ทำเว็บ “แค่นี้” ทำไมถึงแพง : วิเคราะห์ราคาทำเว็บไซต์ มาจากไหนบ้าง (ตอนที่ 1)

oxygenyoyo

บทความนี้เขียนโดยคุณ Karun Jaraslertsuwan และเผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์ Oxygenyoyo ได้มีการขออนุญาตนำมาลงเรียบร้อยแล้ว

เหตุการณ์สมมติ

client: “อยากได้เว็บแบบ facebook.com พี่มีงบไม่อั้น”

dev: “พี่มีเท่าไร กี่ล้านครับ ?”

client: “เฮ้ย! ทำไมมันแพงขนาดนั้นเลย ทำเว็บคล้ายๆ facebook ก็ได้ แค่นี้เอง

ตัวอย่างอื่นไหม ?

client: “อยากได้เว็บแบบขายของแนวๆ lazada คิดเท่าไรอ่ะ”

dev: “ประมาณ 50,000 – 100,000 ขึ้นไปครับ ขึ้นอยู่กับพี่อยากได้อะไรแบบไหนด้วยครับ”

client: “เฮ้ย!! วันก่อนพี่เจอไม่ กี่หมื่นเอง ทำเว็บขายของ แค่นี้ ทำไมถึงแพงจัง”

อยากมาเล่าฝั่งของ Dev บ้างว่าการทำเว็บทำไมลูกค้าหลายๆคนรวมถึงคนที่ไม่ใช่ฝั่ง IT หรือด้านเทคโนโลยีเลย มองว่ามันไม่น่าจะแพงโดยจะอธิบายคราวๆว่าเว็บหนึ่งเว็บต้องการอะไรบ้าง โดยจะพยายามไม่ใช้ศัพท์ที่เข้าถึงยากนะครับ หากมีข้อสงสัยสามารถ comment ไว้ได้เลยถ้าหากคำถามผมสามารถตอบได้จะตอบ ถ้าหากเกินความสามารถผมจะไปถามทางผู้รู้ให้อีกทีครับ

ทำไมทำเว็บไซต์ถึงแพง ?

ผมมีสารบัญให้คุณได้เลือกอ่านเลยว่าเหตุผลทำไมมันถึงแพงตามนี้เลยครับ

ก่อนจะเริ่มสร้างเว็บไซต์

หลายๆคนคิดว่าถ้าหากเราจะเปิดเว็บซัก 1 เว็บเราจะลงทุนถูกมาก อันนี้มีทั้งใช่และไม่ใช่พร้อมๆกันครับ เรามาพูดถึงวิธีที่ถูกก่อนแล้วกัน วิธีที่ใช้ต้นทุนต่ำจะเริ่มได้ 2 แบบมีดังนี้ครับ

  1. เปิดเว็บภายใต้เว็บคนอื่น
  2. เปิดเว็บโดยใช้เว็บสำเร็จรูป

เปิดเว็บภายใต้เว็บคนอื่น

ดูจากหัวข้ออาจจะงง อะไรฟ่ะ !!? เปิดเว็บภายใต้เว็บคนอื่น มันคือการที่เรามีพื้นที่ใน internet ที่อยู่ภายใต้คนอื่นอีกที ยกตัวอย่างเช่น www.lnwshop.com ถ้าสังเกตุในภาพด้านล่างจะเห็นว่า url เว็บที่ผมเปิดร้านกับทาง lnw นั้นเป็น oxygenyoyo.lnwshop.com ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นของเราเองได้แต่ต้อง จ่ายเงิน ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องปกติ

lnwshop example

โดยเราสามารถสั่งซื้อ domain_name ([โด-เมน-เนม]: ชื่อเว็บของเราเองเช่นเราอยากได้ www.itshop.com แทน oxygenyoyo.lnwshop.com ) เดี๋ยวพวกศัพท์ต่างๆผมจะสรุปให้ท้ายบทความอีกทีนะครับไม่ต้องกลัวไป โดยราคาจะประมาณนี้แหละครับถ้าหากมันยังไม่มีเจ้าของ ถ้ามีเจ้าของแล้วคุณก็ต้องไปหาชื่ออื่นไม่ก็ซื้อต่อครับ

domain_name price

อันนี้เป็นตัวอย่างแนวขายของ ส่วนเว็บแบบอื่นๆเช่นเขียน บทความหรือทำมาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆก็ไม่ต่างกันเท่าไรมีเว็บสำหรับแต่ละเรื่องแต่ส่วนใหญ่จะไม่พ้นเรื่องขายของกับเขียนบทความ เว็บสำหรับเขียนบทความ online ก็ตามนี้เลย

ข้อดี

  • ราคาถูกสามารถเริ่มต้นทำได้ทันที
  • มีการปรับหน้าตาที่ง่ายขึ้นอยู่กับใช้เว็บไหน
  • ง่ายต่อคนที่ไม่เคยใช้พวกเครื่องมือใน internet

ข้อเสีย

  • ไม่สามารถปรับหน้าตาเว็บตามใจของเราได้มีให้แค่ไหนแค่นั้น
  • ข้อมูลไม่ได้เป็นของเราทั้งหมด การวิเคราะห์ข้อมูลจะลำบาก
  • หากเราทำติด google search ก็ไม่ใช่เว็บเราได้ประโยชน์หมด ตัวเว็บหลักก็ได้ด้วยเช่นกัน

เปิดเว็บโดยใช้เว็บสำเร็จรูป

สำหรับการเปิดเว็บอันนี้คือใช้เครื่องมือที่เขาพัฒนามาเพื่อจุดประสงค์ใดๆอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น ทำมาเพื่อให้ทำเว็บเขียนบทความได้ง่ายๆ แบบที่ท่านๆได้อ่านอยู่เว็บของผมก็ใช้เครื่องมือพัฒนาแบบสำเร็จรูป ซึ่งตรงจุดนี้มันจะดีตรงที่ว่าเราจะไม่เสียเวลาไปกับการพัฒนามาก แค่ปรับๆแก้ๆ ก็เสร็จแต่ไม่ได้หมายความว่าคนทั่วๆไปจะปรับได้ ถ้าเปรีบบเทียบมันเหมือนเครื่องมือช่าง ทำให้ช่างทำงานเสร็จได้เร็วแต่คนทั่วๆไปไม่มีความรู้ก็ต้องมาเรียนรู้อยู่ดีครับ

แล้วมันดียังไง ? คือมันมีระบบที่รองรับมาเลยเกี่ยวกับเรื่องๆเดียวทำให้เราสามารถใช้งานมันได้เลย ปกติเวลาเราจะเขียนโปรแกรมหรือเว็บเราต้องออกแบบตั้งแต่หน้าตายันระบบการรับส่งข้อมูล ( ซึ่งจะอธิบายในตอนต่อๆไป ) แต่เว็บสำเร็จรูปมันทำระบบให้เราระดับหนึ่งแล้วที่เหลือเราปรับแก้ก็ใช้งานได้ทันที

แต่อย่างที่บอกคือ มันถูกพัฒนามาเพื่อจุดประสงค์เดียว คนก็พยายามจะปรับให้มันทำได้หลากหลาย ซึ่งการที่ทำงานได้หลากหลายจะมีข้อเสียเลยคือ มันไม่เก่งซักอย่าง ตัวอย่างเช่น wordpress นั้น ทำเว็บเขียน บทความก็ได้ ทำเว็บขายของก็ได้ ทำเว็บให้ข้อมูลก็ได้ นั่นแหละจึงไม่ได้เก่งซักอย่าง ตัวอย่างเว็บที่ใช้ก็

WordPress show case

เว็บสวยๆส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้จะรองรับคนเยอะมากๆ ก็สามารถใช้พวก wordpress, joomla , etc. ตอบโจทย์ได้ แต่อย่างที่เน้นย้ำคือ ต้องมีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง คนทั่วไปเรียนรู้เองได้แต่จะเสียเวลาเรียนรู้เพื่อทำเว็บเองหรือเปล่าค่าเสียโอกาสคุ้มไหม

ข้อดี

  • ปรับแต่งหน้าตาได้หรือซื้อเอาจากคนที่ออกแบบได้พูดง่ายๆคือ สวย
  • เริ่มต้นด้วยต้นทุนต่ำได้ จ้างคนทำอยู่ในเรตไม่สูงมาก นอกจากคุณอยากได้ลูกเล่นอะไรแปลกๆ
  • มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องสามารถส่งต่อให้คนต่อไปมาช่วยพัฒนาได้ไม่ยากมาก
  • คนใช้งานตัว wordpress ประมาณ 25% ของเว็บทั้งหมดบนโลกนี้
  • พัฒนาได้เร็วเพราะมีคนให้คำปรึกษาในเน็ตเยอะและมีชุมชนที่ช่วยเหลือเยอะ

ข้อเสีย

  • ต้องใช้คนเฉพาะทางทำให้อยู่ดี
  • ไม่รองรับกับเว็บที่เริ่มจะใหญ่ คือถ้ามีระบบสมาชิก หรือนู้นนี่เยอะก็ต้องหาคนทำยากมากตามไปด้วย
  • ทำได้หลากหลายแต่ไม่สุดซักทาง ยกเว็บเขียนบทความบนเว็บ

แล้วเว็บแพงล่ะ ?

คราวนี้มาดูกันว่าเว็บที่แพง ทำไมถึงแพงเอาแค่ปัจจัยการเปิดเว็บก่อนแล้วกัน เว็บที่แพงก็จะมีการสร้างที่เป็นแบบสร้างจาก 0 เลยโดยมีการติดต่อจากนักพัฒนาให้ช่วยออกแบบตั้งแต่แรกว่าอยากได้เว็บแบบไหน แล้วมันทำอะไรได้บ้าง นักพัฒนาก็ต้องคิดต่อว่า ผู้ว่าจ้างอยากได้อย่างนี้ต้องไปแปลงเป็นโปรแกรมอย่างไร แล้ว server ที่ใช้ต้องใช้แบบไหนบ้าง หากต้องจ่ายค่า server เองก็จะมีราคาที่แพงขึ้นไปอีก ถ้า server ธรรมดาก็จะรองรับได้ระดับแรกๆ ถ้าหากมีคนเข้าเยอะก็ต้องดูแลระบบอีกแยกไป สมมติผมแจกแจงราคาง่ายๆให้ดูนะครับ เอาเว็บขายของที่ไม่มีโปรโมชั่นแปลกๆนะครับเราจำเป็นต้องมี

  • Server แบบง่ายๆก่อนจ่าย 3000 บาทต่อปี
  • Domain name 500 บาทต่อปี
  • ค่าตัวคนทำเว็บ
    • ใช้เว็บสำเร็จรูปทำให้ 50,000++ บาท ต่ำกว่านี้ก็มีแต่รับความเสี่ยงเอา
    • เขียนเอง 100,000++ บาท ต่ำกว่านี้ก็มีรับความเสี่ยงเอา
  • ค่าตัว Design อยู่ประมาณ 20,000 – 50,000 ขึ้นอยู่กับฝืมือและค่าตัว และชิ้นงานยากหรือง่าย

คืออาจจะงง ทำไมค่าตัวนักพัฒนามันแพงจัง เอาจริงๆคือ ถ้าหากทำเว็บกินเวลานานก็ยิ่งไม่คุ้มเพราะถ้านักพัฒนาที่รับจ้างเป็นรายครั้งเขาจะสร้างให้เสร็จเร็วๆมากกว่าทำนานๆ สมมติว่าถ้านักพัฒนาเก่งๆหน่อย รายได้ประจำในบริษัทประมาณ 40,000 – 50,000 บาทอันนี้คือคนแบบใช้ได้นะ ถ้าจะเอาเทพก็ต้องแพงกว่านี้อีก ตำ่กว่านี้ก็มีวัดใจกันไป นั่นแหละคือรายได้ รายเดือนเขาประมาณนี้ถ้าทำนานส่วนใหญ่จะไม่ทำเพราะไม่ต่างจากทำงานประจำ

และเชื่อเถอะว่าเว็บที่อยากได้ แบบเริ่มจาก 0 มันจะมีหลุมพรางที่มองไม่เห็นเยอะมาก ทำให้กินเวลาสร้างไปอีก เช่น ตอนแรกอาจจะคิดว่าเราเชื่อมต่อกับธนาคารไม่น่ายากปรากฎว่าอาจจะยากเพราะการเชื่อมต่อต้องมี เงื่อนไขมากมาย หรือสั่งทำแบบ A แล้วไม่เอาจะเอาแบบ B ก็ยิ่งกินเวลาเข้าไปอีก

ยิ่งตัวอย่างเว็บอย่าง pantip.com ก็ได้ไม่เห็นมีอะไรเลย แค่ตั้งกระทู้แล้วมาตอบๆ ดูแล้วไม่น่าจะยาก ถ้าหากผมบอกว่าให้คุณตีราคา คุณจะตีราคาเท่าไรครับ หมายถึงคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่อ่ะครับ ? ถ้าหากคุณเป็นผู้ว่าจ้างก็คิดว่าคงไม่มีอะไรเยอะ แค่ตั้งกระทู้ถามตอบเอง แต่ในรายละเอียดเช่น ใน 1 วินาทีมีคนเขียนกระทู้พร้อมๆกันเป็นพันคน จะทำให้คอมพิวเตอร์รองรับได้อย่างไร อันนี้คือความยากของทางนักพัฒนา ซึ่งความรู้ตรงนี้ก็ไม่ได้หาง่ายต้องลองผิดลองถูกต้องมี user หลักแสนหลักล้านก่อนถึงจะเจอปัญหาแบบนี้ ไหนจะเทคโนโลยีใหม่ๆในการเก็บข้อมูลอีก สิ่งเหล่านี้มีต้นทุนสูง

ถ้าอยากลดต้นทุนก็ต้องคุยให้นักพัฒนามาร่วมเป็นผู้ก่อตั้งเลย จะช่วยได้แต่เหมือนขายฝันแหละก็ต้องดูว่าเขาเอาด้วยไหมอย่างไร

ข้อดี

  • ปรับแต่งได้หมดหน้าตาอยากได้แบบไหนสั่งได้
  • อยากได้เว็บระบบแบบไหน ทำได้หมดทุกไอเดีย
  • มีความเป็นเจ้าของทุกอย่างตั้งแต่ข้อมูลที่เข้ามาในเว็บและจัดการโฆษณาเองได้

ข้อเสีย

  • แพง !! ถึงแพงมาก
  • มีความเสี่ยงเจอนักพัฒนามือไม่ถึง
  • มีโอกาสไม่เสร็จสูง

ค่าตัวของคนสาย IT

เนื่องจากสายอาชีพนี้เป็นอาชีพเนื้อหอมสุดในยุคนี้ แม้แต่เด็กจบใหม่ค่าตัวยังมีสูงกว่าสายอาชีพอื่นๆ อันนี้ไม่ได้ดูถูกนะครับแต่อาชีพนี้มันสามารถต่อยอดกับอาชีพอื่นๆได้อีกด้วยจึงไม่แปลกว่าค่าตัวจะแพง โดยปกติสมมติว่าคุณจะจ้างทำเว็บเนี้ย ถ้าได้คนทั่วๆไปพื้นๆ แบบคนที่มีประสบการณ์น้อย ( ผมไม่พูดถึงเด็กจบใหม่นะครับ เพราะว่าคนจบใหม่บางคนเก่งกว่าผมอีก ) อาจจะได้ราคาถูกแต่แลกกับสิ่งเหล่านี้ครับ

  • ทำงานไม่จบ
  • จบแต่ไม่สามารถได้งานได้
  • ใช้งานได้แต่ทำต่อไม่ได้
  • ทำต่อได้แต่พัฒนาต่อเติมไม่ได้
  • ปัญหาเอา code ไปขึ้นระบบจริงๆ
  • การโดน hack ต่างๆใน internet

สิ่งที่กล่าวมาถ้าหากพวกมืออาชีพด้านนี้กันแล้วก็จะมีความกังวลแทนคุณผู้ว่าจ้างว่า อันนี้ไม่ปลอดภัยอันนี้ทำให้ช้า แต่ถ้าจ้างคนที่มีประสบการณ์น้อยเป็นแลกเปลี่ยนความเสี่ยง ซึ่งกันและกันคุณได้เว็บแต่คนถูกจ้างได้ทำงานจริงอาจจะมีทดลองอะไรใหม่ๆกับเว็บก็ต้องไปรับความเสี่ยงกันเอง แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เราจะจ้างมันไม่แพง อันนี้ก็ต้องดูหลายอย่างครับ

  • ดูจากงานที่ทำหากไม่เคยก็ต้องวัดใจกันไป
  • ดูจากงานประจำถ้ามีว่าเขาทำอะไร
  • ปรึกษาคนใกล้ตัวถ้ามีคนด้านนี้อยู่รอบตัวว่าคนนี้เป็นอย่างไร

ราคาคนเก่งๆมันต้องแพงอยู่แล้วเพราะว่าเขาต้องผ่านอะไรมาเยอะ และค่าเสียโอกาสแพงกว่าคนอื่น ( ค่าเสียโอกาสคืออะไร ? คือถ้าปรกติเขาทำงานให้คนอื่นอาจจะงานล่ะ 50,000 – 100,000 ต่อชิ้นงาน เขาคงไม่รับงานเราที่จ้าง หมื่นสองหมื่น เพราะมันไม่คุ้มเขาไปรับงานที่มีโอกาสทำเงินดีกว่าทำนองนี้ครับ ) เพราะฉะนั้น แค่นี้ ที่คุณเห็นมันแลกมาด้วยประสบการณ์หลายๆอย่างของคนทำด้านนี้ครับ นั่นแหละครับเหตุผลของความแพง

ค่าพัฒนาระบบ

ระบบโปรแกรมต่างๆไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆจะสร้างออกมาได้เลย ต้องมีการออกแบบตั้งแต่ในความคิดแล้วพัฒนามาให้จับต้องได้ ส่ิงเหล่านี้ก็ไม่ใช่ทุกคนทำได้ และบางระบบเป็นระบบที่พัฒนามานาน การพัฒนาต่อไม่ใช่ว่าคุณจ้างใครมาทำต่อก็ได้ และต่อให้จ้างคนเก่งมาก็ใช่ว่าจะทำต่อได้ง่ายๆ หลายๆระบบมีการ ติดหนี้ทางเทคนิค ( อยากให้ลองอ่านดูสนุกดีครับ https://medium.com/the-way-it-should-be/-efb39c7b7699#.ksh92fwi0 ) ซึ่งสุดท้ายแล้วโปรแกรมของเราจะล้มละลายและไม่สามารถทำอะไรต่อได้เลยเพราะว่า

จะปรับแก้ก็กลัวว่าของเดิมจะทำงานไม่ได้ จะต่อเติมก็กลัวว่ามันจะทำให้ของเก่าพังหรือเปล่า แล้วผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงจุดนี้ การที่เราปล่อยผ่านให้ทำเว็บลวกๆหรือ สร้างแบบลวกๆหรือการตัดสินใจแบบไม่คิดให้รอบครอบทำให้เราจะได้เว็บหรือโปรแกรมที่ใช้งานครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย พัฒนาเสร็จยังดี แต่ส่วนใหญ่จะพัฒนาไม่เสร็จเหตุผลเพราะ

  • ผู้ว่าจ้างไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรเช่นอยากมีเว็บแต่ไม่รู้ว่ามีเว็บไว้ทำไม
  • ผู้ว่าจ้างรู้ว่าต้องการอะไรแต่สิ่งที่ตัวเองอยากได้มีราคาสูง เช่น อยากได้ระบบที่มันเรียนรู้การจ่ายเงินของลูกค้า
  • ผู้ว่าจ้างเปลี่ยนใจตลอดเวลา วันนี้ต้องการของ A พรุ่งนี้มาต้องการแบบ B มะรืนต้องการแบบ C

หลักๆประมาณนี้ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งมีผลกระทบแน่นอน ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ทุกคนจะสามารถปรับไปมาได้นะครับต้องเรียนให้ทราบไว้อย่างนี้ คุณอาจจะเคยเจอคนที่ยอมรับการเปลี่ยน แต่เอาจริงๆการสร้างเว็บหรือโปรแกรมเขาจะคิดมาเสร็จแล้ว ยกตัวอย่างเหมือนสร้างบ้าน การที่คุณบอกว่าพื้นที่ตรงนี้จะสร้างห้องน้ำนะ แล้วทางนักพัฒนาก็สร้างห้องน้ำ ต้องคิดว่าจะต่อท่อมายังไง ต่อระบบไฟแบบไหน ประตูต้องเปิดได้ยังไง ทำพื้นลาดเอียงแค่ไหน พอผ่านไปซัก 1 อาทิตย์หรือไม่กี่วัน คุณบอกว่าไม่เอาห้องน้ำแล้ว ต้องการเป็นห้องนอนดีกว่า ก็แปลว่าทุกอย่างที่คิดมาเพื่อห้องน้ำต้องกลับไปเริ่มใหม่ เผลอๆบางครั้งเขาสร้างเป็นห้องไปแล้วซักครึ่งหนึ่ง อย่างนี้ก็เสียหาย ซึ่งนักพัฒนาส่วนใหญ่จะ คิดราคาเพื่อตรงจุดนี้ไปด้วย นั่นแปลว่า ราคาถึงได้สูง

แต่ถ้าคุณผู้ว่าจ้างจบงานได้ตรงกับสิ่งที่คุยไว้ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับนักพัฒนาแล้วว่าเว็บที่ต้องการสร้างยากง่ายยังไง แต่เชื่อเถอะหาได้ยากจริงๆ จบเรื่องการออกแบบระบบ แล้วเรื่องประสบการณ์การทำงานต่อหรือออกแบบใหม่ก็ต้องใช้ทั้งประสบการณ์ที่สูงและการลองผิดลองถูกที่เยอะจริงๆ ถึงจะพัฒนาออกมาได้ เช่น อยากได้เว็บที่มีการเก็บรูป บางครั้งเรามองแค่เป็นการเก็บรูปแต่การออกแบบให้รองรับการเก็บรูปแบบระดับหลายๆล้านรูปก็มีประสบการณ์ไม่ใช่ upload file เรื่อยๆแล้วจะจบ เอาไปฝาก cloud หรือเปล่าจะเก็บยังไงให้เร็วอีก

สมมติว่าเป็นเว็บขายของเนี้ยก็มีอีกหลายปัจจัยที่ต้องการคิดอีก เพราะจะเอาเว็บสำเร็จรูปหรือว่าทำเอง ถ้าทำเองก็ต้องมีคนเชี่ยวชาญอีกว่าจะทำอย่างไร มีโปรโมชั่นแปลกประหลาดหรือเปล่า ถ้ามีแล้วใช้เว็บสำเร็จรูปรองรับไหวไหม สิ่งเหล่านี้คนที่จะรู้เครื่องมือทุกแบบและตัดสินใจว่าอะไรเหมาะกับเว็บคุณ มีน้อยมากๆจริงๆและค่าตัวก็สูง

ค่าออกแบบ

ว่ากันถึงค่าออกแบบ ยิ่งประเทศเราเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญด้านนี้ด้วย ยิ่งแล้วเลย ( ประชด )  คือการออกแบบด้านเว็บเนี้ย เป็นการออกแบบที่ยุ่งยากมากๆ เพราะอะไร ? เพราะหน้าจอการแสดงผลในปัจจุบันนั้นมีเยอะมากๆ ถ้าหากคุณเลือกว่าจะทำเว็บเองหรือจ้างคนออกแบบเองเนี้ยค่าพัฒนาเว็บจะสูงไปอีกสมมติผมให้โจทย์เอาแค่เว็บ Responsive แค่นี้ก็อ้วกแหละเพราะว่าในปัจจุบันมีเครื่องมือช่วยออกแบบก็จริงอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่างานออกแบบที่ดีจะมาด้วย ซึ่งการสร้างเว็บให้แสดงผลได้ดี สวย ปัง ในทุกหน้าจอเป็นเรื่องยาก

ประสบการณ์การออกแบบที่ดีหายาก และค่าตัวแพง เพราะการเลือกใช้รูปการจัดวาง แต่ละเนื้อหาของเว็บต้องดูเข้ากับ concept ของเว็บสิ่งเหล่านี้ก็ต้องอาศัยประสบการณ์การใช้โปรแกรมหลายตัวไม่ใช่มีโปรแกรม Photoshop อันเดียวแล้วเอาอยู่ นี่ยังไม่พูดถึงเรื่อง App นะแต่แค่เว็บก็ต้องคิดเยอะ ซึ่งหากผู้ว่าจ้างอยากได้ของดี ก็ต้องจ่ายราคาสูงไม่งั้นก็จะได้แบบที่คล้ายๆคนอื่นๆเพราะว่านักพัฒนาส่วนใหญ่ไม่ใช่นักออกแบบ จะได้ของที่สำเร็จรูปมาให้ซะส่วนใหญ่ซึ่งก็ไม่ใช่ว่ามันไม่สวยแต่คนก็อยากได้แบบที่ตัวเองคิดไว้ เพราะฉะนั้นนักออกแบบจะเสียไม่ได้จริงๆสำหรับเว็บที่ต้องการ การปรับแต่งตามใจของผู้ว่าจ้าง

แม้โปรแกรมจะถูกลงแต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องเวลาของการเรียนรู้ค่าเสียโอกาสของแต่ละคนไม่เท่ากัน และในสมัยนี้มีเวทีให้นักออกแบบค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น infographic หรือขาย theme , asset ต่างๆใน internet รวมถึงนักออกแบบที่มีความรู้ด้าน code ด้วยก็ยิ่งทำให้ค่าตัวแพงขึ้นไปอีกครับ นี่ก็สาเหตุหนึ่งที่เวลาผู้ว่าจ้างอยากได้เว็บสวยๆ ทำไมถึงมีราคาครับ

บทความต่อไปเราจะมาลงลึกในรายละเอียดกัน

ในบทความตอนที่ 1 อันนี้เราเริ่มต้นด้วยเรื่องพื้นฐานกันก่อนครับ ถ้าอ่านแล้วสนใจอยากอ่านในหัวข้อที่ลงรายละเอียดมากกว่านี้ อยากให้ท่านช่วยแจ้งไว้ในคอมเม้นท์ หรือช่วยแชร์เพื่อให้ทางผู้เขียนรู้ได้เลยครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง