แฉชีวิตฟรีแลนซ์แบบหมดเปลือก… อาชีพนี้ดีจริงหรือโกหก !?
ฟรีแลนซ์คืออะไร ชีวิตฟรีแลนซ์เป็นแบบไหน ?
อยากให้คุณลองหลับตา นึกภาพการทำงานเหล่านี้
- เริ่มต้นวันทำงานด้วยชุดนอน หรือชุดอะไรก็ได้ที่คุณออกแบบเอง
- มีเวลาว่างไปดูหนังตอนเช้าวันพุธเพื่อดูหนังลดราคาแล้วกลับมาทำงานต่อ
- เล่นเกมระหว่างวันได้
- ฟังเพลงเสียงดังระหว่างทำงานออกแบบ หรือใช้โฟโต้ชอป โดยไม่มีใครว่า
- กินข้าวตอนบ่ายสาม ไม่ต้องแย่งกับออฟฟิสอื่น
- ไปว่ายน้ำตอนสี่โมงเย็น
ฟังดูดีใช่มั้ยคะ แต่เดี๋ยวก่อน… ถ้าอ่านบทความนี้จบอาจจะทำให้คุณทบทวนความคิดใหม่อีกครั้ง
การเป็นฟรีแลนซ์ไม่ได้ง่ายอย่างที่คนส่วนใหญ่คิด
การทำงานเป็น Freelance นั้นข้อดีก็มีอยู่มากมายเป็นร้อยประการ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ว่าคุณจะได้อิสระทางการเงิน (ซึ่งเอาจริง ๆ ก็ไม่ใช่ “อิสระทางการเงิน” ที่แท้จริง) คิดงานได้อย่างอิสระและยังทำงานที่ไหนก็ที่คุณอยากทำ
แต่ทว่าการทำงานที่ดูเหมือนมีข้อดีและสิ่งจูงใจมาหลอกล่อเรานั้น อาจจะต้องแลกกับอะไรหลายอย่างที่ใครหลายคนก็ยังไม่พร้อมที่จะเสี่ยง คุณอาจจะต้องเจอกับปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่ทำให้เกลียดงานที่คุณชอบไปเลยก็ได้
ในวันนี้จะขอเล่าถึง 8 ปัญหาที่จะต้องพบแน่ๆ หากคุณลาออกจากงานประจำมาเผชิญหน้ากับงาน Freelance แบบเต็มตัว
1. ปัญหาในการตัดสินใจ ถ้าคุณเป็นคนไม่พร้อมรับมือในการพูดคุยกับลูกค้า
เวลาทำงานประจำเราแค่ทำหน้าที่ตามที่เค้ากำหนดมา ถ้าเป็นฝ่าย Production อย่างโปรแกรมเมอร์ / ดีไซเนอร์ก็ไม่ต้องไปเสนองาน พูดคุย ต่อรองกับลูกค้า หรือถ้าต้องตัดสินใจอะไรสำคัญ ๆ ก็ให้หัวหน้าเป็นคนตัดสินใจ โดยที่เราไม่ต้องกังวลถึงความเสียหายที่อาจจะตามมาจากการตัดสินใจนั้น
แต่การทำงานฟรีแลนซ์ทุกอย่างจะมาอยู่ที่เราหมด เราจะต้องทำงานคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่นำเสนองานพูดคุยกับลูกค้า หากคุณเป็นประเภทไม่กล้าตัดสินใจเอง คุณเจอคำถามสุดยากจากลูกค้าที่หลากหลายอย่างแน่นอน
ยกตัวอย่างคำถามยอดฮิต คำถามขอความคิดเห็น
“คุณมีอะไรจะนำเสนอผมไหม?” (กลัวเสนอไอเดียแล้วลูกค้าชอบ กลายเป็นงานเราเพิ่มขึ้น)
“ผมอยากได้ฟีเจอร์ XXX, YYY, ZZZ ทำให้ด้วยได้มั้ย?” (ถ้าเป็นงานที่ยังไม่เคยทำ จะกลัวว่ารับปากแล้วทำไม่ได้)
หรือคำถามต่อรองต่าง ๆ นานา
“งานแรกนี่ลดราคาให้พี่หน่อยได้ไหม? เดี๋ยวพี่มีงานมาให้อีก”
“ทำไมงานง่าย ๆ ถึงคิดแพงจัง ?”
“ช่วยแก้ตรงนี้ให้พี่นิดนึงนะ ไม่คิดตังค์เพิ่มใช่มั้ย”
คำพูดเหล่านี้คุ้นหูและหลายคนอาจจะเคยได้ยินมาจากแฟนเพจ กวีทำเว็บ ที่แอดมินชอบแชร์ในเพจบ่อย ๆ ซึ่งบางเรื่องถึงมันดูตลกแต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ และทำฟรีแลนซ์น้ำตาพรากกันมาหลายคนแล้ว
2. ปัญหาการแก้ไขงาน ถ้าคุณเป็นประเภทเกลียดการแก้ไขงานที่ไม่รู้จักสิ้นสุด
ถ้าคุณกำลังคิดอยู่ว่าจะออกจากงานประจำ มาทำงานฟรีแลนซ์เพราะข้อดีคือ “ไม่มีบอส” มาคอยสั่งงาน คุณคงมาผิดทางแล้วล่ะ เพราะจริง ๆ แล้วลูกค้านี่แหละที่สั่งงานได้โหดสัสกว่าบอสในบริษัทเสียอีก
แน่นอนว่าในทุกงานที่เราทำ จะต้องมีการแก้ไขจาก Feedback ลูกค้า เพราะฉะนั้นถ้ามาทำฟรีแลนซ์แล้วก็ อย่าลืมตกลงขอบเขตการแก้ไข / จำนวนครั้งที่แก้ไขได้ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มทำงาน นับรอบการทำงานทุกครั้ง รวมไปถึงพูดคุยตกลงทำสัญญาก่อนทำงาน เพราะถ้าไม่กำหนดไว้ลูกค้าแก้ยับแน่นอน (หรือบางทีกำหนดไว้ก็ยังโดนแก้ยับอยู่ดี T T)
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะเขียนสัญญายังไงดี ลองไปอ่าน 7 สิ่งที่ฟรีแลนซ์ต้องเขียนในใบสัญญา ก่อนโดนโกง
3. ปัญหาเดือนนี้ไม่มีงาน ฉันจะอยู่รอดได้ยังไง
ปัญหาที่จะต้องเจอของอาชีพนี้ คือ จะหางานยังไงให้มันพอดีกับค่าใช้จ่ายและการดำรงชีวิตของอาชีพเรา แนะนำว่าถ้าตัวคุณเองยังมีผลงานน้อยกว่า 5 ชิ้น ก็อย่าเพิ่งลาออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ให้เสียเวลา การทำงานฟรีแลนซ์จะต้องมี Portfolio ผลงานที่แตกต่าง เพื่อดึงดูดความสนใจและพร้อมจะนำเสนอลูกค้าได้ว่าเราเคยผ่านงานอะไรมาบ้าง
อย่าลืมฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ทักษะการออกแบบให้ทันสมัยและเริ่มไปรับงานจากต่างประเทศ คุยกับลูกค้าหลากหลายประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง
นอกจากนั้น อย่าพยายามหารายได้จากทางเดียว ลองดูงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่สามารถหารายได้เสริมได้ เช่น รับทำเว็บไซต์เป็นงานหลัก เราก็รับดูแลเว็บเป็นงานเสริม หรือทำ Product เว็บสำเร็จรูปไว้ขายลูกค้ากลุ่ม SME ที่ทุนน้อยด้วยก็ได้
ตลาดขายธีม / กราฟฟิกในต่างประเทศอย่าง Themeforest, GraphicRiver, CodeCanyon ก็สร้างรายได้แบบ Passive Income ชั้นดีให้เราเลยค่ะ ใครสนใจลองดูได้ที่ 5 ความจริงเกี่ยวกับ Themeforest ที่คนอยากขายธีมต้องรู้
4. ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินของฟรีแลนซ์
อาชีพฟรีแลนซ์นั้นเสี่ยงมาก ถ้าหากเราไม่มีทักษะที่ดี โดดเด่นกว่าคนอื่น หรือไม่มีเครื่องมือในการทำงานที่ดี คุณอาจจะไม่ได้ลูกค้าเลยตลอดเดือนก็ได้ เพราะฉะนั้นคุณจะต้องมีความรับผิดชอบทางการเงินอย่างดีเยี่ยม วางแผนการใช้จ่าย เก็บออมเงินไว้สำหรับเดือนถัด ๆ ไป เพราะคงไม่มีใครเอางานมาให้คุณทำได้ทุกวัน ขนาดตามบริษัทยังควรมีเงินสำรองให้รันได้ 3-6 เดือนเลย
และถ้าคุณดีลงานกับบริษัทอื่น ๆ อาจจะมีระยะเวลาล่าช้าในการจ่ายเงิน (หรือที่เรียกว่า Credit Term อาจจะ 30 วัน 60 วันแล้วแต่บริษัท หรือบางบริษัทครึ่งปียังไม่ได้ก็มี) ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้เสมอ อย่าลืมสำรองเงินเผื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วยนะคะ
5. ถ้าคุณคิดว่า Freelance Graphic Designer หรือ Web Designer มันง่าย แค่ทำ Photoshop เป็นก็อยู่รอด
ถ้างั้นคุณคิดผิดขั้นรุนแรง การดำรงชีพอย่างฟรีแลนซ์นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คุณคิด แค่รู้ว่า Production ทำยังไงมันไม่พอ ยังมีเรื่องของการคุยกับลูกค้า การทำงาน การหางานเข้ามาเกี่ยวข้องอีกเพียบ อย่าลืมว่าฟรีแลนซ์ต้องส่งภาษีเองด้วยนะ
ถ้าคุณเป็น web designer จงเริ่มต้นเรียนรู้ HTML / CSS รวมไปถึงการทำเว็บไซต์ด้วยตนเองจาก WordPress ได้ เพราะ Web Designer ส่วนใหญ่ชอบมองแค่ฉันใช้ Photoshop / Illustrator เป็นก็ทำงานได้แล้ว แต่ไม่มองการทำงานในส่วนอื่น ๆ ด้วย
ลองคิดดูว่าถ้าคุณเขียนเว็บเองได้ด้วย จบงานเองได้ ไม่ต้องพึ่ง Front-end Developer คุณจะเห็นทางสว่างในการหารายได้เลย
6. เวลาทำงานประจำในบริษัทมีเพื่อนที่ทำงานมากมาย แต่ทำฟรีแลนซ์ไม่มีเพื่อนทำงานด้วยสักคน
มันจะเหงาหงอยเปล่าเปลี่ยวและเดียวดาย หากเราทำงานคนเดียวในบ้านหลังใหญ่ของเรา แถมไม่มีเพื่อนมาให้พูดคุยระหว่างวัน ฟรีแลนซ์จึงควรออกไปสังสรรค์หาสังคม และ Connection ใหม่ๆอยู่เสมอ อย่าขลุกตัวอยู่กับออฟฟิสเล็ก ๆ ของเราอย่างเดียว
ข้อดีของการออกไปข้างนอกตามอีเว้นท์ที่ทั้งฟรีและเสียเงินต่าง ๆ ทำให้เรารู้จักคนมากขึ้น ช่วยเพิ่มช่องทางการหาลูกค้าให้แก่เราได้มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เราเองก็มีคนติดต่องานเข้ามาจากอีเว้นท์พวกนี้เรื่อย ๆ คะ
สำหรับใครที่สนใจข้อมูลอีเว้นท์ฟรีต่าง ๆ แอดมินจะเอามาโพสในเพจ Designil Facebook ให้เป็นระยะค่ะ สามารถเข้ามากด Like เพื่อติดตามกันได้เลย
7. ฟรีแลนซ์ทำงานทั้งคืน รวมไปถึงวันหยุดพักผ่อน
เราเป็นฟรีแลนซ์ ดังนั้นการทำงานของเราอาจจะหนักหนาสาหัสกว่าการทำงานประจำ เราอาจจะต้องทำงานข้ามคืนรวมไปถึงวันหยุดพักผ่อนเพื่อที่จะให้งานออกมาเสร็จทันตามเวลาส่ง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของโทรศัพท์สายด่วนและอีเมล์จากลูกค้าที่จะโทรมาตามจิกคุณ แม้แต่เวลาพักเที่ยงและก่อนเข้านอน เพื่อเช็คว่าโปรเจคที่เขามอบหมายไปถึงไหนแล้ว
8. ฟรีแลนซ์ไม่มีโบนัส ไม่มีเลื่อนตำแหน่ง ไม่มีเบิกค่ารักษาพยาบาลและประกันสังคม แถมยังต้องเสียภาษีแบบมนุษย์เงินเดือนทั่วไปด้วยตนเอง
เพราะว่าการเป็นฟรีแลนซ์ไม่เหมือนกับงานประจำ ดังนั้นถ้าคุณทำงานฟรีแลนซ์เมื่อไร คุณควรจะมองเป้าหมายของรายรับที่มากกว่าเงินเดือนจากงานประจำของคุณ 2 เท่าขึ้นไป
ตัวอย่างเช่น คุณได้รายได้จากการทำงานประจำ 15,000 บาท/เดือน ดังนั้นถ้าคุณลาออกคุณจะต้องเผื่อค่าใช้จ่ายเรานี้ เท่ากับคุณควรจะหาเงินขั้นต่ำได้ประมาณ 30,000 บาท/เดือน (ตรงนี้ขึ้นอยู่กับว่ามีภาระทางการเงินขนาดไหนด้วย)
ฉะนั้นรายได้ของเรา มันรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่าย ค่าประกันสังคม ภาษีและอื่นๆสำหรับคุณในอนาคต อย่าลืมว่าคุณนอนป่วยที่โรงพยาบาลก็ไม่มีวันลาหยุดให้ใช้นะคะ
สรุป.. คิดให้ดีก่อนลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว
อ่านบทความนี้จบแล้ว ใครอยากทบทวนในการฟรีแลนซ์ก็ต้องศึกษารายละเอียดให้ดี ๆ ก่อนลาออกจากงานประจำ เพราะถ้าเรายังหาฐานลูกค้า หรือรายรับที่มั่นคงไม่ได้แล้วออกมาเสี่ยงเลย แอดมินก็ไม่ขอแนะนำและรับประกันใด ๆ ทั้งสิ้น การลาออกมีความเสี่ยง ผู้ลาออกควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลาออก
บทความหน้าเร็ว ๆ นี้ จะมาแนะนำ เทคนิคที่จะทำให้คุณกลายเป็นฟรีแลนซ์ที่ประสบความสำเร็จสำหรับบทความนี้ถ้าชอบก็กดไลค์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนได้นะคะ
อ่านจบแล้ว ? เราขอแนะนำบทความนี้
- [ Freelance ] 7 สิ่งสำคัญที่ฟรีแลนซ์ต้องเขียนในใบสัญญา ก่อนโดนโกง !!
- วิธียื่นภาษีสำหรับฟรีแลนซ์
- 3 เครื่องมือเด็ดสำหรับ Work From Home
- 10 ไอเดียงานฟรีแลนซ์แนะนำ ทำที่บ้านก็หาเงินได้