[Designer Tips] 10 ข้อที่ขาดไม่ได้ใน Portfolio ของเว็บดีไซเนอร์
หลังจากที่คัดหาข้อมูลดี ๆ อยู่นาน ว่าจะแปลบทความอะไรมาลงดี สุดท้ายก็เลือกบทความนี้มาครับ “10 Things Clients Look For In a Design Portfolio” (Noupe.com) สำหรับผู้อ่านที่เก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้ว จะตามไปอ่านในบทความต้นฉบับเลยก็ไม่ว่ากันครับ แต่สำหรับท่านที่อยากอ่านแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ก็เชิญอ่านภาษาไทยด้านล่างได้เลยครับ
ออกตัวไว้ก่อนว่าผมสรุปเฉพาะใจความสำคัญมาให้อ่านนะครับ ชอบไม่ชอบอย่างไรติชมได้ครับผม!
เว็บดีไซเนอร์ หรือแม้แต่นักวาดรูปต่าง ๆ ย่อมต้องมี Portfolio กันอยู่แล้วจริงไหมครับ เพื่อให้ลูกค้าได้มาดูผลงานก่อนจะจ้างเรา ซึ่ง Portfolio นี่เป็นได้ทั้งพอร์ตแบบออฟไลน์ (แฟ้มใหญ่ ๆ หิ้วไปหิ้วมา) หรือจะเป็นพอร์ตแบบออนไลน์ก็ได้ (DeviantArt หรือเว็บส่วนตัวก็ได้) สำหรับบทความนี้จะมาบอกทิปเด็ด ๆ เกี่ยวกับการทำ Portfolio ออนไลน์ในเว็บส่วนตัวครับ ว่าควรมีข้อมูลอะไรให้ลูกค้าบ้าง
1. วันที่
- วันที่ของผลงานล่าสุดบอกลูกค้าได้ว่า “ความสามารถทางด้านดีไซน์ของเราตามทันโลกปัจจุบันมากแค่ไหน”
- บอกความถี่ในการทำงานด้านดีไซน์ของคุณ
- บอกว่าคุณมีประสบการณ์การออกแบบเว็บไซด์มากี่เดือน กี่ปีแล้ว
- ถ้าคุณมีแต่งานเก่า ๆ ให้ดู ลูกค้าอาจคิดว่าคุณตามเทคนิคเว็บดีไซน์ในโลกปัจจุบันไม่ทันก็ได้ และตัดสินใจไม่จ้างคุณ
2. เว็บไซต์จริง
- เมื่อลูกค้าเห็นสกรีนช็อตเว็บไซด์ที่คุณออกแบบ แล้วถูกใจดีไซน์นั้น ลูกค้าจะลองเปิดเว็บไซด์นั้นเพื่อดูของจริง (ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ลงลิงค์ไว้ ลูกค้าก็ใช้ Google ค้นหาจากไตเติ้ลได้) ซึ่งลูกค้าต้องการเช็คว่าการใช้งานต่าง ๆ ในเว็บไซด์นั้นดีขนาดไหน
- เราจึงควรลงลิงค์ไปยังเว็บไซด์จริงในหน้า Portfolio ของเราด้วย
- อย่างไรก็ตาม บางครั้งงานของคุณอาจมีข้อผูกมัดบางอย่างที่ลงใน Portfolio ไม่ได้ ก็สามารถลงงานอื่นที่เราทำเพื่อฝึกฝีมือแก้ขัดไปได้
3. เครื่องมือ
- ลูกค้าอาจใช้บริการของเว็บไซด์ต่าง ๆ เช่น Aweber สำหรับทำ mailing list หรือ WordPress สำหรับทำ Blog ซึ่งถ้าผลงานเก่าของเรามีการใช้ หรือ เชื่อมต่อ กับบริการนั้น ๆ จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกเราได้ง่ายขึ้น เพราะเห็นว่าเราสามารถนำบริการ/softwareเหล่านั้นมาใช้ในเว็บไซด์ได้
- ดังนั้นใน Portfolio เราจึงควรระบุบริการต่าง ๆ ที่เรานำมาใช้ในผลงานเก่าแต่ละงาน อาจมีรายละเอียดเกี่ยวกับบริการนั้น ๆ เล็กน้อยด้วย
4. ความถนัดในประเภทเว็บไซด์
- เว็บดีไซน์เนอร์บางคนอาจถนัดออกแบบเว็บไซด์บางประเภท เช่น เว็บไซด์แนวร้านขายของ หรือ เว็บไซด์แนวเกมส์ออนไลน์ ซึ่งถ้าเราเน้นงานออกแบบเว็บไซด์ประเภทใดประเภทหนึ่งจะทำให้ลูกค้าเลือกเราไปออกแบบเว็บไซด์ประเภทนั้นได้ง่ายขึ้น
- การที่ลูกค้าจะมองว่าคุณถนัดเว็บไซด์ประเภทไหน ขึ้นอยู่กับงานต่าง ๆ ที่คุณเลือกแสดงในเว็บไซด์ของคุณ
- อย่างไรก็ตาม เว็บดีไซน์เนอร์บางคนอาจถนัดทุกประเภท หรือทำได้ทุกแนว ก็สามารถเลือกที่จะลงผลงานคละ ๆ กันไปก็ได้
5. สไตล์การออกแบบ
- ลูกค้าบางส่วนมีสไตล์ของเว็บไซด์ที่ต้องการในหัวอยู่แล้ว แต่บางส่วนก็ไม่รู้ว่าอยากได้เว็บไซด์ออกในสไตล์ไหน หรือรู้แต่ไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ แล้วเมื่อลูกค้าเข้ามาเจอสไตล์ที่ตรงใจใน Portfolio ของเรา ก็จะทำให้เขาเลือกใช้บริการเราได้ง่ายขึ้น
- จุดสำคัญอยู่ที่ถ้าเรายิ่งมีสไตล์หลาย ๆ แบบให้เลือกมาก ยิ่งมีโอกาสจับลูกค้าได้หลายกลุ่ม
- อย่างไรก็ตาม เว็บดีไซน์เนอร์ก็เหมือนกับจิตรกรวาดรูป คือ เว็บดีไซน์เนอร์บางส่วนเริ่มออกแบบเว็บไซด์โดยมีแรงบันดาลใจจากการดีไซน์ในสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง ทำให้งานของเขามีสไตล์นั้นติดอยู่ ถ้าลูกค้าของเราชอบสไตล์การออกแบบเว็บไซด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา เขาก็จะเรียกใช้บริการ ซึ่งข้อเสียคือเราจะจับลูกค้าได้เฉพาะบางกลุ่ม แต่ก็ไม่ได้แปลว่าวิธีไหนดีกว่าวิธีไหนนะครับ
6. ความสามารถพิเศษ
- คุณพัฒนาหน้าร้าน-หลังร้านเก่งมั้ย? คุณเขียน PHP ได้เร็วกว่าคนทั่วไปครึ่งหนึ่งหรือเปล่า? ลูกค้าจะอยากรู้เกี่ยวกับความสามารถพิเศษของคุณเพื่อให้เขาสามารถเลือกคนที่เหมาะกับโปรเจคนั้น ๆ มากที่สุดมาทำงานได้
- วิธีที่จะทำให้ลูกค้าสนใจในความสามารถพิเศษของเรา คือ อธิบายเกี่ยวกับผลงานต่าง ๆ ที่ลงใน Portfolio ว่าเราใช้เทคนิคแบบไหน ใช้เครื่องมืออะไรในการพัฒนาเว็บให้เร็วขึ้น ทำอย่างไรให้เว็บไซด์ของเราดูเด่นขึ้นมา
7. ความเป็นมาของผลงาน
- นอกจากจะแสดงแต่รูปของผลงาน เราควรจะเขียนบริบทเกี่ยวกับผลงานต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเชื่อว่าเราจะให้บริการออกแบบเว็บไซด์ที่เหมาะสมกับลูกค้าได้
- ข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรเขียนในบริบทสำหรับผลงานต่าง ๆ คือ ความต้องการของลูกค้าในงานนี้คืออะไร, งานนี้มีอะไรที่เป็นปัญหาหรือท้าทายเราบ้าง, โปรเจคนี้มีเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร
8. คำตอบรับจากลูกค้า
- การลงคำพูดของลูกค้าที่คอมเม้นท์บริการของเรา จะทำให้ผู้เข้าชม Portfolio ของเราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเราเป็นดีไซน์เนอร์ที่ดีที่สุดสำหรับงานของเขาหรือไม่
- นอกจากนั้น การลงรางวัลที่งานออกแบบของเราได้รับ หรือลงลิงค์ไปยังบทความที่งานออกแบบของเราถูกพูดถึง ก็จะส่งผลดีต่อเราเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงควรเช็คข้อมูลอยู่ตลอดว่างานของเราไปโผล่ที่เว็บไหน หรือหนังสือเล่มไหนบ้าง
9. การออกแบบของเว็บ Portfolio
- การออกแบบของเว็บ Portfolio ของเราสำคัญพอ ๆ กับผลงานเก่าต่าง ๆ ที่เราเลือกมาแสดง จำไว้ว่าลูกค้าไม่ได้ต้องการ Flash เลิศหรู แต่ต้องการเห็นการออกแบบ Layout เว็บไซด์ของเราว่าทำออกมาได้แสดงความเป็นตัวเราขนาดไหน
- อย่าลืมรายละเอียดทั้งเล็กทั้งใหญ่ เช่น เช็คว่าลิงค์ทุกลิงค์บนเว็บไซด์ใช้การได้ หรือการมีโดเมนเว็บไซด์เป็นของตัวเอง (แทนที่จะเป็นโดเมนของโฮสต์ฟรี) บางทีเราอาจคิดว่าเรื่องพวกนี้มันเล็กน้อยมาก แต่สำหรับลูกค้าแล้วก็เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวครับ
10. ผลงานที่ดีที่สุด
- เมื่อลูกค้าดู Portfolio ของเรา สิ่งที่เขาจะคิดคือ หนึ่ง ผลงานต่าง ๆ ที่คุณนำมาแสดงเป็นผลงานที่ดีที่สุดของคุณ และสอง ลูกค้าจะได้รับงานคุณภาพเดียวกับผลงานที่คุณนำมาแสดงหากเขาจ้างคุณ หมายความว่า ลูกค้าหวังว่าคุณจะใช้ความสามารถสูงสุดของคุณออกแบบเว็บไซด์ให้เขา
- เพราะฉะนั้นการเลือกผลงานต่าง ๆ ที่จะแสดงใน Portfolio จะต้องเลือกอย่างพิถีพิถัน
- หากงานที่ดีที่สุดของคุณติดข้อบังคับของลูกค้าว่าห้ามเอามาแสดงใน Portfolio คุณก็ต้องพยายามสร้างงานใหญ่ที่มีคุณภาพไม่ด้อยไปกว่ากันมาแสดงใน Portfolio ให้ได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจต้องทำเพื่อการกุศลแต่มันก็จะส่งผลดีในระยะยาวต่อคุณแน่นอน
แปลบทความเป็นภาษาไทยโดย @designil (https://www.designil.com – ศูนย์รวมความรู้เว็บดีไซน์)
รูปประกอบโดย: flickr.com/devoingress
หากเพื่อน ๆ สนใจเนื้อหาเกี่ยวกับ Portfolio สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากด้านล่างนี้เลยนะครับ
ถ้าใครยังไม่มี Resume อ่านต่อได้ที่นี่นะครับ วิธีการทำ Resume ออนไลน์
คุณเห็นด้วยไหมกับข้อเสนอแนะบทความนี้ ? บอกผมให้รู้หน่อยใน comment นะคร้าบ
บทความที่เกี่ยวข้อง