มาทำความรู้จักกับ Aptitude test แบบทดสอบก่อนเข้าทำงานที่หลายบริษัทใช้

Radar

กลับมาพบกันอีกแล้ว เคยได้ยินคำว่า Aptitude test กันไหมครับ แอดเชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะได้ยินเพียงแค่ผ่านๆ แต่ไม่รู้ว่าความหมายของมันคืออะไร เดี๋ยววันนี้แอดจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ Aptitude test เพราะว่าเจ้าตัวนี้เป็นตัวที่หลายๆ บริษัทใช้เป็นเงื่อนไขในการรับผู้สมัครเข้ามาทำงาน

ถ้าไม่อยากพลาดโอกาสในการเข้าทำงานในตำแหน่งงานที่ต้องการ เรามาทำความรู้จักกับเจ้าแบบทดสอบตัวนี้กันครับ

Aptitude test คืออะไร?

คำว่า ”Aptitude” แปลว่า ”ความถนัด” ดังนั้น Aptitude test แปลว่า แบบทดสอบความถนัด คือการทดสอบความถนัดหรือทักษะของแต่ละบุคคลต่อความสำเร็จในงานหรือกิจกรรมที่กำหนด ซึ่งการทดสอบนี้ถือว่าคนแต่ละคนนั้นมีข้อดีและข้อเสียโดยธรรมชาติต่องานนั้นๆ ที่แตกต่างกันออกไปในด้านเฉพาะตามลักษณะโดยกำเนิด ซึ่งมันจะสามารถวัดได้ว่าคนๆ นั้นเหมาะสมที่จะทำงานในตำแหน่งนั้นได้หรือไม่

โดยทั่วไปแล้วการทดสอบความถนัดจะใช้สำหรับการหางานตามบริษัทต่างๆ เพราะปัจจุบันหัวหน้างานส่วนใหญ่จะเปิดให้ทำแบบทดสอบนี้ก่อนเป็นขั้นตอนแรก เพื่อจะได้ทำการประเมินได้เบื้องต้นว่าคนนี้มีทักษะและความสามารถต่องานนี้มากแค่ไหนก่อนจะเข้ามาสัมภาษณ์

นอกจากนั้นยังใช้สำหรับการเข้าเรียนในระบบการเรียนออนไลน์ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากการทดสอบความถนัดจะช่วยจำแนกผู้เรียนได้ว่า ผู้เรียนแต่ละคนนั้นถนัดในการเรียนด้านไหน มีทักษะในการเรียนต่อวิชานั้นมากน้อยอยู่ในระดับใด และทำให้รู้จักตัวเองว่าตัวเองมีความชอบหรือความถนัดในด้านไหนเป็นพิเศษ ซึ่งมีส่วนช่วยสำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองในตอนนี้ชอบเรียนวิชาอะไร และสามารนำไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

ประเด็นสำคัญ

• การทดสอบความถนัดจะใช้เพื่อกำหนดความสามารถของแต่ละบุคคล โดยพิจารณาว่าพวกเขาเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะปฏิบัติหรือแก้ไขสถานการณ์อย่างไรต่อเหตุการณ์ที่พวกเขายังไม่เคยพบเจอหรือไม่เคยถูกฝึกอบรมมาก่อน

• โรงเรียนใช้แบบทดสอบนี้กับนักเรียนเพื่อพิจารณาว่านักเรียนแต่ละคนมีความถนัดหรือความสามารถในด้านไหน และมีแนวโน้มที่จะสามารถเข้าเรียนในสาขาวิชาเฉพาะไหนได้บ้างในหลักสูตรมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนแต่ละคนมองเห็นทางเลือกของตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

• แผนกฝ่ายบุคคลในบริษัทบางแห่งจะใช้แบบทดสอบความถนัดนี้ เพื่อใช้ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้สมัครงานแต่ละคนก่อนการสัมภาษณ์ เพื่อให้ในขั้นตอนการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะได้รู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้สมัครงานและสามารถดำเนินการสัมภาษณ์ไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น

• การทดสอบความถนัดไม่ได้เป็นการทดสอบเพียงแค่ความรู้หรือสติปัญญาเฉพาะด้านหรือเฉพาะเจาะจงเท่านั้น แต่เป็นการทดสอบถึงระดับการแก้ไขปัญหาเมื่อพบเจอในสถานการณ์จริง อีกทั้งยังมีการทดสอบทางด้านความคิด ทัศนคติ และการใช้อารมณ์ตามแต่ละสถานการณ์ ดังนั้นแบบทดสอบนี้จึงไม่สามารถที่จะศึกษามาก่อนแล้วเราจะทำได้หมด แต่ต้องใช้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่มีของตัวเราแทนครับ


มาทำความเข้าใจกับ Aptitude test กัน

การทดสอบความถนัดสามารถใช้วัดความสามารถของตัวเราเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทดสอบเพื่อกำหนดอาชีพที่เหมาะสมกับทักษะและความสนใจในตัวของเราเอง ซึ่งบางครั้งตัวเราเองก็อาจจะไม่รู้หรอกครับว่าตัวเองอยากทำงานอะไร ตัวเราเองโดดเด่นในด้านไหน เจ้าแบบทดสอบตัวนี้จะเข้ามาเป็นส่วนช่วยในการทำให้ตัวเราค้นหาตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ในทำนองเดียวกัน เด็กที่กำลังศึกษาอยู่มัธยมปลายก็ใช้แบบทดสอบความถนัดนี้ในการค้นหาตัวเองว่าตัวเองนั้นเหมาะที่จะเรียนวิชาเอกใดในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจว่า วิชาเอกไหนที่เหมาะสมกับความสามารถของตัวเรา รวมทั้งวิชาเอกนั้นสามารถเรียนได้ในมหาวิทยาลัยที่เราต้องการรึเปล่า เพื่อเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับตัวพวกเขานั่นเองครับ

โดยทั่วไปแล้วแบบทดสอบความถนัดที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันนี้จะวัดความสามารถของแต่ละบุคคลในด้านต่างๆ ดังนี้

การใช้เหตุผลเชิงตรรกะ

นั่นคือ การแก้ไขปัญหาโดยการนำกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขต่างๆ มาเพื่อใช้ในการพิจารณาสถานการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ โดยจะใช้เหตุผลของตัวเราเองหรือประสบการณ์ที่เราได้สั่งสมมา นำมาอธิบายวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะคาดหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่คาดการณ์ไว้

การใช้ทักษะเชิงตัวเลข

เป็นการใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์เข้ามาแก้ไข้ปัญหาที่พบเจอในชีวิตจริง เช่น การใช้ความรู้ทางสถิติมาวิเคราะห์สถานภาพขององค์กร หรือ ความเป็นอยู่ รายได้ของประชากร เป็นต้น ซึ่งทักษะทางตัวเลขบางครั้งอาจจะต้องใช้การวิเคราะห์ที่ยากพอสมควร ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถผ่านแบบทดสอบนี้ได้ เพราะบางครั้งคนเราก็ไม่ได้ชอบวิชาคณิตศาสตร์กันทุกคน

ดังนั้นแบบทดสอบนี้อาจจะไปปรากฏให้เห็นในงานด้านบัญชีหรืองานที่ต้องใช้ตัวเลขในทุกๆ วัน แต่ไม่ใช่ว่าถ้าเราไม่เก่งเลขแล้วเราจะทำข้อสอบนี้ไม่ได้นะครับ อย่างที่บอกไปตอนแรกแล้วว่า แบบทดสอบนี้เป็นการประเมินว่าเรามีความถนัดในด้านไหน เราอาจจะไม่เก่งเลข แต่ด้านอื่นๆ เราอาจจะทำมันได้ดีกว่า แบบนี้เราก็อาจจะเหมาะสมกับงานทางด้านนั้นๆ มากกว่า คนเรามีความถนัดไม่เหมือนกันอยู่แล้วครับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเลย

ความสามารถทางการสื่อสาร

มีการสื่อสารหลายแบบด้วยกัน อาทิเช่น ทักษะทางการสื่อสารในองค์กร หรือการสื่อสารที่สามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังให้คล้อยตามเรา เชื่อถือเราและมั่นใจในตัวเราได้

ซึ่งผู้ที่มีความสามารถในสื่อสารเพื่อโน้มน้าวจิตใจนี้ส่วนมากจะปรากฏให้เห็นอยู่ในงานประเภทพนักงานขายตามบูธต่างๆ พนักงานคอลเซนเตอร์หรือพนักงานต้อนรับ คนเหล่านี้มีความสามารถที่จะพูดให้เราเชื่อและคล้อยตามเพื่อให้เขาสนใจใช้บริการต่างๆ ของเรานั่นเอง

ซึ่งทักษะในด้านต่างๆ ที่ได้อธิบายในข้างต้นจะถูกนำไปใช้ทดสอบโดยการยกตัวอย่างของสถานการณ์หรือบริบทต่างๆ เพื่อประเมินว่าเราสามารถที่จะใช้ทักษะในด้านไหนเพื่อมาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น รวมถึงต้องการที่จะทดสอบเราว่าเราสามารถใช้การคิดเชิงวิพากษ์ในบริบทต่างๆ ได้มากเพียงใด


เราจะทำ Aptitude test เมื่อไหร่?

เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยกันมากครับว่าการทำแบบทดสอบความถนัดเนี่ย มันต้องรอถึงมัธยมปลายหรือช่วงวัยทำงานรึเปล่าถึงค่อยเริ่มที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับมัน แอดขอให้คำตอบเลยนะครับว่า ไม่จำเป็นครับ เพราะไม่ว่าจะช่วงอายุไหนก็สามารถที่จะค้นหาตัวเองได้ทั้งนั้นว่าตัวเองต้องการอะไร ชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร ยิ่งเราค้นหาตัวเองได้เร็วขึ้นก็จะสามารถกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตัวเองได้เร็วขึ้นมากเช่นกันครับ

บางจะโรงเรียนจัดการทดสอบความถนัดให้กับนักเรียนที่เริ่มเรียนในระดับประถมศึกษาร่วมกับการทดสอบวัดระดับสติปัญญาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยจะวัดความเชี่ยวชาญในด้านของเนื้อหาทางวิชาการของตัวนักเรียนเอง ซึ่งช่วงวัยนี้เป็นวัยแห่งการเจริญเติบโต เป็นวัยแห่งการเรียนรู้และเป็นวัยที่ชอบอยากลองทำในสิ่งต่างๆ มากมาย จึงเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการที่จะค้นหาตัวเองเลยนะครับ

นอกจากนี้การทดสอบความถนัดอาจจะใช้ประเมินนักเรียนแต่ละคนว่า นักเรียนแต่ละคนนั้นมีพรสวรรค์ในด้านไหนบ้าง และมีความสามารถพิเศษอื่นๆ ซ่อนอยู่ในตัวอีกรึเปล่า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักเรียนเองในการเลือกสายการเรียนในทางที่ตัวเองชอบหรือถนัดได้ในอนาคตนั่นเองครับ


ตัวอย่างของการใช้ Aptitude test

Armed Forces Vocational Aptitude Battery (ASVAB)

จะเป็นการทดสอบวัดระดับของความรู้ในเรื่องของวิทยาศาสตร์ทั่วไป การใช้ตรรกะเชิงคณิตศาสตร์และการใช้สถิติในการแก้ไขปัญหา ความรู้คำศัพท์ต่างๆ ความเข้าใจในการอ่านและการประยุกต์ใช้เรื่องของเครื่องจักรกลในการแก้ไขปัญหาในด้านวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะพบเห็นได้บ่อยในโรงเรียนช่วงมัธยมปลาย เพราะเป็นการประเมินผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้รู้ขอบเขตของความสามารถตัวเอง เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการเรียนต่อสาขาที่ตัวเองต้องการจะเรียนต่อในมหาวิทยาลัยครับ

Language Aptitudes

เป็นการทดสอบวัดระดับของภาษาสมัยใหม่ (Modern Language Aptitude Test) ซึ่งจะเป็นการวัดความสามารถในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ใช้เพื่อประเมินความสามารถในการเรียนรู้ทักษะการสื่อสารขั้นพื้นฐานทั้งหมด โดยเฉพาะทักษะด้านการพูดและการฟัง เพื่อให้มั่นใจว่าคนๆ นั้นมีความพร้อมที่จะใช้งานภาษาในด้านการสื่อสารในทุกโอกาสต่างๆ ได้หรือไม่ หรือเพื่อประเมินคนๆ นั้นต้องมีการพัฒนาทักษะในด้านของภาษาเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน

Curriculum Guidance

จะเป็นการแนะนำหลักสูตรที่ต้องการจะศึกษาต่อของแต่ละคน ซึ่งจะมีผู้ที่คอยให้คำปรึกษาไม่ว่าจะเป็นครูหรืออาจารย์ที่ปรึกษาก็ตาม โดยพวกเขาเหล่านั้นจะจัดการทดสอบวัดความถนัดเฉพาะทางในด้านต่างๆ เช่น ในด้านเชิงกล เพื่อเป็นแนวทางให้นักเรียนในหลักสูตรที่กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อในด้านวิศวกรรมศาสตร์หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์ในมหาวิทยาลัย นักเรียนที่มีคะแนนในการทดสอบความถนัดสูงในด้านของความเร็ว ความแม่นยำ และการแก้ไขปัญหา ก็อาจจะเลือกเรียนในสาขาของวิทยาการคอมพิวเตอร์ การเงิน การบัญชี หรือในสาขาอื่นๆ ที่จำเป็นจะต้องมีการใส่ใจในรายละเอียด

Hiring Decission

เป็นการตัดสินใจในการที่จะจ้างงาน โดยในบางบริษัทจะใช้การทดสอบความถนัดเพื่อช่วยในการตัดสินใจในการจ้างงาน ซึ่งการทดสอบเหล่านี้เรียกว่า รูปแบบการทดสอบการประเมินอาชีพ ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ของบริษัทนั้นๆ สามารถทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับจุดแข็งและจุดอ่อนของพนักงานที่เข้ามาสมัครงาน นอกจากนั้นอาจจะใช้แบบทดสอบการประเมินอาชีพของภายในบริษัทที่จัดทำขึ้นมาเอง เพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจในเลื่อนตำแหน่งของพนักงานนั่นเองครับ

การทดสอบวิจารณญาณตามสถานการณ์ เป็นการทดสอบความถนัดทางอาชีพแบบเฉพาะเจาะจงที่จะสามารถช่วยคาดการณ์ว่าพนักงานจะมีการตอบสนองต่อสถานการณ์หรือปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในที่ทำงานได้อย่างไร อีกทั้งยังใช้ในการประเมินรูปแบบการสื่อสารของพนักงานและความสามารถในการทำงานเป็นทีมของพนักงานในแผนกได้อีกด้วย

โดยการทดสอบวิจารณญาณตามสถานการณ์บางอย่างจะมุ่งเน้นไปที่อาชีพการบริการลูกค้าเป็นหลัก โดยเฉพาะการทดสอบเหล่านี้จะวิเคราะห์ลักษณะบุคลิกภาพของพนักงานในด้านของการปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นในที่สาธารณะ เช่น การเอาใจใส่ การสื่อสาร การโน้มน้าว และความอดทน ซึ่งการทดสอบวิจารณญาณตามสถานการณ์อาจจะใช้เพื่อประเมินถึงความสามารถในอนาคตในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขายต่างๆ ได้ครับ

รวมคอร์สเรียนด้านการเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน


ประเภทของ Aptitude test

ปัจจุบันมีการนำแบบทดสอบความถนัดเข้ามาใช้เพื่อประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นในตัวของบุคคล ทำให้บุคคลนั้นสามารถที่จะค้นพบความสามารถของตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีความถนัดในด้านไหน เหมาะสมที่จะทำงานในรูปแบบใด ซึ่งแบบทดสอบความถนัดก็สามารถจำแนกออกไปได้อีกหลายประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ออกแบบการทดสอบว่าต้องการประเมินผลคนๆ นั้นในด้านไหน ซึ่งเราขอยกประเภทของแบบทดสอบความถนัดที่พบบ่อยมาให้ดูกันครับ

Mechanical reasoning

เป็นแบบทดสอบที่ต้องการวัดความเข้าใจของตัวเราในด้านเครื่องจักรกลว่าเราสามารถนำความรู้ทางด้านเครื่องจักรกลไกมาประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกลจริงๆ ได้รึเปล่า อาจจะต้องใช้ความรู้ในด้านของคณิตศาสตร์และฟิสิกส์เข้ามาร่วมด้วย และอาจจะแสดงอยู่ในรูปแบบของภาพหรือปัญหาในด้านของจักรกล

Situational judgment

เป็นแบบทดสอบความถนัดที่สร้างสถานการณ์สมมติขึ้นมา เพื่อให้คนๆ นั้นลองคิดแทนตัวเองในสถานการณ์ที่กำหนด แล้วตอบกลับมาตามความรู้ ความคิด จากประสบการณ์ที่ตัวเองมีภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดให้ ซึ่งการตัดสินใจเลือกที่ต่างกันของแต่ละคนนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของบุคคลเกี่ยวกับประสบการณ์ในการใช้ชีวิต การศึกษา ความสามารถทางปัญญา และบุคลิกภาพของแต่ละบุคคลที่ผ่านมา

ซึ่งสามารถนำมาทำนายพฤติกรรมของคนๆ นั้นได้นั่นเอง โดยวิธีการประเมินดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากในวงการการศึกษาและการทำงาน เช่น การใช้เพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานหรือทดสอบความสามารถในการคิดวิเคราะห์ในชั้นเรียนของนักเรียน เป็นต้น

Diagrammatic/spatial reasoning

จะเป็นข้อสอบในด้านของมิติสัมพันธ์ ซึ่งเป็นความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งของสิ่งต่างๆ เมื่อเทียบกับตำแหน่งหรือจุดอ้างอิงจุดใดจุดหนึ่ง คนที่มีทักษะทางด้านมิติสัมพันธ์ จะมีความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ที่ว่าง สถานที่และเวลา 

สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ และสามารถวาดมโนภาพของความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นในใจ และถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นรับรู้เป็นรูปธรรมได้ หรือพูดง่ายๆ นั่นก็คือการที่เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กันในรูปแบบที่ซับซ้อนมากๆ ให้ออกมาเป็นข้อมูลที่คนอื่นๆ สามารถที่จะเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ในรูปแบบของการถ่ายทอดของแต่ละบุคคล

Abstract reasoning

จะเป็นแบบทดสอบที่ใช้วัดการรับรู้ การสร้างมโนภาพ และการอุปมานหรือคาดการณ์สิ่งต่างๆ โดยไม่ใช้ ภาษา ตัวเลข หรือประสบการณ์ แต่จะใช้สัญลักษณ์ที่เป็นนามธรรม เช่น รูปภาพแทน

Numerical reasoning

เป็นการทดสอบวัดความรู้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยใช้ในเรื่องของตัวเลขและหลักคณิตศาสตร์ต่างๆเข้ามาช่วย ส่วนใหญ่จะพบในการรับสมัครงานด้านการขาย การบัญชี หรือระดับผู้จัดการ เนื่องจากงานประเภทนี้ต้องใช้หลักคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ เช่น สถิติ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ในการทำงาน

Verbal reasoning

จะเป็นการประเมินความสามารถของเราในเรื่องของการใช้คำและการใช้ภาษาสู่การคิดในเชิงสร้างสรรค์ โดยจะเป็นการแสดงความคิดและเหตุผลผ่านคำศัพท์ต่างๆ ซึ่งจะเหมาะกับการคัดเลือกเข้าเรียนในสาขาที่ต้องใช้ระดับภาษาขั้นสูงเป็นหลัก อย่างเช่น อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หรือการทูตระหว่างประเทศ เป็นต้น

Inductive reasoning

หรือการให้เหตุผลแบบอุปนัย ซึ่งจะเป็นการประเมินผู้ทดสอบในด้านของการใช้เหตุผลโดยอาศัยข้อสังเกตหรือผลการทดลองจากหลายๆ ตัวอย่างมาสรุปเป็นข้อตกลง หรือสมมติฐานทั่วไป จะเห็นว่าการจะนำเอาข้อสังเกต หรือผลการทดลองจากบางหน่วยมาสนับสนุนให้ได้ข้อตกลง ย่อมไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นการอนุมานเกินสิ่งที่กำหนดให้ ดังนั้นผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องใช้ข้อสังเกต ผลการทดลอง หรือจากประสบการณ์ที่มากพอที่จะทำให้สามรถให้ผู้อื่นเชื่อถือได้ แต่ก็ยังไม่สามารถแน่ใจในผลสรุปได้อย่างเต็มที่ เหมือนกับการให้เหตุผลแบบนิรนัย  

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการให้เหตุผลแบบนิรนัยจะให้ความแน่นอนชัดเจน แต่การให้เหตุผลแบบอุปนัย จะให้ความน่าจะเป็นหรือการพยากรณ์เป็นหลัก เหมาะสำหรับงานในด้านของวิทยาศาสตร์และการทดลองนะครับ เพราะว่าสาขาเหล่านี้ต้องมีการใช้ผลการทดลอง เพื่อนำมาตั้งเป็นสมมติฐานและหาข้อสรุปต่อไปครับ

Logical reasoning

ความสามารถในการให้เหตุผล การกำหนดหลักการ และแก้ปัญหาจากข้อมูลที่ไม่เคยเจอหรือไม่คุ้นเคย โดยจะวัดว่าคุณมีความสามารถที่จะรู้จักจัดการกับรูปแบบและลำดับของสิ่งต่างๆ ได้ดีมากน้อยแค่ไหน หากทักษะด้านนี้อ่อนหรือบกพร่อง จะส่งผลต่อความสามารถการแก้ปัญหาด้านคณิตศาสตร์ เช่น การบวกลบคูณหาร, การใช้ความรู้ทางสถิติ, รูปทรงเรขาคณิต มีปัญหาในการถ่ายโอนข้อมูลการเรียนรู้ (Learning) มีปัญหาในการอ่าน และอาจจะส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของคนๆ นั้นนั่นเองครับ

Clerical aptitude

เป็นการทดสอบความสามารถในการเรียนรู้ทักษะที่เกี่ยวกับการจัดการลำดับความคิดอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งแบบทดสอบนี้จะอาศัยการใช้สมาธิเป็นหลัก เพราะเราจะต้องค้นหาวิธีในการแก้ปัญหาให้ออกมาอย่างง่ายดายและรวดเร็ว ซึ่งจะเหมาะกับงานทางด้านธุรการในบริษัทเป็นอย่างมากครับ


จะสอบผ่าน Aptitude test ได้อย่างไร?

ในตอนแรกผู้เขียนอาจจะบอกว่า เราไม่สามารถที่จะเตรียมตัวสอบแบบทดสอบความถนัดมาก่อนได้ แต่นั่นเป็นแค่บางส่วนเท่านั้นครับ เพราะยังมีอีกหลายส่วนที่เนื้อหาของแบบทดสอบคือข้อมูลจริงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เราจึงสามารถที่จะเตรียมฝึกฝนทำแบบทดสอบมาก่อนได้ เมื่อถึงวันทำแบบทดสอบจริงเราจะได้ไม่ตื่นเต้นในการทำแบบทดสอบนั่นเองครับ

ปัจจุบันมีคู่มือการทำแบบทดสอบความถนัดในรูปแบบของออนไลน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไทยหรือต่างประเทศ ซึ่งเพื่อนๆ สามารถที่จะเข้าไปเลือกทำได้ตามที่สนใจเลย เมื่อเราเจอแบบทดสอบที่เพื่อนๆ สนใจได้แล้ว

ต่อไปผู้เขียนจะมาขอแนะนำวิธีในการที่จะทำแบบทดสอบความถนัดให้ผ่านแบบฉลุยสำหรับผู้ที่กำลังจะทำแบบทดสอบเพื่อทำการเข้าสมัครงานกันครับ

• ฝึกทำทุกวัน การที่เราฝึกฝนทำทุกวันจะทำให้เราได้ซึมซับกับคำถามและคำตอบอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงวันจริงเราจะไม่ตื่นเต้น และสามารถตอบคำตอบที่อยู่ในขอบเขตแบบที่เราเคยทำมาได้ นอกจากนั้นยังสามารถช่วยให้เรารู้ถึงจุดอ่อนของตัวเราเองได้ด้วย

• เรียนรู้รูปแบบของการทดสอบ หรือพูดง่ายๆ ก็เหมือนการทำแบบทดสอบเก่านั่นเองครับ ซึ่งมันจะทำให้เราสามารถจำภาพรวมของข้อสอบนั้นได้ เพราะบางครั้งแบบทดสอบก็จะออกข้อเดิมๆ เพราะว่าข้อนั้นเป็นสิ่งตายตัวที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือถ้าไม่ออกข้อเดิมก็อาจจะออกเนื้อหาคล้ายๆอย่างเดิม ซึ่งจะทำให้เราสามารถทำแบบทดสอบของจริงได้รวดเร็วมากขึ้นครับ

• อ่านคำแนะนำอย่างระมัดระวัง ก่อนที่จะเริ่มทำแบบทดสอบ เราควรอ่านคำแนะนำให้เข้าใจก่อนทุกครั้งนะครับ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการทำ เพราะถ้าเราลงมือทำไปแล้วแต่มาอ่านเจอทีหลังว่าจุดประสงค์ของการทำแบบทดสอบแตกต่างไปจากรูปแบบในการทำของเรา เราอาจจะไม่มีเวลาที่จะกลับมาแก้ไขใหม่ได้ ดังนั้นควรตรวจสอบคำแนะนำให้ดีก่อนที่จะลงมือทำ

• บริหารเวลาในการทำแบบทดสอบให้ดี แอดขอแนะนำให้เพื่อนๆ ทำแบบทดสอบข้อที่เพื่อนๆ คิดว่าตัวเองมั่นใจให้หมดก่อนนะครับ เพื่อที่เราจะได้ใช้เวลาที่เหลือในการมาคิดวิเคราะห์กับข้อที่ยาก วิธีนี้จะทำให้เราได้คะแนนในส่วนของข้อที่เรามั่นใจแน่นอนก่อน แล้วค่อยมาลุ้นคะแนนกับข้อที่ยากนั่นเองครับ


การทดสอบ IQ เป็นการทดสอบความถนัดหรือไม่?

การทดสอบ IQ จะเป็นวัดความฉลาดของตัวเราว่าตัวเรามีความฉลาดอยู่ในระดับไหน ในขณะที่การทดสอบความถนัดจะเป็นการวัดความสามารถในการใช้สติปัญญาหรือความฉลาดของเรา ว่าเราสามารถที่จะใช้ความฉลาดนั้นนำมาแก้ไขปัญหาตรงหน้าได้มากน้อยแค่ไหน


มีแบบทดสอบความถนัดออนไลน์หรือไม่?

แม้ว่าการทดสอบความถนัดบางประเภทหรือของบางบริษัทอาจจะยังคงให้ทดสอบโดยใช้คู่มือการทดสอบแบบกระดาษ แต่ปัจุบันก็มีแบบทดสอบความถนัดหลายๆ ประเภทที่ผลิตให้อยู่ในรูปแบบของออนไลน์ โดยเราสามารถที่ค้นหาเพื่อนำมาทำหรือดูเป็นตัวอย่างไว้ก่อนสอบได้ครับ อาจจะมีทั้งเวอร์ชันที่ฟรีหรือจ่ายเงินก็ได้ สามารถเข้าไปเลือกค้าหาได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ ได้เลยครับ

แบบทดสอบความถนัดส่วนใหญ่สามารถบ่งบอกถึงความสำเร็จในด้านการศึกษาและอาชีพต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่ใช่เป็นการคาดการณ์ที่แม่นยำ 100% เสมอไป ตัวอย่างเช่น เป็นไปได้ที่จะได้คะแนนต่ำมากในการทดสอบความถนัดสำหรับงานบางอย่าง แต่เมื่อเราได้ลองลงมือทำจริงๆ แล้ว เราอาจจะทำมันได้ดีมากกว่าผลการทดสอบก็ได้ ดังนั้นการทดสอบอาจเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้ถึงข้อดีและข้อเสียของตัวเอง

แนะนำเลยนะครับว่าการเตรียมตัวสามารถช่วยให้เรามีโอกาสผ่านการทดสอบความถนัดได้มากขึ้นจริงๆ แม้ว่าเราจะไม่มีความรู้ในด้านใดด้านหนึ่งมาก่อนก็ตาม

เป็นยังไงกันบ้างครับเพื่อนๆ หลายๆ คนคงเริ่มที่จะอยากค้นหาตัวเองกันแล้ว แอดหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ที่กำลังค้นหาตัวเองกันอยู่นะครับ เช่นเคยครับ ถ้าไม่อยากจะพลาดเรื่องราวดีๆ เพื่อนๆ สามารถปักหมุดเว็บไซต์ Designil ไว้หน้าสุดของเว็บไซต์ได้เลย รับรองว่าจะมีบทความดีๆ ที่มีประโยชน์มาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันตลอดแน่นอนครับ

รวมคอร์สเรียนด้านการเตรียมตัวสัมภาษณ์งาน

บทความที่เกี่ยวข้อง