วิธียื่นภาษีสำหรับฟรีแลนซ์

Natk

“เพราะฉันเป็น freelance ฉันจึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษี” แนวคิดนี้ถูกครึ่งเดียวนะครับ

การยื่นแบบแสดงภาษีเป็นคนละเรื่องกับการเสียภาษีครับ

การยื่นแบบแสดงภาษีเป็นหน้าที่พลเมืองตามกฎหมายอยู่แล้ว เพื่อบอกกับรัฐว่าเรามีรายได้จากการอยู่ในประเทศนี้ถึงระดับที่ควรช่วยสนับสนุนให้รัฐสร้างประเทศให้ดีขึ้นหรือยัง? เท่านั้นเอง นั่นแปลว่าเรายื่นแบบ แต่เราก็อาจไม่ต้องเสียภาษีก็ได้หากเราทำเงินได้ไม่ถึงระดับที่กฎหมายกำหนดไว้ และในทางกลับกันหากเรามีรายจ่ายเยอะกว่ารายได้ แบบยื่นภาษีจะเป็นตัวบอกเรื่องนี้และรัฐจะรับรู้ว่าปีนี้ภาษีที่จะต้องเสียนั้นคืนให้เรามาต่อทุนชีวิตเถอะ การยื่นแบบฯ ทำเพื่อเรื่องนี้ครับ นี่คือแนวคิดแบบที่คนที่ไม่ขี้โกงจะพึงเข้าใจ

ในทางตรงกันข้ามทุกวันนี้เรากลับเจอความคิดผิดๆ และคดโกงมากมาย อาทิเช่น

  • ฉันไม่ยื่นแบบแสดงภาษีเพราะถ้าฉันยื่นแปลว่าฉันต้องเสียภาษีแน่นอน (ไม่เสมอไป ใช่ที่ไหน?)
  • ฉันไม่ยื่นแบบเพราะถ้าฉันยื่นฉันอาจโดนสอบของปีก่อนๆ ด้วย (นั่นเป็นดินพอกหางหมูที่คนโกงต้องรับผิดชอบ ก็อย่ายื่นต่อไปก็ได้ครับ แต่รอรับผลกรรมระยะยาวด้วยละกัน)
  • ฉันยื่นแบบ แต่ฉันจะหาทุกอย่างๆๆๆ มากลบจนกระทั่งฉันได้คืนภาษี LTF/RMF ฯลฯ ฉันก็จะซื้อให้หมด (แนวคิดแบบนี้ไม่ต่างจากซื้อรถคันแรกให้ได้คืนภาษี แล้วปีต่อไปไม่มีเงินผ่อนรถต่อเลยครับ LTF/RMF, ประกันชีวิต ควรเป็นเงินส่วนที่เราตั้งใจจะลงทุนกับมันจริงๆ ต่างหาก)
  • ฯลฯ

จนมาถึงเหตุผลที่เกี่ยวกับหัวข้อนี้ คือ “เพราะฉันเป็น freelance ฉันจึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษี” แนวคิดนี้ถูกครึ่งเดียวครับ เพราะถ้ารายได้ต่ำหรือมีรายจ่ายให้หักได้มาก ไม่ต้องเสียภาษี และหลายครั้งต้องเสียภาษี แต่หักรายจ่ายแล้วเราสมควรได้คืน เราก็จะได้คืน โดยในหลายครั้งก็มักจะได้คืน ……… แต่อย่างไรก็ตาม ประโยคเมื่อกี้ก็ไม่เกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงภาษีหรือไม่อยู่ดี จะอย่างไรก็ต้องยื่นครับ

และกำหนดการยื่นโดยมากก็จะต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อน 31 มีนาคม ของทุกปี

ยื่นแบบแสดงภาษีแบบ Freelance อย่างไร

1. แบ่งเอกสารออกเป็น 2 กองหลักๆ คือ รายรับ และรายจ่ายก่อน

แนะนำว่าเราควรมีแฟ้มหนึ่งเล่มสำหรับโยนใบเสร็จตลอดทั้งปีเข้าไปรวมกันไว้ ตอนทำแบบแสดงภาษีจะทำได้ง่ายมากครับ ปีหน้าก็ขึ้นอีกแฟ้มหนึ่งนะ ส่วนปีถัดไปก็เคลียร์แฟ้มแรกมาใช้ได้

เอกสารที่เป็นรายรับ สำหรับ freelance จะหมายถึง “หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย” หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อ “ใบหัก ณ ที่จ่าย” นั่นเอง โดยมากในนั้นก็จะมีระบุเป็น “ค่าจ้างทำของ” หรือ “ค่าบริหารโครงการ” แล้วแต่กรณี ในที่นี้ขอพูดถึง freelance เฉพาะในมุมที่ไม่มีเงินเดือน หรือมีเงินเดือนแต่ก็ระบุเป็นข้อตกลงกับบริษัทนั้นๆ ไว้ว่าขอใส่เป็น “ค่าบริหารโครงการ” นะครับ (ซึ่งก็เป็นทริกการโกงลักษณะเงินเดือนที่ก็ใช้กันอย่างแพร่หลายพอสมควร) เอาเป็นว่าไม่ว่าจะได้มาอย่างไรก็ตาม ให้เก็บใบเหล่านี้แยกไว้เป็นกองรายรับของเรา

ในกรณีค่าจ้างทำของ บทความที่เว็บ firodendon.exteen.com ก็แนะนำไว้ว่าเวลาเข้าไปเลือกที่มาของรายได้ ก็ให้เลือก 40 (7) ซึ่งหมายถึงการรับเหมา (นะ…นี่ฉันเป็นผู้รับเหมา???!!?)

firodendon

ส่วนกองรายจ่ายจะมีเอกสารประมาณนี้

  • ใบเสร็จประกันสังคม หากคุณเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 คือจ่ายเองที่ธนาคารหรือหักจากบัญชีแล้วธนาคารส่งมาให้ ให้กองกองนี้รวมกันแล้วบวกเลขของทั้ง 12 ใบ (หนึ่งใบต่อหนึ่งเดือน) เตรียมไว้เลย
  • เบี้ยประกันชีวิต กรณีมีทำประกันชีวิตด้วย อันนี้หักภาษีได้ ให้โทรบอกตัวแทนประกันหรือบริษัท ขอ “หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันภัย” มาไว้กับตัวด้วย ในนั้นจะมีบอกว่า “รวมเบี้ยประกันภัยสำหรับอ้างอิงใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้” จำนวนเท่าไร กรณีที่ขอกระดาษแผ่นนี้มาไม่ทัน โทรถามเลขตัวนี้มาก่อนก็ได้แล้วจดไว้
  • อนุโมทนาบัตร หากมีเงินทำบุญแล้วมีออกใบอนุโมทนาบัตร (ใบเสร็จ) มาให้ได้ ส่วนนี้ก็อยู่ในกองรายจ่ายด้วยเหมือนกัน

2. เข้าเว็บกรอกภาษีกันเลย

ไปเว็บยื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 แล้วเลือก ยื่นแบบฯ ออนไลน์ » ภ.ง.ด.90 / 91 เลยครับ แต่ขอข้ามเรื่องการล็อกอินไปนะครับ ไปที่การกรอกเลย ส่วนแรกที่จะต้องกรอก (หรืออัพเดท กรณีมีข้อมูลเก่าอยู่แล้ว) ก็คือเกี่ยวกับตัวเรา ที่อยู่ บัตรประชาชน สถานภาพ ฯลฯ

1อัพเดทเกี่ยวกับตัวเราก่อน

เสร็จแล้วก็เลือกที่มาของรายได้ และกลุ่มของรายจ่าย มีรายได้กี่กลุ่มก็ต้องเลือกให้ครบนะครับจะได้มีช่องให้กรอกครบทุกประเภท แต่สำหรับ freelance ก็ดูเหมือนจะมีรับเหมาตามที่เมื่อกี้บอกไว้ แค่ช่องเดียว ส่วนรายจ่าย ถ้ามี LTF/RMF หรือกำไรจากการขายหุ้นก็ต้องเลือกด้วย

2เลือกช่องรายได้และรายจ่ายที่มีรายการ

เสร็จแล้วก็เริ่มกรอกข้อมูล แต่ตามรูปข้างล่างนี้เป็นเที่ยวแรกที่ผมกรอกซึ่งกรอกผิดหมวดนะครับ ดูดิไปกรอกเงินได้จากวิชาชีพอิสระ (ประณีตศิลปกรรม) คือเราก็เข้าใจว่างานเราก็คงอยู่ในหมวดนี้ แต่พอหาข้อมูลในเว็บมาเทียบนิดหน่อยก็เลยเข้าใจว่าจริงๆ เราต้องเลือกรับเหมา แล้วจะเริ่มกรอกใหม่ได้ยังไงถ้าทำมาถึงขั้นตอนนี้แล้ว? ออกจากระบบแล้วเข้าใหม่ครับ เราจะกลับไปเริ่มต้นหน้าหนึ่งใหม่นะ

3เริ่มกรอกข้อมูล

ที่ต้องกรอกจริงๆ มี 3 ช่องเท่านั้นต่อหนึ่งใบ คือ จำนวนเงินได้ทั้งหมด ภาษีหัก ณ ที่จ่ายทั้งหมด แล้วก็เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้ (เลขจะอยู่มุมบนขวาของใบหัก ณ ที่จ่ายที่เราได้มา)

ทีนี้เรื่องมันก็มีอยู่ว่า ตอนที่ผมกรอกผิดหมวดนั้นเลยทำให้ได้เห็นว่า การกรอกในหมวด 40(6) กับ 40(7) นั้นต่างกันตรงนี้ครับ คือจำนวนเงินที่ถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างทำงานของเรานั้น เปอร์เซ็นต์ต่างกันมหาศาลมาก หมวดรับเหมานั้นหักได้ถึง 70%

4รายได้ที่ขอหักไม่เท่ากันในแต่ละหมวด

ข้อนี้ทำให้กลับมามองดูความเป็นจริงของ freelance ข้อหนึ่งนะครับว่า “ถ้าเราไม่ได้มีกำไรสุทธิถึง 30% ต่องาน สิ้นปีถ้าคำนวนออกมาแล้วเราต้องเสียภาษีเพิ่มอีก แปลว่ากำไรเราก็ลดลงไปอีกนะครับ” ดังนั้น freelancers ครับ ตั้งราคากันให้เป็นด้วย อย่างน้อยถ้างานปีนี้คับคั่งจนต้องเสียภาษีก็จะได้มีเงินพอจ่ายและจะได้ไม่ต้องงงว่ากำไรที่ทำหายไปไหนนะครับ

กรอกใบที่หนึ่งเสร็จก็กดตรงคำว่า เพิ่มรายการเงินได้ เพื่อกรอกใบถัดไปเข้าไปอีกก็ได้นะครับ ของผมมีไม่กี่ใบก็เลยกรอกทุกใบเลย เสร็จแล้วก็กดไปยังหน้าต่อไปเพื่อกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับรายจ่ายของเรา ซึ่งก็มีไม่กี่ช่องและใช้ตัวเลขรวมๆ ที่เราบวกเตรียมไว้ตอนแรกนั่นเอง

5หน้าสรุป

สุดท้าย ระบบจะขึ้นหน้าสรุปว่าตกลงแล้ว

  • เรามีรายได้ถึงระดับต้องเสียภาษีหรือไม่
  • มียอดที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเป็นจำนวนเท่าไร หรือไม่มี
  • เรามียอดรายจ่ายที่สรรพากรยอมให้นำมาหักภาษีได้หรือไม่
  • จำนวนเงินที่เราจะได้คืน (ถ้ามี) ก็คือยอดที่เราต้องเสียภาษี ลบด้วยรายจ่ายนั่นเอง
  • แปลว่าถ้ายอดรายจ่ายของเราไม่มากพอเราก็อาจมียอดเสียภาษีที่ต้องจ่าย แต่ถ้าเรามีรายจ่ายมากกว่า เราก็ได้มากสุดแค่ยอดภาษีที่ต้องเสียของเราเท่านั้นครับ

3. ก่อนออกจากหน้าสุดท้ายพิมพ์ PDF ไว้หน่อยก็ดี

เป็นบริการที่ก็ไม่ลึกลับแต่หายากมากเพราะอยู่บรรทัดเกือบสุดท้ายของหน้าสุดท้ายครับ ไม่สังเกตก็อาจจะหาไม่เจอ กดพิมพ์ PDF ออกมาส่งเมล์หาตัวเอง Archive เก็บแบบฟอร์มที่กรอกเสร็จแล้วเมื่อกี้เก็บไว้เป็นหลักฐานหน่อยก็ดีเผื่อระหว่างปีเราต้องมาอ้างอิง หรืออาจต้องไปพบสรรพากรในบางกรณีจะได้สะดวกขึ้น

6อย่าลืมพิมพ์แบบเก็บไว้

เท่าที่ทำไปปีนี้ก็เท่านี้ครับ ไม่ยาก แล้วถ้าเรารายได้ดีจริงๆ ดูจากส่วนหักเป็นค่าใช้จ่ายของเราที่ได้มากถึง 70% แล้วก็ให้รัฐบ้างเถอะครับ ส่วนรายจ่ายถ้าเรามีมากจริงๆ เราก็ได้คืนอยู่ดี และประวัติเราเองก็จะดีด้วยเพราะทำเรื่องส่งแบบทุกปี

สนับสนุนให้ freelance ทำนะครับ ถ้ารู้วิธีทำจริงๆ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็เสร็จครับ ถ้าใครที่ยังใช้ระบบยื่นภาษีไม่เป็น ผมก็แนะนำโปรแกรม iTax ในการคำนวนภาษี และช่วยเราคำนวนการลดหย่อน เพื่อไม่ให้เสียเพิ่มเติมในปีนี้


รับข่าวสารด้านล่างนี้ เพื่ออัพเดทบทความใหม่เป็นประจำทุกสัปดาห์ ขอบคุณสำหรับการติดตามค่า

Natk

Natk

UI Specialist ซิดนีย์ ออสเตรเลีย | ประสบการณ์ทำงาน 11 ปี | สนใจเรื่อง User Interface, User Experience, Accessibility, Education | ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Tech ไทยในออสเตรเลีย | ผู้ดูแลเว็บไซต์ Designil
บทความทั้งหมด