20 SEO Checklist เตรียมเว็บไซต์ให้รองรับ SEO ประจำปี 2022

goodownday

เป็นหัวข้อที่คุ้นตาเสียเหลือเกินใช่ไหมครับ แต่ก็เข้าใจแหละว่า แต่ละปีจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการทำ SEO ใหม่ๆ มาให้อัปเดตกันไม่เว้น กลยุทธ์แบบเดิมที่ใช้มา…พอถึงวันนึงก็อาจล้าสมัยไปแล้ว เราจึงต้องอัปเดตความรู้ใหม่ๆ เข้าหัวและนำมาปรับประยุกต์ใช้กันอยู่เสมอๆ วันนี้ก็เช่นกัน

บทความนี้จะรวบรวม SEO Checklist ที่ดีที่สุดในปี 2022 สำหรับใช้ตรวจ SEO ในเว็บไซต์ของคุณ เอาเป็นว่า เรามาเริ่มเรียนรู้ความเคลื่อนไหวของการทำ SEO ในปีนี้ไปด้วยกันนะครับ

📖 บทความนี้มีอะไรบ้าง แสดง

SEO ปี 2022 มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?

ปีนี้ ทั้งเรื่องการค้นหาด้วยเสียง, SEO บนมือถือ, เนื้อหาคอนเทนต์ขนาดยาว รวมทั้งเรื่องของจุดประสงค์ในการค้นหา ยังคงมีแนวโน้มที่ถูกใช้และพูดถึงอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นส่วนสำคัญสำหรับการทำการตลาดออนไลน์ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่บางบทความก็บอกว่ามันสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับส่วนต้นของบทความ การสร้างพาดหัวให้คนสนใจอยากคลิกเข้าไปอ่าน และบางคุณสมบัติของ Google อย่าง snippet เป็นต้น

แล้วก็ได้เวลามาอัปเดตเช็กลิสต์ SEO กันแล้วละครับ

คู่มือ SEO Checklist สำหรับคนทำเว็บปี 2022

โดยทั่วไปแล้ว หลักการก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนักในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังเป็นสิ่งที่แต่ละเว็บไซต์ควรต้องใส่ใจและทำตามเพื่ออันดับที่ดีในผลงานค้นหานั่นเอง

01 ใช้งาน Google Search Console 

หนทางที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแถมตรงประเด็นที่สุด ก็คือ การนำเว็บของเราไปผูกไว้กับบริการของกูเกิลอย่าง Google Search Console นั่นเองครับ ที่นี่ เราจะได้รับรู้ถึง performance ของเว็บตัวเอง ไม่ว่าจะปริมาณการแสดงในผลการค้นหา ปริมาณการถูกคลิก คีย์เวิร์ดอะไรบ้างที่ติดอันดับและสร้างทราฟิกในเว็บเราได้ดี ตรวจเช็กว่าแต่ละหน้าของเราถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลของกูเกิลหรือยัง และที่สำคัญคือ ที่นี่เขาจะแจกแจงข้อผิดพลาดต่างๆ บนเว็บที่ต้องแก้ไขเพื่อผลการค้นหาที่ดี เป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้อย่างยิ่งเลยครับ

seo checklist 2022 Google Search Console
SEO Checklist – Google Search Console

ใครยังมีก็เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ เพียงมีแอ็กเคาต์กูเกิล แค่คลิกเข้าไปที่ Google Search Console แล้วรอให้กูเกิลอนุมัติ เมื่อผ่านแล้ว เราก็จะสามารถเข้าไปตรวจสอบและแก้ไขได้ทันทีเลยครับ

02 ใช้งาน Google Analytics

ในเมื่อเราต้องใช้เซิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิล เราก็เลยจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออันทรงพลังของเขาด้วย ซึ่งก็คือ Google Analytics เป็นเครื่องที่จะคอยติดตามการเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเรานั่นเอง 

เริ่มต้นด้วยการเข้าไปที่ google.com/analytics แล้วคลิก ‘Get started today’ จากนั้นก็จัดการตั้งค่าต่างๆ ด้วยการเลือก ‘admin’ ต่อด้วยการเลือก ‘create account’ เพื่อสร้างแอ็กเคาต์ แล้วต่อด้วยการเพิ่มโดเมนเว็บของเราเข้าไป ขั้นตอนที่สำคัญก็คือ อย่าลืมนำโค้ดมาติดในเว็บของเราด้วยนะ

03 ติดตั้งปลั๊กอินด้าน SEO

WordPress เป็น CMS ยอดนิยมในการสร้างบล็อกหรือเว็บไซต์ จุดเด่นอีกอย่างของมันก็คือ เจ้าของเว็บสามารถปรับแต่งเพิ่มเติมได้ด้วยการใช้ปลั๊กอิน และมันก็มีปลั๊กอินที่ขึ้นชื่อในด้านการทำ SEO อยู่หลายตัว มีทั้งเวอร์ชันฟรีและจ่ายตังค์ ไม่ว่าจะเป็น Yoast SEO, All in One SEO Pack, SEO Press, SEO Framework, Nitropack และ Rank Math SEO ทั้งหมดล้วนใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเว็บไซต์เพื่อการติดอันดับที่ดี

04 สร้าง Sitemap แล้วไม่พอ ต้องไม่ลืม Submit ด้วย

หลายคนคุ้นกับ Sitemap ว่ามันเป็นเหมือนลิสต์รายการลิงก์ของหน้าต่างๆ บนเว็บไซต์เรา ที่ทำเอาไว้ให้บอทของเครื่องมือค้นหาเข้ามาเก็บข้อมูลไปใช้ หลายครั้งมันก็ช่วยให้หน้าเว็บไซต์ที่ผู้ใช้เข้าถึงยาก ถูกดึงเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูลของเครื่องมือค้นหาด้วย ทำให้หน้าพวกนี้มีโอกาสติดอันดับและมีคนเข้ามาเยี่ยมมากขึ้นกว่าเดิม 

แต่สิ่งที่หลายคนอาจหลงลืมก็คือ ไม่ควรทำแล้วปล่อยไว้รอให้บอทเข้ามาเก็บ เรานำ Sitemap พวกนี้ไป Submit ไว้ในบริการ Google Search Console ได้ด้วยครับ

05 สร้างไฟล์ robots.txt

ไฟล์นี้มีไว้ทำไม? มันมีไว้เพื่อบอกกับบอทของเสิร์ชเอนจิ้นว่า ส่วนไหน หน้าไหน ของเว็บที่เรายินยอมให้มันเข้ามาเก็บข้อมูลไปแสดงในผลการค้นหาบ้าง ป้องกันไม่ให้มันเก็บข้อมูลหน้าเว็บที่ไม่ต้องการ หรือป้องกันไม่ให้เครื่องมือค้นหาเก็บข้อมูลที่ซ้ำกัน รวมทั้งบล็อคไม่ให้บอทบางตัวเข้ามาเก็บข้อมูลจากเว็บเราเอาไปสร้างเนื้อหาสแปมได้ด้วย

06 เช็กให้แน่ใจว่าเสิร์ชเอนจิ้นเข้ามาเก็บข้อมูลไปอย่างถูกต้อง

เมื่อเราเป็นเจ้าของเว็บไซต์ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่าข้อมูลหน้าเว็บต่างๆ จะถูกนำไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลของเครื่องมือค้นหา โดยเฉพาะกูเกิล และต้องมั่นใจเสียก่อนว่าบอทต่างๆ เข้าถึงเว็บไซต์เราได้ เพื่อที่พวกมันจะได้เข้ามาเก็บข้อมูลไป ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เครื่องมือชื่อ URL Inspection Tool ที่อยู่ใน Google Search Console ได้

ข้อต่อมาคือ เราต้องฝึกสกิลในการตั้งหัวข้อและคำอธิบายของเพจ ที่นอกจากต้องมีคีย์เวิร์ดในนั้นแล้ว ยังต้องน่าสนใจมากพอที่คนจะคลิกด้วย ซึ่งอันนี้ก็ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ส่วนอีกข้อที่ควรสนใจก็คือ ในแต่ละหน้า ควรใส่ลิงก์หน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปด้วย เพื่อให้เครื่องมือค้นหาเข้าใจว่าหน้านั้นมันเกี่ยวกับอะไร จะได้จัดอันดับออกมาได้ถูกต้องยังไงล่ะครับ

07 ตรวจสอบไฟล์รูปภาพขนาดใหญ่

ใครๆ ก็คงชอบไฟล์รูปภาพที่ชัดๆ ใช่ไหมครับ แต่ถ้าภาพมันชัดแต่ขนาดไฟล์มันใหญ่เกินไป แถมมีหลายภาพในหน้าเดียวอีก คิดดูสิว่าหน้านั้นมันจะโหลดช้าแค่ไหน งานนี้มีเครื่องมือมาช่วยครับ ไม่ว่าจะเป็น ImageOptim ที่ช่วยบีบอัดภาพโดยไม่ลดทอนคุณภาพ เป็นโปรแกรมที่สามารถลงไว้ในเครื่องได้เลย หรือจะเป็นบริการออนไลน์อย่าง Imagify ที่มีทั้งแบบฟรีและมีค่าใช้จ่าย เลือกกันได้ตามสะดวกครับ

นอกจากนี้ เรายังสามารถเช็กขนาดไฟล์ภาพได้ด้วยเครื่องมือ Google PageSpeed Insights ที่จะบอกเราว่าขนาดไฟล์ภาพโดยรวมของเรามันเกินพอดีหรือยัง ควรปรับแต่งหรือไม่ ทั้งหมดก็เพื่อทำให้เว็บเราโหลดเร็วขึ้น ผู้เยี่ยมชมจะได้ไม่ถอดใจปิดหน้าเว็บไซต์ไปเสียก่อน

08 ตรวจสอบว่ามี Error 404 หรือไม่

เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเจอลิงก์เสียหรือ Error 404 ในเว็บของตนเอง เพราะมันอาจส่งผลเสียต่อ SEO ไม่เพียงสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อผู้เข้าเยี่ยมชม หากยังส่งผลต่ออันดับของเว็บไซต์ในหน้าผลการค้นหาอีกด้วย เราจึงควรตรวจด้วย Google Search Console หรือโหลดโปรแกรม Screaming Frog ลงมาตรวจเช็กและแก้ไขอยู่เป็นประจำ 

ส่วนการแก้ไขก็มีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสร้างหน้าใหม่ด้วยลิงก์ที่ขาดหายไป ลบลิงก์เสียออกไปหรือเปลี่ยนไปยังลิงก์ใหม่ หรือไม่ก็ส่งต่อไปหน้าอื่นเพื่อไม่ให้มีใครต้องเจอ Error 404 ในเว็บของเราอีก

09 ทำเว็บไซต์ให้ Mobile-Friendly

เดี๋ยวนี้ คนเข้าเว็บผ่านอุปกรณ์คู่กายอย่างมือถือกันมากขึ้น เครื่องมือค้นหาอย่างกูเกิลก็เลยค่อนข้างให้ความสำคัญกับการแสดงผลของเว็บไซต์บนมือถือมากขึ้นไปด้วย คะแนนการจัดอันดับจึงมุ่งเน้นในด้านนี้มากขึ้นตามตัว เพราะฉะนั้น เจ้าของหรือผู้พัฒนาเว็บไซต์ก็ต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  • ออกแบบเว็บให้เป็น responsive ซึ่งจะทำให้หน้าเว็บเปลี่ยนไปตามขนาดของหน้าจอ
  • ปรับขนาดไฟล์ภาพให้เล็กที่สุด หลายคนจึงเลือกใช้เครื่องมืออย่าง Imagify เข้ามาช่วย
  • เช็กความแตกต่างของการแสดงผลเมื่อเปิดผ่านแต่ละเบราเซอร์ ดูว่ามีอะไรผิดไปจากที่ต้องการหรือไม่ และทำยังไงให้มันแสดงผลเหมือนกัน
  • ใช้ Google Search Console ที่จะคอยช่วยตรวจสอบความผิดพลาดภายในเว็บไซต์ และเมื่อเจอก็รีบแก้ไขให้เร็วที่สุด
SEO Checklist - Designil เมื่อเปิดบนมือถือ mobile friendly
Designil เมื่อเปิดบนมือถือ

10 มองหาหน้าที่เนื้อหาซ้ำและหยุดทำหลายหน้าแต่ใช้คีย์เวิร์ดเดียวกัน

คนที่ทำ SEO ต่างก็รู้ดีว่าไม่ควรใช้คีย์เวิร์ดซ้ำๆ กันมากเกินไป เพราะจะโดนเสิร์ชเอนจิ้นลงโทษเอาได้ เช่นเดียวกับคนที่คิดจะทำอันดับด้วยการสร้างหลายหน้า แต่มุ่งเน้นคีย์เวิร์ดเดียวกัน เพราะเสิร์ชเอนจิ้นจะไม่รู้ว่าควรให้อันดับของหน้าไหนสูงกว่า ส่งผลให้อันดับต่ำลง สิ่งเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง 

11 รีเสิร์ชเพื่อรู้จักคู่แข่ง

ไม่ใช่แค่ทำยังไงให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับสูงในผลการค้นหาเท่านั้น เพราะมันยังไม่เพียงพอ สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมก็คือการศึกษาคู่แข่งด้วยว่าพวกเขาติดอันดับในคีย์เวิร์ดใด และทำความเข้าใจความคิดของพวกเขา คีย์เวิร์ดใดที่คู่แข่งเน้นใช้ กลุ่มเป้าหมายของพวกเขาเป็นใคร ซึ่งคุณสามารถจะใช้มันเป็นจุดเริ่มต้นในการวางกลุ่มเป้าหมายและคีย์เวิร์ดสำหรับเว็บไซต์ของคุณเอง ซึ่งจะช่วยปรับปรุงทั้งอันดับและจำนวนการเข้าเยี่ยมชมในเวลาต่อๆ มา

12 ทำความเข้าใจจุดประสงค์ในการค้นหา

การทำความเข้าใจในจุดประสงค์การค้นหาของผู้คนเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการทำ SEO เพราะมันเป็นสิ่งที่เว็บไซต์ระดับท็อปหลายๆ เว็บไซต์ใช้เพื่อกำหนดกลยุทธ์ของคอนเทนต์ เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าผู้คนเขากำลังค้นหาอะไรอยู่ เราก็จะสามารถสร้างคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาได้ ซี่งก็จะส่งผลต่อจำนวนคนที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราอีกต่อนึง

13 ศึกษาขั้นตอนการทำคอนเทนต์ให้ได้อันดับที่ดี

อีกสิ่งที่ควรอยู่ในเช็กลิสต์ของคุณ นั่นคือ การเข้าใจวิธีการว่าจะทำอย่างไรกับคีย์เวิร์ดพวกนั้นได้บ้าง หรือทำอย่างไรให้ติดอันดับด้วยคีย์เวิร์ดเหล่านั้น ซึ่งก็มีหลายสิ่งทีเดียวที่เราต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่าจะเป็น การทำความเข้าใจความหมายของคำต่างๆ ที่มักใช้ในแวดวง SEO ทดลองร่างไอเดียคอนเทนต์ออกมาเป็นข้อๆ เรียนรู้การรีเสิร์ชหาคีย์เวิร์ด อาจจะด้วยการใช้เครื่องมืออย่าง Ubersuggest หรือเครื่องมืออื่นๆ เพื่อเลือกเอาคีย์เวิร์ดที่ดีที่สุดมาลงมือเขียนคอนเทนต์ ที่เหลือคือการปรับเนื้อหาให้เข้ากับสิ่งที่ต้องการนั่นแหละครับ

14 เลือกใช้คีย์เวิร์ดรอง

ปกติ เรามักจะสนใจคีย์เวิร์ดหลักในการทำ SEO กันอยู่แล้วใช่มั้ยครับ แต่ความจริง เราควรจะสนใจและให้ความสำคัญกับคีย์เวิร์ดรองด้วยเช่นกัน คีย์เวิร์ดรองก็คือคำที่เกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดหลักนั่นเอง เกี่ยวข้องกับธุรกิจและกลุ่มเป้าหมายของเรา มีผู้คนค้นหาอยู่ในปริมาณมากพอ พร้อมรีเสิร์ชคู่แข่งไว้เรียบร้อย โดยในเนื้อหาหรือบทความที่อยู่ในเว็บแต่ละหน้า ควรจะต้องมีทั้งคีย์เวิร์ดหลักและคีย์เวิร์ดรองที่เข้ามาเสริมเพื่อทำให้เนื้อหาครอบคลุมมากยิ่งขึ้น 

15 สร้างคอนเทนต์ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริง

แม้ว่าเราจะสร้างบทความขึ้นมาและทำทุกอย่างตามหลักการเพื่อให้ติดอันดับ แต่ก็ใช่ว่าผลของมันจะออกมาปังเสมอไป สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และนับวันก็จะยิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ เนื้อหาของคอนเทนต์ต้องมีประโยชน์ ใช้งานได้จริง และดึงดูดคนอ่าน 

เราคงไม่ต้องการให้คนเข้ามาอ่านเพียงชั่วไม่กี่วินาทีแล้วก็เดินจากไป เนื้อหาที่ไม่ตรงใจหรือไม่ตรงกับสิ่งที่พวกเขาอยากอ่านอาจทำให้รู้สึกน่าเบื่อและไม่น่าสนใจ อีกอย่าง เนื้อหานั้นต้องมีประโยชน์ ผู้อ่านควรจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการอ่าน และสุดท้าย ควรเป็นเนื้อหาที่ผู้อ่านจะสามารถนำความคิดไปต่อยอดได้ด้วยครับ

16 URL ต้องอธิบายถึงสิ่งที่คอนเทนต์พูดถึง

นอกเหนือจากพาดหัวจะอธิบายถึงสิ่งที่คอนเทนต์จะบอกเล่าได้อย่างครอบคลุมแล้ว URL ก็เช่นกัน ผู้ที่ค้นหาเมื่อเห็น URL ต้องเข้าใจได้ทันทีว่าคอนเทนต์นี้เกี่ยวกับอะไร นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มอัตราการคลิกลิงก์บนผลการค้นหาให้มากขึ้นได้อีกด้วย 

มีเครื่องมืออยู่หลายตัวที่จะช่วยเราคัดเลือกและสร้าง URL ในลักษณะนี้ได้ แต่ที่นิยมก็คงจะเป็น Ubersuggest และ Google AdWords Keyword Planner ทั้งนี้ URL ที่ดีต้องประกอบด้วยคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา หลายแห่งแนะนำว่าควรเป็น long-tail keywords ที่อาจเกิดจากการผสมกันตั้งแต่ 3 คำขึ้นไป และต้องไม่ซ้ำกับหน้าอื่นในเว็บเดียวกัน ไม่ใช้คำซ้ำ และไม่ใช่สัญลักษณ์ที่ไม่จำเป็น เช่น & หรือ % แนะนำให้ใช้คำภาษาอังกฤษเท่านั้น พยายามปรับให้สั้นกระชับ และไม่ยาวเกิน 60 ตัวอักษร

17 ใส่ครบทั้ง Title, Meta Description และคำอธิบายรูปภาพ

เราต้องไม่ลืมที่จะใส่ข้อมูลเหล่านี้ในคอนเทนต์แต่ละหน้าให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะ Title และ Meta Description ที่จะไปปรากฏอยู่ในหน้าผลการค้นหาของบรรดาเซิร์ชเอนจิ้น เพราะฉะนั้น การคัดเลือกคำและการใช้คำบรรยายจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่ออันดับ รวมทั้งมีผลต่อการที่คนจะเลือกคลิกเข้ามายังหน้าเว็บไซต์ของเราอีกด้วย

checklist seo 2022 title tag
SEO Checklist – Title tag

ส่วนของคำอธิบายรูปภาพนั้นก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะทำให้ผู้คนค้นพบเว็บของเรา สิ่งสำคัญคือ เราต้องบอกกับเซิร์ชเอนจิ้นว่า แต่ละภาพมันเกี่ยวกับอะไร และต้องมีคีย์เวิร์ดอยู่ในนั้น เมื่อมีคนค้นหารูปภาพและเจอรูปภาพของเรา ก็มีโอกาสที่เขาจะคลิกเข้ามาในหน้าเว็บไซต์เช่นกันครับ

18 ใช้ Schema Markup สร้างผลการค้นหาในแบบ Snippet

อีกหนึ่งรูปแบบที่จะช่วยเพิ่มปริมาณคนเข้าเว็บไซต์ให้กับเรา คือการทำให้เกิดผลการค้นหาในรูปแบบ Snippet เกิดจากการใช้ Schema Markup หรือแบบโครงสร้างเว็บ ซึ่งจะแสดงผลแตกต่างกันไปแล้วแต่ข้อมูล เช่น อาจจะเป็นลิสต์สถานที่พร้อมแผนที่ รูปภาพพร้อมราคาและรีวิวหรืออาจเป็นคำตอบที่ตรงกับผลการค้นหามากที่สุด รวมคำถามคำตอบในลักษณะ Q&A ซึ่งจะโดดเด่นและอยู่เหนือผลการค้นหาอื่นๆ ทำให้มีโอกาสถูกคลิกสูงนั่นเองครับ

SEO Checklist - ผลจากการใช้ FAQ Schema
ผลจากการใช้ FAQ Schema

19 ติดตามผลการติดอันดับ

ดูเหมือนการทำงานตามเช็กลิสต์ที่ผ่านมาจะทำให้มั่นใจว่าทำได้อย่างครบถ้วนเพียงพอแล้ว แต่ที่จริงยังมีบางสิ่งที่หลงลืมไป นั่นคือ การติดตามความสำเร็จของการติดอันดับ เพราะแม้ที่ผ่านมาทุกอย่างจะสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ถ้าจะให้แน่ใจจริงๆ ต้องมีการติดตามผลที่ดีต่อเนื่องด้วย เช่น แสดงข้อมูลว่า ปีที่ผ่านมาปรับปรุง SEO ทางเทคนิคอลสิ่งใดไปบ้าง และทราฟฟิกเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปีก่อน รวมทั้งสิ่งที่จะทำต่อไปในปีหน้าด้วยครับ

20 วางแผนกลยุทธ์สร้าง Link-Building

หลังจากทำมาทุกข้อที่ลิสต์ไปทั้งหมดแล้ว ก็คงเหลือข้อสุดท้าย นั่นคือ กลยุทธ์การสร้างลิงก์ (link-building strategy) หรือการเชื่อมโยงเนื้อหาบนเว็บ ไม่ว่าจะทั้งภายในเว็บของเราหรือเว็บภายนอกก็ตาม เพื่อปรับปรุงให้อันดับดียิ่งขึ้นไปอีก สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณการมองเห็นลิงก์ของเรา ส่งผลต่อปริมาณคนเข้าเว็บไซต์ที่จะเพิ่มขึ้น และสำหรับบางเว็บก็อาจเพิ่มยอดขายได้หลายเท่าตัวเลยทีเดียว


อ่านจบแล้วมาอ่านบทความของปี 2023 ได้จากที่นี่เลย บทความใหม่อัปเดตล่าสุด
30 เทคนิคการทำ SEO ให้ติด Google หน้าแรกแห่งปี 2023


บทสรุป

อาจดูเหมือนมีอะไรมากมายให้ทำเต็มไปหมดในตัว SEO Checklist ตัวนี้ แต่การเริ่มต้นเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะการนับหนึ่ง ย่อมหมายถึงการนับสองนับสามตามมา เช็กลิสต์เหล่านี้ หากเราทำจนเกิดความคุ้นชิน เหมือนเรามีหลักให้ยึดเกาะ และสามารถเดินตามไปอย่างไม่ตกหล่น วันหนึ่ง ผลพวงของมันจะเห็นชัดอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้เรื่อง SEO เป็นอะไรที่ไม่มีสิ้นสุด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมอะไรใหม่ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นแนวทางให้กับผู้ทำเว็บไซต์มากมายที่จะร่วมกันเดินทางฝ่าฟันในโครงการระยะยาวนี้ไปด้วยกันนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง: