง่ายๆ ซะจนเหมือนจะไม่เอาเรา บางครั้งก็ยากชิบจนอยากปิด Meets

ถึงแม้ว่าจะอ่านตำรามาแค่ไหน แต่เมื่ออยู่เราอยู่หน้าผู้สัมภาษณ์ ความกดดันที่อยากได้งานนี้ก็จะทับหล่นบนหัวเราจน ไม่เป็นตัวเองและตอบคำถามแบบไม่ใช่เราในแบบ Best version

และหลังจบการสัมภาษณ์เราจะรู้ว่างานนี้ได้ลอยปลิวหายไปแล้ว ตอนนี้เราคงคิดว่าฟ้ากำลังถล่ม โลกกำลังจะแตกกับการไม่ได้งานเดียว เรากำลังตัดสินว่าตัวเองห่วยแค่ไหน แต่เชื่อผมเถอะ นี่มันเป็นเรื่องธรรมดา

2. ครั้งนี้ห่วย ครั้งหน้าดีขึ้น

เมื่อเรารู้ว่าเราผิดพลาดส่วนไหนก็ต้องรีบซ่อมแซมให้ดีขึ้น อย่างตอนแอดสัมภาษณ์ครั้งแรก แอดไม่รู้จัก Design thinking เลยทำให้พลาดงานแรกไป หลังจากสัมภาษณ์ไปเรื่อยเราจะยิ่งพบข้อเสียเรามากขึ้น เช่น การตอบอย่างสร้างสรรค์ ความไม่มั่นใจ สไลด์ ความรู้ในสายงาน Softskill และเมื่อผ่านไปถึงจุดหนึ่ง ก็จะไม่มีคำถามของผู้สัมภาษณ์คนไหน ที่ทำให้เราสั่นคลอนอีกแล้ว

3. จงสนุก

อันนี้อาจจะขัดภาพความคิดว่า การสัมภาษณ์งานต้องเครียด ต้องจริงจังและเป็นทางการ เราต้องพูดน้อยๆ ถึงจะได้ทำงาน และผมจะบอกว่ามันจริงครับ แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันบริษัทต่างต้องการคนทำงานที่เก่งและมีความสามารถสูง ดังนั้นเพื่อนๆจะมาตัวเจี๋ยมเจี้ยม พูดแต่ว่าครับๆ คงจะแห้วงานอย่างแน่นอน และถ้าอยากโดนเด่นจากผู้สมัครท่านอื่น จำไว้เสมอว่า “จงสนุกกับมัน”

สิ่งแรกที่จะทำให้รู้สึกว่าการสัมภาษณ์เป็นกิจกรรมที่สนุกคือ การที่ตัวเรารู้สึกสนุกจริงๆ ซะก่อน ตัดแนวคิดที่เคยได้รับจากผู้ใหญ่ออกไปให้หมด และคิดว่าการสัมภาษณ์เป็นเหมือนเราไปเล่นเกมส์ ถ้า Game Over ก็แค่เริ่มใหม่

หลังจากนั้นจงตอบคำถามอย่างฉะฉาน ฉลาด และพร้อมรับคำถามที่จะส่งมาเหมือนที่เรารับ Quest ใหม่

สุดท้ายเราจะกลายเป็นคนที่บริษัทต้องการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนครับ

ติดตามบทความใหม่ ๆ ของเราได้ก่อนใครได้ทาง Designil.com. แล้วมาเจอกันใหม่ในบทความหน้าครับผม

อ้างอิง

บทความที่เกี่ยวข้อง

PND777

PND777

จบจากคณะวิศวะคอมพิวเตอร์ สนใจในงาน UX/UI และ Coding มีความฝันว่าอยากจะทำงานบริษัทเกมชื่อดัง
บทความทั้งหมด