6 วิธีออกแบบโลโก้ที่ดี พร้อมตัวอย่างประกอบแบบละเอียด
รวมวิธีออกแบบโลโก้แบบละเอียด มีคนถามแอดมินมาพอดีครับว่าโลโก้สวย ๆ ทำยังไง หลักการวิธีออกแบบโลโก้นั้นต่างกับการออกแบบกราฟฟิกทั่ว ๆ ไป ตรงที่ Logo จะต้องนำไปใช้กับแบรนด์ กับสินค้าของลูกค้า เพราะฉะนั้นจึงต้องคำนึงธุรกิจว่าจะลงสื่อไหนบ้าง หรือคำนึงถึงลูกค้าว่าจะจดจำได้ง่ายขนาดไหน
ช่วงที่ผมทำ Banner โฆษณา Designil School ได้ไปเจอกับโปรแกรมชื่อ Pixelapse ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็น Dropbox ของ Photoshop คอยเก็บงานดีไซน์ที่เราทำเป็น Revision ครับ ใน Blog ของ Pixelapse นี้เองก็มีบทความพูดถึงการออกแบบโลโก้ ซึ่งเขียนไว้ดีมาก ผมเลยนำมาเรียบเรียงให้ทุกท่านอ่านกัน
โลโก้ของแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้คนจำสินค้า จำธุรกิจเราได้ หรือถ้าทำออกมาไม่ดีเค้าก็อาจจะจำเราสับสนกับแบรนด์คู่แข่งไปเลยก็ได้ ซึ่งจากประสบการณ์ออกแบบโลโก้มาหลายปีของผู้เขียน เค้าก็สรุปมาเป็น 6 หลักการคิดเพื่อออกแบบโลโก้ออกมาให้ดี
มาเริ่มกันเลยนะครับ
1. อยากให้โลโก้ “สื่ออารมณ์” แบบไหน
ก่อนจะเริ่มเลือกสี เลือกรูปทรง เราต้องรู้ก่อนว่าอยากให้ออกมามีอารมณ์แบบไหน ซึ่งอารมณ์ที่เราเลือกก็ควรจะสอดคล้องกับหน้าตาของแบรนด์ที่เราต้องการด้วยครับ
ตัวอย่างเช่น โลโก้ของ Disney สื่อถึง “ความสนุก” และ “การมองโลกในแง่ดี” โดยตัวอักษรโค้งทำให้ดูสนุก และสอดคล้องกับแบรนด์ที่เป็นการ์ตูนน่ารัก ๆ สำหรับเด็กอีกด้วย ซึ่งถ้าเราเอาโลโก้แบบ Disney ไปใช้กับธุรกิจร้านขายของเท่ ๆ ก็คงไม่เหมาะ
นอกจากการดูรูปทรงแล้ว นักออกแบบโลโก้ควรศึกษาเรื่องการใช้สี และอารมณ์ของสีด้วย เช่น สีเขียว มีความหมายเกี่ยวกับการเติบโต สุขภาพ และธรรมชาติ นอกจากนั้นยังให้อารมณ์สดชื่น ผ่อนคลายอีกด้วย ในขณะที่ สีแดง สื่อถึงอันตราย และความกระตือรือร้น
การเลือก Font ให้สื่อถึงอารมณ์ก็สำคัญ ฟ้อนต์ Garamond, Helvetica, Comic Sans ต่างให้อารมณ์คนละแบบ ฟ้อนต์มีหาง (Serif) เช่น Garamond สื่อถึงความเคารพ ดั้งเดิม ซึ่งเหมาะกับเว็บไซต์ข่าว หรือมหาวิทยาลัยเก่าแก่ (แต่แอดมินรู้สึกว่าเว็บไซต์มหาวิทยาลัยในไทยส่วนใหญ่จะเน้นความ Modern มากกว่าความเก่าแก่ ใช้ฟ้อนต์ไม่มีหางเท่ ๆ กันหมด)
ส่วนฟ้อนต์แบบไม่มีหาง (Sans-serif) เช่น Helvetica จะให้ความรู้สึก Modern สะอาดตา เหมาะกับธุรกิจเทคโนโลยี หรือสื่อโฆษณา
ฟ้อนต์อีกแบบคือแนวน่ารัก ๆ ไม่เป็นทางการ (Casual) แบบ Comic Sans ซึ่งจะเหมาะกับธุรกิจการ์ตูน อนิเมชั่น หรือร้านขายของเล่น
บทความที่เกี่ยวข้อง: [Free Fonts Download] รวมแหล่งดาวน์โหลด ฟ้อนต์ฟรี แห่งปี !!!
ในการทำโลโก้ให้ออกมาดี เราต้องเข้าใจถึงเรื่องรูปทรง, สี, และตัวอักษร จึงจะทำให้โลโก้สื่ออารมณ์ที่เราต้องการได้
2. อยากให้โลโก้มี “ความหมาย” อย่างไร
โลโก้ที่ดีทุกโลโก้ล้วนมีความหมายอยู่เบื้องหลัง
โลโก้ที่ดีของแบรนด์ไม่ใช่แค่โลโก้ที่เอาชื่อแบรนด์มาจับคู่กับรูปทรงนั้น ๆ เฉย ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมจึงไม่ควรเอาโลโก้สำเร็จรูปมาใช้กับธุรกิจเรา นักออกแบบโลโก้ต้องเข้าใจว่าแบรนด์ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร มีอัตลักษณ์อย่างไร มี Vision อย่างไร ถึงจะออกแบบมาเป็นโลโก้ที่ดีได้
ดูตัวอย่างจากโลโก้ของเว็บไซต์ชื่อดัง Amazon.com จะเห็นว่ามีลูกศรสีส้มชี้จากใต้ตัว A ไปถึงตัว Z เป็นการบ่งบอกว่า “Amazon มีทุกอย่างขาย ตั้งแต่ A ถึง Z” นอกจากนั้นลูกศรสีส้มยังโค้งเหมือนรอยยิ้ม สื่อถึงหน้าของลูกค้าที่จะยิ้มเมื่อได้รับสินค้าที่ถูกใจนั่นเอง
3. โลโก้ของเราจะมีอายุยืนยาวขนาดไหน
แน่นอนว่าคงไม่มีแบรนด์ไหนที่เปลี่ยนโลโก้ทุกปีเพื่อให้ลูกค้างงเล่น เพราะฉะนั้นนักออกแบบโลโก้ต้องคิดเสมอว่าในอีก 5 ปี, 10 ปี, 20 ปี โลโก้ของเราจะยังดูดีอยู่มั้ย
การเลือกดีไซน์โลโก้ตามเทรนด์ประจำปี หรือโทนสีประจำปีเป็นความคิดที่ไม่ดีครับ เพราะเทรนด์พวกนี้อยู่ไม่กี่ปีก็จะกลายเป็นของเก่าไป นอกจากนั้นเราจะพบว่ามีโลโก้หน้าตา โทนสีคล้าย ๆ เราเต็มไปหมดอีกด้วย
โลโก้ที่มีอายุยืนยาวมักจะเป็นโลโก้ที่เรียบง่าย และจดจำได้ง่าย ซึ่งอาจจะใช้ได้เป็น 10 – 20 ปีโดยที่ไม่ดูเก่าไปเลยด้วยซ้ำ
เทคนิคทดสอบว่าโลโก้เราจะมีอายุยืนยาวมั้ย ให้ทำเสร็จแล้วปล่อยทิ้งไว้สักระยะหนึ่งก่อนนำไปใช้จริงครับ ดูมันทุกวัน ๆ แล้วเรารู้สึกเบื่อมันมั้ย ถ้าเรารู้สึกเบื่อแปลว่าโลโก้ของเราคงมีอายุอยู่ได้ไม่นานครับ
ลองดูตัวอย่างจากโลโก้ของ Apple จะเห็นว่าถ้า Apple เลือกใช้โลโก้ที่ออกแบบในปี 1976 อันซ้ายสุด โลโก้คงตกยุคไปนานแล้วครับ แต่ Apple เลือกใช้อันกลาง ซึ่งมีความเรียบง่าย ทำให้สามารถใช้ต่อมาได้จนถึงทุกวันนี้โดยการเปลี่ยนเป็นสีเรียบเท่านั้นเอง
4. โลโก้ของเรามี “ลักษณะเฉพาะ” มั้ย? โลโก้จดจำง่ายมั้ย?
โลโก้ที่ดีต้องมีลักษณะเฉพาะ ไม่เหมือนใคร และจดจำได้ง่าย ลูกค้าควรจะจดจำรูปทรงโลโก้ของเราได้ตั้งแต่แรกเห็น วิธีการทดสอบง่าย ๆ ว่าโลโก้ของเราจดจำง่ายหรือยาก คือ ให้ลองเอาโลโก้ไปให้เพื่อนของคุณดู เสร็จแล้วอีก 1 สัปดาห์กลับมาถามเพื่อนว่าโลโก้ที่เคยให้ดูมีลักษณะเป็นยังไง คนที่ไม่เคยเห็นโลโก้มาก่อนจะช่วยบอกได้ว่าโลโก้เรามีส่วนไหนที่จดจำง่าย
โลโก้ที่คล้ายกับโลโก้อื่นอาจทำให้คนสับสน และจำแบรนด์เราสลับกับแบรนด์ของคนอื่นได้
ด้านซ้ายของรูป คือ โลโก้ของ Path แอพ Social Network ที่ดังตอนแรก ๆ ส่วนด้านขวา คือ โลโก้ของ Pinterest บริการปักหมุดรูปภาพออนไลน์ชื่อดัง จะเห็นว่า 2 โลโก้นี้มีความคล้ายกันมาก ซึ่งทำให้ผู้ใช้จำผิดได้ง่าย ๆ เลยครับ
5. โลโก้ยังดูออกมั้ยตอนเป็นสีขาว – ดำ
ปกตินักออกแบบโลโก้หลาย ๆ คนจะเริ่มออกแบบจากสีขาว – ดำก่อนครับ ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าโลโก้ที่ออกมาจะมีรูปทรงที่จดจำได้ง่าย โดยไม่ต้องพึ่งพาสีของโลโก้ โลโก้ที่ดี คือ โลโก้ที่ลูกค้าบอกได้ว่าเป็นแบรนด์อะไร เพียงแค่เห็นรูปทรง
โลโก้ของเราจะถูกนำไปใช้ในสื่อหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้งสื่อขาว-ดำ และสื่อที่มีสีครับ เพราะฉะนั้นการทำให้โลโก้ขาว – ดำมีจุดให้จดจำเพียงพอนั้นสำคัญมาก
จะเห็นได้ว่าโลโก้ของ National Geographic ถ้าเป็นสีขาว – ดำแบบด้านซ้ายจะเหลือแต่สีเหลี่ยมสีดำ ซึ่งดูออกยากมากครับว่าเป็นแบรนด์อะไร แต่ถ้าใส่สีเหลืองเข้ามาก็จะรู้เลยว่าเป็นโลโก้ National Geographic
6. โลโก้ถ้าใช้แบบย่อเล็ก ๆ จะดูออกมั้ย
(แอดมิน: จากที่ทำงานในบริษัทเน้นด้าน Printing ข้อนี้สำคัญมากครับ กาดอกจันทร์ 10 ดอก) บางครั้งโลโก้ก็ถูกนำไปย่อเล็กในสื่อต่าง ๆ ซึ่งถ้าออกแบบโลโก้มาไม่ดี อาจทำให้กลายเป็นก้อนอะไรไม่รู้ก็เป็นได้ครับ
จากรูปด้านบนจะเห็นได้ชัดเลยครับว่าโลโก้ Nike, McDonald, Twitter, และ WWF ดูออกง่ายมากในขนาดเล็ก แต่ถ้าเป็นโลโก้ GE หรือ Starbucks เราดูแทบไม่ออกเลยว่าเป็นโลโก้แบรนด์อะไร
สรุป
หลักการคิดทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมาไม่ได้เป็นกฏตายตัวนะครับ แต่เป็นแนวทางที่ทำให้ออกแบบโลโก้ที่ดีได้ง่ายขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ต้องตรงตามวิธีในนี้เป๊ะ ๆ ก็เป็นโลโก้ที่ดีได้เช่นกัน แต่เราก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าถ้าทำแบบไหนจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
ก่อนออกแบบโลโก้ทุกครั้ง ลองถามคำถาม 6 ข้อนี้กับตัวเองดูครับ อาจจะทำให้โลโก้ของเราเป็นโลโก้ที่ดีและสามารถรองรับการใช้งานได้ทุกแบบมากขึ้นก็ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ออกแบบโลโก้ สวย ๆ ฟรี ด้วยเว็บไซต์ออนไลน์
- 10 เว็บ Inspiration โลโก้สวยๆ รวมไอเดียการออกแบบจากทั่วโลก
- ไอคอน ฟรี! สำหรับออกแบบเว็บไซต์