อาชีพคนทำเว็บไซต์ตายไปแล้ว? ในยุคที่มีเครื่องมือ Drag and Drop ง่าย ๆ เต็มไปหมด

designil

เมื่อไม่กี่วันก่อนระหว่างที่แอดมินนั่งอ่าน Twitter เพลิน ๆ ก็ไปเจอกับทวีตของ Web Designer ชื่อดังที่เป็นผู้เขียนบทความ 4 วิธีการทำ Responsive จากเว็บไซต์ระดับโลก ซึ่งเค้าได้รับอีเมลจากนักศึกษาด้าน Web Development คนหนึ่งที่ใกล้เรียนจบว่า:

มีคนมาพูดที่มหาลัยว่า

[ อาชีพคนทำเว็บไซต์ตายไปแล้ว เดี๋ยวนี้มี Platform และเครื่องมือช่วยทำเว็บง่าย ๆ แค่คลิกปุ่มไม่กี่ปุ่ม ลากของที่ต้องการมาใส่ก็เสร็จแล้ว ]

ผมเลยอยากรู้ว่าถ้าผมเรียนจบไปแล้วจะหางานดี ๆ สายทำเว็บไซต์ได้มั้ย? อาชีพนี้คนยังต้องการอยู่หรือเปล่า?

ซึ่งก็ได้รับคำตอบใน Twitter เยอะแยะมากมาย หลาย ๆ ความเห็นก็น่าสนใจมาก (จะนำมาเล่าให้ฟังในส่วนล่าง ๆ ของบทความนี้ครับ)

ในฐานะที่แอดมินเป็นคนทำเว็บไซต์มาหลายปี และได้เห็นเครื่องมือสำหรับทำเว็บไซต์ต่าง ๆ ออกมามากขึ้นในหลายปีที่ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ใช้บางตัวด้วย เลยอยากเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ทุกท่านฟังกันครับ


เครื่องมือทำเว็บออนไลน์ สมัยนี้ทำอะไรได้บ้าง

ก่อนหน้าที่จะเจอทวีตนี้ แอดมินได้ไปเจอบทความใน Smashing Magazine ที่เล่าถึงเครื่องมือทำเว็บไซต์ยุคใหม่ ที่เค้าเรียกว่า Advanced website builders ซึ่งหมายถึงเครื่องมือที่ทำเว็บไซต์ได้โดยแค่เลือกธีม ลาก ๆ วาง ๆ ก็เสร็จเรียบร้อย

ผมคิดว่า เครื่องมือสำหรับทำเว็บไซต์ ในปัจจุบันจะมีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ


1. Advanced Website Builders ลาก ๆ วาง ๆ เสร็จเลย

เครื่องมือลาก ๆ แบบง่ายแสนง่าย ของ Wix.com

เครื่องมือในกลุ่มนี้ เช่น Squarespace, Wix, และ Weebly ซึ่งเป็น Platform ที่ให้คนจ่ายรายเดือน ประมาณเดือนละ 500 บาท เพื่อใช้เครื่องมือสร้างเว็บไซต์ออนไลน์ของเค้า สามารถเลือกธีมที่มีอยู่แล้ว แล้วใส่ตัวหนังสือ ใส่รูปตามต้องการได้เลย หรือจะแต่งเพิ่มเติมก็แล้วแต่ความสามารถของเครื่องมือแต่ละเจ้า

ข้อดีของระบบแบบนี้ คือ ราคาถูกมาก ถ้าเทียบกับการไปจ้างคนทำเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่ และเครื่องมือสามารถใช้งานได้ง่าย แถมเว็บออกมาเป็น Responsive เปิดในมือถือได้ด้วยนะ (จะมีแค่ Wix ที่บางเทมเพลตแยก Mobile Site กับ Desktop Site)

ส่วนข้อเสีย คือ เหมาะกับเว็บไซต์แสดงข้อมูลทั่วไป ไม่มีระบบอะไรที่พิเศษ และแพลตฟอร์มเหล่านี้บางเจ้าใช้ JavaScript ทำงานทั้งหมดเพื่อให้สามารถปรับแก้ได้หลายรูปแบบแบบ เลยทำให้เกิดผลกระทบด้าน SEO ที่ไม่ดี หรือเว็บไซต์โหลดช้า

ซึ่งในปัจจุบันก็มีคนที่รับทำเว็บไซต์โดยการเก็บเงินค่าพัฒนาถูก ๆ แล้วไปใช้ระบบพวกนี้ทำให้ลูกค้า หลังจากนั้นเก็บค่าดูแลรายเดือนแทนเช่นกันครับ


2. เครื่องมือกึ่งสำเร็จรูป ที่ต้องการความรู้โปรแกรมมิ่งเข้ามาช่วย

เครื่องมือ Drag and Drop ที่ค่อนข้าง Advance ของ Webflow.com สามารถปรับ CSS ได้อิสระ

เครื่องมือในกลุ่มนี้เหมาะกับผู้ใช้ที่อยู่ตรงกลางระหว่างระดับ User กับ Programmer คือ สามารถเขียนโค้ดได้แต่ยังไม่ชำนาญมาก และต้องการเว็บไซต์ที่ปรับแก้ได้ในระดับที่ Flexible มากกว่าแบบแรกครับ

เครื่องมือประเภทนี้มีอยู่ไม่กี่เจ้าครับ ที่ผมพอนึกออกก็คือ Webflow, Froont ซึ่งผมคิดว่าเครื่องมือในกลุ่มนี้น่าสนใจมากถ้า Designer ได้หัดใช้ เพราะจะสามารถสร้างหน้าตาเว็บไซต์ที่ตัวเองต้องการได้ในระดับหนึ่งเลยครับ

ส่วนถ้าเป็นโปรแกรมเมอร์อันนี้ไม่ค่อยแนะนำ เพราะว่าถ้าเขียน HTML/CSS/JavaScript เองได้คล่อง จะมีประโยชน์กับสายงานโปรแกรมเมอร์ในระยะยาวมากกว่าครับ


เครื่องมือทำเว็บออนไลน์ VS จ้างคนทำเว็บไซต์

ความเห็นส่วนตัวของแอดมิน ในฐานะที่เป็นคนรับทำเว็บไซต์คนหนึ่ง ก็คือ เครื่องมือทำเว็บไซต์ออนไลน์ในปัจจุบันตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของเว็บไซต์ได้ในระดับหนึ่ง ได้แก่ หน้าตาโอเค, แก้ไขข้อมูลได้ง่าย, เว็บไซต์เปิดอ่านบนมือถือ / แท็บเล็ตได้, ค่าใช้จ่ายไม่สูง (เทียบกับการจ้างมืออาชีพทำเว็บไซต์ขึ้นมา)

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือสำเร็จรูปก็มีข้อเสียหากต้องการทำดีไซน์หรือฟีเจอร์พิเศษเพิ่มเติม เพราะถ้าเป็นเว็บไซต์ที่จ้างคนพัฒนาขึ้นมาใหม่จะสามารถปรับแก้ เพิ่มลดฟีเจอร์ ได้ตามต้องการ แต่ถ้าใช้เครื่องมือสำเร็จรูปก็อาจจะไม่สามารถทำได้เลย ส่งผลให้ต้องย้าย Platform เท่านั้น

และถ้าหากต้องการดีไซน์ที่เป็น Custom Made เฉพาะของตัวเองเท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือที่สามารถแปลงดีไซน์เป็นโค้ดได้สมบูรณ์ 100% เท่าจ้างคนมานั่งตัด PSD to HTML/CSS ครับ

จะเห็นว่าตลาดของลูกค้า​ “เครื่องมือทำเว็บออนไลน์” กับ “จ้างคนทำเว็บไซต์” มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับความต้องการของธุรกิจเป็นหลัก

  • ถ้าเป็นธุรกิจเล็ก ๆ อยากได้เว็บไซต์แสดงข้อมูลเท่านั้น ไม่ต้องการฟีเจอร์เพิ่มเติมอื่น ๆ การใช้ “เครื่องมือทำเว็บออนไลน์” ค่อนข้างตอบโจทย์ครับ
  • ถ้าเป็นธุรกิจระดับกลางถึงใหญ่ ต้องการฟีเจอร์เพิ่มเติมที่เหมาะสมกับธุรกิจ เช่น ต้องการระบบจองสินค้าแบบพิเศษ, หรือต้องการระบบเก็บ Leads ที่พัฒนาใหม่ให้เข้ากับธุรกิจของเราโดยเฉพาะ การจ้างคนทำเว็บไซต์จะสามารถพัฒนาระบบเพิ่มเข้าไปได้ง่ายกว่ามากครับ

แน่นอนว่าโจทย์ของอาชีพคนทำเว็บไซต์ในปัจจุบันก็จะยากขึ้นกว่าเดิม เพราะโจทย์ง่าย ๆ มีเครื่องมือออกมาแก้ปัญหาให้หมดแล้ว ซึ่งแอดมินมองว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่ทำงานในสายไอทีครับ ถ้าเราอยู่เฉย ๆ ก็เหมือนกับเราก้าวถอยหลังไปทุกวัน

นอกจากนั้น ต้องอย่ามองตัวเองว่าเป็นแค่ “คนรับทำเว็บไซต์” แต่เราต้องสามารถสร้างประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ให้ลูกค้าได้ด้วย เช่น ให้คำแนะนำลูกค้าเรื่องการลงโฆษณาออนไลน์, Marketing, Analytics, ดีไซน์สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้โดดเด่นกว่าคนอื่น และสามารถเอาตัวรอดได้ในตลาดคนทำเว็บที่มีคู่แข่งใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน


อาชีพคนทำเว็บไซต์ตายหรือยัง

จากในทวีตที่อยู่ด้านบนสุดของบทความนี้ก็มีคนสนใจตอบมากมาย ซึ่งมีทั้งคนที่ให้ความเห็นไปในทางต่อต้านเครื่องมือทำเว็บไซต์ออนไลน์ และแน่นอนว่ามีคนที่ความเห็นไปในทางสนับสนุนเครื่องมือทำเว็บออนไลน์เช่นกัน จาก 100 กว่าคำตอบ แอดมินก็สรุปประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังกันดังนี้ครับ

“เราซื้อกรรไกร, ที่หนีบผม, ยาย้อมผม ได้ทุกที่ แต่ร้านทำผมก็ยังอยู่ได้”

ทวีตจากคุณ @MCFlashdance

หนึ่งในคำตอบที่มีคนให้หัวใจมากที่สุดคำตอบหนึ่งก็คือทวีตนี้ ซึ่งจิกกัดคำพูดของ Guest Speaker ได้อย่างน่าสนใจ ว่าถึงแม้จะมีเครื่องไม้เครื่องมือขายอยู่ให้คนซื้อกันได้ แต่คนก็ยังใช้บริการร้านตัดผมอยู่ดี

“บริการทำเว็บเล็ก ๆ และราคาถูกจะเจอปัญหา อย่างไรก็ตาม โปรแกรมเมอร์ดี ๆ คนก็ยังต้องการอยู่”

ทวีตของคุณ @Seanhecking

คุณ Sean ให้ข้อสรุปที่คล้ายกับที่แอดมินสรุปไว้ด้านบนครับ คนทำเว็บไซต์เล็ก ๆ จะเจอคู่แข่งเป็นเครื่องมือออนไลน์เหล่านี้โดยตรง แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมืออะไรที่มาแทนโปรแกรมเมอร์เก่ง ๆ ได้ครับ

“ผมขอโทษนะ แต่ Squarespace มีปุ่มสำหรับเขียน React ด้วยเหรอ – @kylefilegriffin

อีกทวีตของคุณ @kylefilegriffin ก็ออกมาเปรียบเทียบเครื่องมือทำเว็บไซต์สำเร็จรูปพวก Squarespace หรือ Wix ที่ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ แบบ React ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นมามากมาย กว่าเราจะทำเครื่องมือที่เขียน React ได้อัตโนมัติออกมา ป่านนั้นก็คงมีเครื่องมือใหม่ ๆ ออกมาเรียบร้อยแล้วครับ

“เครื่องมืออัตโนมัติมาแทนที่คนทำเว็บไซต์ไม่ได้หรอก”

ทวีตของคุณ @JessLHutton

หลาย ๆ คนอาจจะคิดแบบนี้ว่าเครื่องมืออัตโนมัติยังไม่สามารถทำงานเว็บแทนคนได้ ซึ่งก็ถูกสำหรับปัจจุบันครับ แต่ในอนาคตแอดมินมองว่าเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับเวลาว่าจะช้าหรือเร็วอย่างไรครับ เมื่อไม่กี่วันก่อนแอดมินได้ดูวีดิโอเรื่อง “Can Computer Design?” ซึ่งพูดถึงการนำคอมพิวเตอร์ช่วยดีไซน์ โดยใช้ Machine Learning

วีดิโอนี้พูดโดยโปรเฟสเซอร์ Antti Oulasvirta ซึ่งเชี่ยวชาญด้าน Cogniive Science ถ้าท่านใดสนใจสามารถชมได้ในวีดิโอด้านล่างเลยครับ

สรุปคือ เค้าบอกว่าการทำคอมพิวเตอร์ให้ดีไซน์อัตโนมัติทำได้ยากมาก เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดว่า “เลขง่าย แต่ดีไซน์ยาก” ซึ่งจริง ๆ หลังจากเค้าศึกษามาหลายปีก็พบว่า “ดีไซน์ยาก เพราะเลขที่ใช้ในการคำนวณดีไซน์นั้นยาก” ต่างหาก นอกจากนั้นยังพูดถึงการสร้างเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือในการดีไซน์ ถ้าท่านใดสนใจเรื่องนี้แนะนำให้ดูมากครับ

“คนทำเว็บ เหมือนอาชีพคนดีไซน์ที่จะไม่ตาย แต่จะกลายเป็นสายงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญมากขึ้น”


ทวีตจากคุณ @swartsr

ขอปิดท้ายด้วยทวีตนี้ที่แอดมินเห็นว่าจริงมาก เค้าบอกว่าสายอาชีพคนทำเว็บไซต์อย่างเราจะไม่มีวันหมดความต้องการไปจากตลาด แต่จะกลายเป็นสายอาชีพที่ต้องการความเชี่ยวชาญมากขึ้น ซึ่งปัญหาที่ยากและปัญหาเฉพาะธุรกิจนั่นแหละ คือ ปัญหาที่ต้องการมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปแก้ไข ซึ่งคอมพิวเตอร์สามารถมาแทนในจุดนี้ได้ยากมาก ๆ

สำหรับใครที่กำลังเรียนทำเว็บไซต์อยู่ และกำลังคิดว่าจะหางานทำเว็บไซต์อย่างไรดี แอดมินแนะนำว่าให้ลองหาทางที่เชี่ยวชาญที่สุดแล้วไปให้สุดจะมีโอกาสหางานได้ง่ายมากครับ โลกตอนนี้เรามีคนที่ความสามารถหลากหลายแต่ยังไม่สุดอยู่เยอะ คนที่พอเทคโนโลยีใหม่มาก็รีบใช้โดยที่ยังไม่ทันเก่งเทคโนโลยีเก่าก็เยอะ เพราะฉะนั้นคนที่เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งมาก ๆ มีที่ยืนแน่นอนครับ

แล้วคุณล่ะครับ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ? คุณคิดว่าอาชีพคนทำเว็บไซต์ในไทยใกล้ตายแล้วหรือยัง อยากได้ความเห็นจากท่านที่ทำงานในสายนี้กันอยู่ครับ :)


ก่อนหน้านี้ทาง Designil ได้มี Guest Writer คุณตองมาพูดถึงประเด็นคล้าย ๆ กันคือ ทำเว็บแค่นี้ ทำไมถึงแพง บทวิเคราะห์ราคาเว็บไซต์ มาจากไหนบ้าง ซึ่งถ้าสนใจในเรื่องนี้แนะนำให้ไปอ่านกันต่อได้เลยครับ

เรามีบทความเพิ่มเติมเรื่องของ Low code/No code มาแนะนำกันด้วยนะครับ มาติดตามกันเลย
Low-code/No-code แพลตฟอร์มทำเว็บและแอพแบบไม่ต้องเขียนโค้ด

designil

designil

Data engineer & WordPress Developer ทำงานที่บริษัทแคนว่า ซิดนีย์ออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ Designil, DataTH ชอบอ่านบทความใหม่ๆ ตลอดเวลา และชอบสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีให้ภาษาที่เข้าใจง่าย ยินดีที่ได้รู้จักทุกคนนะครับ
บทความทั้งหมด