สอน UX Design สรุปครบทุกหัวข้อ จากคอร์สระยะยาวที่ออสเตรเลีย Day1

Natk

สอน UX Design แบบตั้งแต่ต้นยันจบในแบบฉบับบทความเข้าใจง่าย

UX Design ยังเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจสำหรับคนที่อยากเปลี่ยนสายจากฝั่งของ Graphic designer หรือคนที่ทำสาย Tech เองก็อยากย้ายมาทำ เป็นอาชีพที่กำลังมาแรงในหลายๆประเทศ โดยในวันนี้แอดนัทเองได้ไปลงเรียนคอร์ส UX Design แบบ Part time ระยะเวลา 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน ซึ่งได้ความรู้เยอะมาก และอยากนำเนื้อหาคร่าวๆมาแบ่งปันเพื่อนๆชาว Designil ให้อ่านกัน ส่วนราคาก็ไม่ใช่เล่น แอบบอกตัวเลขว่าหลักแสน แต่ก็ถือว่าเป็นคอร์สที่คุ้มค่ามากๆ เพราะเรียนระยะเวลานาน และเริ่มปฏิบัติงานได้จริง เนื้อหา จาก General Assembly ค่า

โดยบทความนี้จะเขียนขยายต่อจากบทความที่แล้ว ที่แอดเพิร์ธได้เขียนไว้ก่อนหน้านี้ สามารถอ่าน พื้นฐาน UX Design ครบทุกหัวข้อ ก่อนมาต่อเนื้อหากันแบบเจาะลึกได้ในบทความนี้

บทความนี้เราจะเล่าถึงเรื่องของ Course outline และเนื้อหาที่ UX Designer ควรจะต้องรู้ ก่อนการทำงานจริง เพื่อเป็นข้อมูลการศึกษาต่อสำหรับท่านที่อยากประกอบอาชีพในสาย UX Designer เริ่มศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเองตามเนื้อหาได้ตามในบทนี้เลยนะคะ

บรรยากาศการเรียน

บรรยากาศในการเรียนของคลาสที่นี่สนุกสนานมาก เริ่มเรียนกับอาจารย์ที่เป็น UX Designer ที่ทำงานมาแล้วหลายประเทศ เพื่อนๆในห้องรวมเรา มีทั้งหมด 10 คน เจอหน้ากันเกือบสามเดือน ได้ทดลองสัมภาษณ์กันเองและได้ทดลองออกไปสัมภาษณ์กับ user จริง เพื่อนำมาทำโปรเจคที่ใช้จริง ไว้นัทจะแทรกโปรเจคที่ทำเล่นไว้เป็นระยะๆในบทความซีรีส์นี้

มาดูกันว่านัทได้อะไรจากคอร์สนี้บ้าง สำหรับใครที่อยากเริ่มเรียนไปพร้อมกัน เตรียมไปคิดโปรเจคกันมาได้เลย แล้วลองทำไปพร้อมๆกันกับซีรีส์นี้นะคะ

เนื้อหาการสอนจากคลาส มีดังนี้

Unit 1: สอนขั้นตอนการออกแบบ Design Process

  • Intro to UX Design – เล่าเรื่อง UX คืออะไร ทำไมต้องทำ UX
  • Prototypes, Feedback, and Critique – การทำ Prototype ด้วยการหัดวาดด้วยมือ

Unit 2: Rapid Prototyping

  • User research – การทำ User research แบบพื้นฐาน สอนเครื่องมือที่มีมากมายหลายพันล้านในแบบเข้าในง่าย
  • Competitive Research – ทำรีเสิชคู่แข่งของธุรกิจ
  • Synthesising Research and Creating Personas – การวิเคราะห์ผลที่ได้จากการรีเสิช และการสร้าง Personas ให้กับ user ของเรา รวมไปถึง User & Customer journey
  • Defining User Goals and User Flows – ตามหาเป้าหมายของ user และการสร้าง user flow
  • Paper Prototyping and Usability Testing Basics – การทำ Prototype ด้วยกระดาษและการทำ Usability testing แบบพื้นฐาน

Unit 3: High-Fidelity Prototype การทำ Prototype แบบเสมือนจริงด้วยโปรแกรมออกแบบ UI ต่างๆ เช่น Sketch, Adobe XD, Figma etc.

  • User Stories and Feature Prioritisation – วางแผน User stories และฟีเจอร์ที่เราจะใช้ใน Product ของเรา
  • Information Architecture and Navigation – วางแผนการออกแบบ IA โครงสร้าง information architecture ที่จะใช้ในงานของเรา
  • Responsive/Native Design and Design Patterns – เรียนรู้เรื่องการทำ Responsive, native, หรือ design pattern
  • Wire-framing – การทำ wireframe
  • Visual Design Basics – การออกแบบ Visual Design แบบพื้นฐาน
  • High-Fidelity Prototyping – การทำ Prototype แบบขั้นสูง
  • Advanced Usability Testing – การทำ Usability testing แบบละเอียด

Unit 4: Refine หลังจากเราทำ Usability Testing มาแล้ว เราจะเจอผลการทดสอบพร้อมกับฟีดแบคที่เยอะแยะเต็มไปหมด ทำยังไงถึงจะอัพเดทและแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ของเรา พัฒนาปรับปรุงเครื่องมือของเราให้ดียิ่งขึ้น

  • Onboarding and Behaviour Change
  • Final Project Workshop

Unit 5: Final Project workshop เป็นการพรีเซนต์ Final project ที่เราได้เริ่มทำมาตั้งแต่วันแรก และปิดท้ายด้วยการทำ Portfolio สำหรับใช้ยื่นสมัครงานตำแหน่ง UX Designer

  • UX Mini-Project
  • Presentation Day 1
  • Presentation Day 2
  • Portfolios and Next Steps

โดยคลาสเรียนได้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน เราได้ทำการแบ่งเนื้อหาเป็นรายวันให้เข้าใจง่ายๆ มาเริ่มเรียนด้วยกันตั้งแต่วันที่ 1 กันเลย

วันที่ 1: Intro to UX design and design thinking

คลาสแรกที่ได้เรียนนั้นจะเป็นการเล่าพื้นฐานของ UX ว่าคืออะไร? ทำไมต้องมีตำแหน่งของ UX Design ในองค์กร งานหลักๆของ UX นั้นทำอะไรบ้าง

User Experience จะเกิดขึ้นเมื่อ users หรือผู้ใช้งานได้ทำการ สัมผัส มองเห็น ได้ยิน รู้สึก หรือใช้งานแอพ เว็บไซต์ อุปกรณ์ บริการ สินค้า หรือระบบของเรา

User experience design

ในวิดีโอจะมีภาพประกอบพร้อมความหมายของ UX, CX, SD แบบละเอียด

คือ การออกแบบบประกบการณ์ของผู้ใช้งาน คือการที่เราทำให้ประสบการณ์ของผู้ใช้นั้นมีความธรรมชาติ เข้าใจและใช้งานได้ง่ายตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน พร้อมกับบรรลุผลเป้าหมายทางธุรกิจของเรา

รวมไปถึงพื้นฐานการทำ Design thinking วิธีการคิด UX โดยใช้หลักการ Design thinking นั้นใช้งานได้อย่างไรบ้าง

Design Thinking

คือ Framework ที่ช่วยในการวางแผนการออกแบบ โดยใช้หลักการของ Double Diamond ที่มีวงแหวนของเพชรสองวงอยู่คู่กัน

Design thinking จาก Design council
Design thinking จาก Design council

ภาพข้างต้น: จาก Design council อธิบายถึงขั้นตอนการตามหาปัญหา ทั้งแบบกว้าง (Divergent thinking) และการคิดแบบแก้ปัญหาไปที่เฉพาะจุดหรือการตัดสินใจ (Convergent thinking)

ถ้าใครยังสับสนแนะนำให้ตามไปดูวิดีโอเก่าของเราได้ที่: UX/UI วิดีโอ

Design thinking for ux designer
Design thinking for ux designer

เราใช้ Design thinking เองได้ในการวางแผนการทำ UX, พรีเซนต์งานให้กับ Stakeholder หรือจัดเวิร์คช็อปให้กับทีมได้เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาร่วมกันในองค์กร เพื่อตามหาวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาของเรา ถือว่าเป็น Framework ที่ต้องเรียนรู้อีกอย่างนึงที่ใช้งานได้จริงค่ะ

เริ่ม stage แรกด้วยการเพิ่ม Empathy

# เราจะสามารถออกแบบสิ่งที่ดีที่สุดได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจพฤติกรรม ความต้องการ และแรงขับเคลื่อนของผู้บริโภค

# เราจะต้องเอาตัวเองไปเป็น User เพื่อจะได้เรียนรู้และเข้าใจว่า User รู้สึกอย่างไรเวลาที่เขาต้องการจะแก้ปัญหาสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่

# การออกแบบที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่ว่า เราคิดว่าสิ่งนี้ดีที่สุดสำหรับเราแล้วก็ต้องดีที่สุดสำหรับคนอื่น แต่คือการตามหาว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานของเรา

วิธีการสัมภาษณ์แบบเริ่มต้นเพื่อเก็บข้อมูล User need statements

ไม่ควรถาม: ว่าผู้ใช้ของเราต้องการอะไร
เพราะ: คนเราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในปัญหาของตนเอง แต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา

ควรถาม: ถามเกี่ยวกับประสบการณ์ ปัญหาเฉพาะตัวที่ผ่านมาในอดีต เช่น ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ช่วงเวลาที่แย่ที่สุด หรือเวลาล่าสุดที่คุณได้พบเจอ
สรุป: การเข้าใจ รับฟัง เรียนรู้ และลองไปเป็นเขาดู จะช่วยสร้าง Empathy ให้กับเราได้

ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยการปฏิบัติตามดังนี้

# ถามคำถามปลายเปิด เพื่อตามหาปัญหาที่เรากำลังยังค้นไม่พบหรือความรู้สึกของผู้ใช้งานที่เรากำลังมองหา หลีกเลี่ยงการถามคำถามปลายปิด Yes No question

# ให้ผู้ถูกสัมถาษณ์สรุปความคิดและโฟกัสไปที่จุดสำคัญที่สุดที่เราต้องการ

# ถามคำว่า “ทำไม?” เพื่อให้เข้าใจแก่นของปัญหานั้นๆ

# ฟัง, อย่าถามคำถามอะไรที่เฉพาะเจาะจงเกินไป เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้ว่าทำไมผู้ถูกสัมภาษณ์ถึงตอบคำถามแบบนั้น

# ใช้ความเงียบ ปล่อยให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้เล่าเรื่องอย่างต่อเนื่อง แต่ก็สามารถพูดอะไรให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่รู้สึกกดดันจนเกินไป และอาจจะปิดท้ายด้วยสิ่งที่คุณคาดไม่ถึงกับการสัมภาษณ์ครั้งนี้เพื่อเป็นการขอบคุณ

อ่านมาถึงตรงนี้คงอยากรู้แล้วสิว่า เอ๊ะ แล้วเราจะฝึกถามคำถามพวกนี้ไปทำไม เกี่ยวอะไรกับ Design thinking กันล่ะนี่ ฝึกไปเพื่อทำ User need statements นั่นเอง

User need statements บางครั้งเราจะเรียกกันว่า problem statements หรือ point-of-view statements เป็นตัวทูลหลักๆที่ช่วยในขั้นตอนที่สองของ Design thinking หรือ Define state ช่วยในการมองเห็นปัญหาและข้อมูลที่หลากหลายก่อนที่เราจะเข้าสู่สเตจต่อไปในการ Ideate ข้อมูลนั่นเอง

ในการทำ User need statements เริ่มต้นด้วยการทำกราฟตามภาพด้านล่างได้เพื่อเป็นการมองเห็นปัญหาภาพรวมที่เราได้มาทั้งหมดจากการสัมภาษณ์ของแต่ละ User ค่ะ

user needs
user needs statement

โดยปกติแล้ว need statements จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนด้วยกันคือ:

1) User
2) a need
3) a goal

โดยจะมี Pattern ดังต่อไปนี้ [__User A__]คือ__________ ต้องการ_____________เพื่อ________________________.

ตัวอย่างเช่น [ สมหมาย คือ นักเรียนคณะแฟชั่นดีไซน์ชั้นปริญญาตรี] ต้องการ [เรียนต่อปริญญาโทสาขาแฟชั่นดีไซน์] เพื่อ [นำความรู้ไปช่วยบริหารธุรกิจเสื้อผ้าที่บ้านให้เกิดกำไรสูงสุด]

user statement
ตัวอย่างการทำ user need statements

หลังจากได้ User need statements แล้วเราจะเอาไปทำอะไรต่อ?
เราสามารถนำข้อมูลที่ได้มาเอาไปทำการ Analyze จัดกลุ่มข้อมูล, Synthesize ต่อเพื่อนำข้อมูลไปใช้ต่อในขั้นถัดไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของเราเลยค่ะ ตย.เช่น นำข้อมูลที่ได้ไปทำ Personas ต่อ หรือนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อหา solution วิธีการแก้ไขปัญหาต่อกับตัว method ux ตัวอื่นๆ

หรือบางคนอาจจะนำไปใช้ทำงานต่อในขั้นตอนต่อไปตามแผนของ Design thinking model นั่นคือ Ideate & Prototype


และสุดท้ายนี้ Design thinking สามารถไปประยุกต์ใช้กับ UX Methodology ได้ด้วย ตัวอย่างเช่นการใช้ Design thinking กับ UX Research ตามภาพ cheat sheet ด้านล่างเลย

โดยภาพด้านล่างจะเขียนอธิบายชื่อของ Method ที่ใช้ในการทำรีเสิช ในแต่ละขั้นตอน ของ Design thinking ถ้าเราเริ่มจาก Discover เราอาจจะไปเริ่มทำ Field studies, user interviews เป็นต้น

*หมายเหตุ: ปัจจุบัน UX Designer ยังคงเถียงกันเรื่อง Methodology ไม่มีวันสิ้นสุด เอาเป็นว่าเอาไปปรับใช้กับธุรกิจและองค์กรของตัวเอง ตามงบประมาณที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดกันได้ตามใจชอบ

ux research method
ux research method

วันนี้ต้องขอจบเนื้อหาพื้นฐานของ UX ไว้เพียงเท่านี้ค่า สำหรับคนที่สนใจเนื้อหา UX แบบนี้ สามารถกดรับข่าวสารได้จากอีเมล์ด้านล่างเพื่ออัพเดทบทความ Day2 ในอนาคต แล้วเจอกันนะค้า

อ่านบทความต่อใน Day 2 ได้ที่นี่เลย

สอน UX Design สรุปครบทุกหัวข้อจากคอร์สระยะยาวที่ออสเตรเลีย Day2

บทความแนะนำที่เกี่ยวข้องกับ UX UI

Natk

Natk

UI Specialist ซิดนีย์ ออสเตรเลีย | ประสบการณ์ทำงาน 11 ปี | สนใจเรื่อง User Interface, User Experience, Accessibility, Education | ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Tech ไทยในออสเตรเลีย | ผู้ดูแลเว็บไซต์ Designil
บทความทั้งหมด