Frontend Design อาชีพใหม่ ลูกครึ่ง Designer ครึ่ง Developer
วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านบลอคของ Brad Frost เรื่อง Frontend Design แล้วรู้สึกว่าอาชีพแบบนี้มันคล้ายกับงานที่ผมและหลาย ๆ คนที่รู้จักทำอยู่มาก เลยอยากเอามาแนะนำกันครับ เผื่อจะเจอคนที่ทำ Frontend Design อยู่เหมือนกัน และเผื่อบางคนเปลี่ยนสายมาลองทำด้วย
Frontend Designer คืออะไร
Frontend Designer เป็นอาชีพที่ยืนอยู่ระหว่าง การออกแบบให้สวยงาม (Design) และ การพัฒนา (Engineering) ครับ หน้าที่หลัก ๆ คือ เขียน HTML, CSS, JavaScript สำหรับทำ User Interface นั่นเอง
แต่ละบริษัทมีชื่อเรียก Frontend Designer แตกต่างกันไปครับ ที่ผมเคยเห็นในไทยก็เช่น CSS Designer, UI Developer / Engineer, Design Engineer หรือบางที่ก็เรียกว่าเป็น Design หรือ Front-end Developer ไปเลย แค่มีงานเพิ่มขึ้นกว่าตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น (งานเพิ่มขึ้นแต่เงินเดือนไม่เพิ่มนะครับ T_T)
คุณ Brad Frost บอกว่าคุณสมบัติ ๆ ของ Frontend Designer คือ:
- เข้าใจด้าน UX และรู้ว่า UX ที่ดีคืออะไร แต่ไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการ Research, ทำ Flow แอพพลิเคชั่น, หรือวางแผนต่าง ๆ
- เข้าใจด้าน Design และชอบความสวยงาม แต่ไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเลือกฟ้อนต์สวย ๆ, ทำ Palette สี, หรือวาดไอคอน
- เขียน JavaScript ได้ แต่ไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเขียนโค้ดของ Application, Middleware, หรือการแก้บั๊ก
- เข้าใจความสำคัญของระบบหลังบ้าน (Backend) แต่ไม่ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเขียนระบบหลังบ้าน, เซ็ตเซิร์ฟเวอร์, แก้ไขบั๊ก
ถ้างานของคุณคล้าย ๆ แบบนี้ แปลว่าคุณเข้าข่ายเป็น Frontend Designer ครับ
บางคนอาจจะเน้นด้าน Develop มากกว่าหน่อยนึง จนกลายเป็น Full-stack Developer หรือบางคนอาจจะเน้นด้าน Design มากกว่าหน่อยนึง จนกลายเป็น Full-stack Designer (มีด้วยเหรอ?) ก็ได้
ปัญหาของอาชีพ Frontend Designer
ในบริษัทส่วนใหญ่จะมักจะแยก Designer กับ Developer (หรือบางที่เรียก Programmer) ออกจากกันชัดเจน ให้นั่งอยู่คนละฝั่งของออฟฟิสบ้าง หรือบางบริษัทใหญ่ ๆ อาจจะแยกชั้น แยกตึกกันเลยบ้าง เลยทำให้ Frontend Designer เป็นอาชีพที่ค่อนข้างสับสนว่าจะไปอยู่กับใครดี
ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะถูกโยนไปอยู่กับ Programmer เพราะ “เขียนโค้ดได้”
ทั้งที่จริง ๆ แล้วงาน Front-end (HTML, CSS, JavaScript) เป็นงานที่ค่อนข้างผูกกับ Designer มากกว่า ถึงแม้ดีไซเนอร์จะออกแบบมาได้สวยงามใน Photoshop หรือ Sketch แต่ก็ต้องมาถึงมือคนทำ Front-end ที่จะเนรมิตให้กลายเป็นโค้ดเพื่อใช้งานจริงได้ เพราะฉะนั้นถ้าบริษัทไหนต้องการออกแบบ User Interface ให้ออกมาดี คนทำ Front-end ควรจะอยู่ในฝั่ง Designer
ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่กำลังทำแนวทางนี้อยู่ เช่น Optimizely (อ่านรายละเอียดตำแหน่งของทีมของ Optimizely ได้ที่ บลอคใน Medium) หรือ Shopify (มีพนักงานเขียนอธิบายเรื่อง Design Engineer เอาไว้)
เพราะฉะนั้น ถ้าใครทำ Startup, เป็น CTO, หรือคุมทีม Developer / Designer ในบริษัทอยู่ ลองดูครับว่าในทีมของคุณมีคนที่ทำตำแหน่ง Frontend Designer อยู่มั้ย และคุณจะทำยังไงได้บ้างเพื่อปรับให้ Workflow ออกมาดีขึ้น :)
หรือถ้าคุณเป็น Front-end Designer อยู่แล้ว ลองส่งบลอคนี้ให้เพื่อนร่วมงาน / หัวหน้างานอ่านดู เพื่อปรับปรุงระบบในทีมให้ดีขึ้นครับ