เผย 25 เคล็ดลับ Video Marketing กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยวิดีโอ

goodownday

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตผู้คน ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่ผู้คนบริโภคและใช้ชีวิตการอยู่ทุกวันนี้ล้วนขับเคลื่อนด้วยการตลาดบนโลกโซเชียล ควบคู่กันไปกับสื่อนอกบ้านแบบดั้งเดิม และปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า มันคือส่วนสำคัญที่ทำให้สินค้าและบริการต่างๆ จากเจ้าของธุรกิจสามารถเดินเข้าไปถึงตัวพวกเขาได้ แต่การจะทำการตลาดให้ประสบผลสำเร็จ

หนึ่งพาร์ทที่สำคัญในนั้น ก็คือ การตลาดที่เรียกว่า Video Marketing ที่นักการตลาดทั้งหลายต่างนิยมใช้ เพราะมันค่อนข้างเข้าถึงผู้คนที่ระยะหลังนิยมเสพข้อมูลทางสื่อวิดีโอกันมาก

📖 บทความนี้มีอะไรบ้าง แสดง

เคล็ดลับกลยุทธ์แบบ Video Marketing ที่น่าสนใจ มีอะไรบ้าง

ในเมื่อเราจำเป็นต้องทำการตลาดอย่างมีกลยุทธ์ มันก็คงต้องมีเคล็ดลับที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตลาดของเรามีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ ซึ่งเราขอสรุปมาเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

1. ต้องกำหนดเป้าหมายเสียก่อน

ก่อนที่จะผลิตคลิปวิดีโอขึ้นมาสักตัวหนึ่ง เราคงต้องคิดถึงเป้าหมายหรือจุดประสงค์ของมันก่อน เราจะผลิตขึ้นมาเพื่ออะไร สิ่งใดคือความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากวิดีโอตัวนี้ ซึ่งก็มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน ลองพิจารณาดูว่า เรากำลังต้องการข้อไหน

  • Awareness ต้องการให้ลูกค้ารู้จัก รับรู้ในภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือบริการ
  • Consideration แจกแจงคุณสมบัติ บอกข้อมูลให้ลูกค้ามองเห็นประโยชน์ที่เขาจะได้จากสินค้าและบริการของเรา
  • Decision ต้องการโน้มน้าวให้ผู้คนที่สนใจอยู่แล้วตัดสินใจเลือกใช้สินค้าและบริการนั้นๆ

ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้นก็ย่อมจะส่งผลต่อเนื้อหาและรูปแบบของวิดีโอที่เราจะผลิตขึ้นด้วยครับ

2. ไม่ลืมกำหนดกลุ่มเป้าหมาย

หลังจากระบุเป้าหมายของการตลาดบนวิดีโอคลิปที่เราจะสร้างได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือการเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการให้เขาเปิดดู เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องระบุให้ได้อย่างชัดเจนก่อนจะเริ่มโปรดักชั่น

ข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย ก็มีตั้งแต่ เพศ อายุ ความสนใจ และอื่นๆ รวมทั้งทำความเข้าใจว่าพวกเขาประสบปัญหาอะไรและมองหาหนทางแก้ไข ซึ่งนั่นก็จะทำให้เรามองเห็นว่าสินค้าหรือบริการของเรามีอะไรที่จะเข้าไปแก้ปัญหาให้กับพวกเขาได้บ้างนั่นเอง 

นอกจากนี้ก็ยังจำเป็นต้องสร้างบุคลิกของวิดีโอด้วย เช่น การเล่าเรื่องราวควรจะออกมาแบบไหนที่จะเกี่ยวข้องและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การเข้าใจ pain point และหยิบมาใช้บอกเล่าในคลิปจะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมและมีผลให้เขากลายมาเป็นลูกค้าได้

3. ช่องทางที่ต่างกัน คอนเทนต์ก็ต่างกันนะ

การจะทำให้วิดีโอของเราประสบความสำเร็จได้ ต้องเลือกใช้ช่องทางที่เหมาะสมด้วย สิ่งนี้ต้องคิดให้ลุล่วงตั้งแต่ยังไม่สร้างคอนเทนต์เลยนะครับ

เช่นถ้ามองว่า ลูกค้าน่าจะอยู่บนเฟซบุ๊กมากกว่าช่องทางอื่น เราก็ควรสร้างคอนเทนต์ที่เหมาะกับการลงโฆษณาบนเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ ช่องทางก็มีส่วนในการกำหนดลักษณะบางอย่างของวิดีโอ เช่น ถ้าจะลงคลิปในช่องทางยูทูบ คอนเทนต์บนนั้น อาจต้องเป็นคลิปขนาดสั้น ย่อยง่ายและดึงความสนใจได้ทันที

แม้การโพสต์คลิปตัวเดิมที่สร้างมาเพื่อแพลตฟอร์มหนึ่งไปบนอีกแพลตฟอร์มจะช่วยประหยัดเวลาได้มาก แต่เวลาคิดคอนเทนต์ ถ้าสร้างขึ้นมาโดยคิดถึงธรรมชาติของช่องทางนั้นเป็นการเฉพาะก็จะดีกว่ามากครับ

4. อย่าลืมกำหนดงบที่จะใช้

ถ้าเราเดินไปโดยไม่รู้ว่ามีงบอยู่เท่าไหร่ก็อาจเจอปัญหาได้ในภายหลัง เช่นนั้น จึงต้องกำหนดงบให้ได้ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการบานปลายและประสิทธิภาพในระยะยาวที่ดีกว่า

แน่นอนว่า การมีงบมากมายไม่ได้รับประกันว่าวิดีโอคลิปที่ทำไปจะประสบความสำเร็จ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องการจะสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดึงความสนใจของผู้คนด้วยคุณภาพที่ดี ทำให้การหาคนเก่งและเครื่องไม้เครื่องมือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

มีปัจจัยที่ต้องคิดให้เสร็จอยู่มากมายในสมการนี้ คลิปนี้ใช้เงินลงโฆษณาหรือไม่ ถ่ายแบบสัมภาษณ์หรือทำเป็นแอนิเมชัน จ้างอินฟลูเอนเซอร์ด้วยหรือเปล่า ถ่ายทำตัดต่อเองหรือจ้างคนอื่น อะไรแบบนี้เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่ต้องการกับทำให้รู้ว่าควรทำเองหรือจ้างคนที่ชำนาญกว่านั่นเองครับ

5. ไม่พึ่งพาอุปกรณ์จนเกินไป

อย่ามัวแต่คิดว่า จะสร้างโปรดักชั่นคุณภาพดีได้ ต้องใช้อุปกรณ์ระดับสุดยอด เมื่อเราคิดจะสร้างและเผยแพร่คอนเทนต์วิดีโอที่สะท้อนถึงแบรนด์ของเราแล้ว ก็ไม่ควรปล่อยให้อุปกรณ์พวกนั้นมาเป็นอุปสรรค แม้จะมีแค่สมาร์ตโฟน แต่มันก็สามารถบันทึกฟุตเทจที่มีคุณภาพได้ สิ่งที่ต้องคำนึงคือเราได้ถ่ายทำบนพื้นหลังและการจัดแสงที่เหมาะแล้วหรือยัง 

ถ้าเรามีงบที่จำกัด การใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ ไม่ต้องซื้อหาเพิ่ม ก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำ หรือใช้อุปกรณ์ที่ราคาไม่สูงนัก เพราะการถ่ายทำจริงๆ ต้องการเพียง สมาร์ตโฟนหรือกล้อง DSLR สักตัวหนึ่ง ขาตั้งกล้อง ไมโครโฟน ซึ่งถ้าถ่ายกลางแจ้งก็อาจไม่ต้องพึ่งพาการจัดแสงนัก ที่เหลือก็เป็นเรื่องการตัดต่อแล้วล่ะครับ ซึ่งบางคนก็อาจเลือกใช้การตัดต่อบนแอปฯ ในมือถือเสียด้วยซ้ำไป หรือถ้านำไปลงในอินสตาแกรม ที่นั่นก็มีฟิลเตอร์และเทมเพลตเตรียมไว้ให้แล้วอีกต่างหาก

6. สร้างวิดีโอที่เล่าจาก pain point ของผู้คน 

ผู้คนในที่นี้หมายถึงกลุ่มเป้าหมายของเรานะ หลังจากนั้น ระบุได้แล้วว่า เราต้องการอะไรจะคอนเทนต์นี้ ระบุได้แล้วว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และจะเล่าลงในช่องทางไหน ก็ได้เวลาคิดแล้วว่า แล้วเรื่องอะไรล่ะที่จะเลือกมาเล่าในวิดีโอ 

สิ่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการสร้างคอนเทนต์พวกนี้คือการเลือกหัวข้อที่เชื่อมโยงและตรงกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ นั่นคือ เราต้องศึกษาเสียก่อนว่า ถ้าจะพูดเรื่อง กลุ่มเป้าหมายกำลังเจอ pain point ในเรื่องใดอยู่ แล้วคลิปวิดีโอของเล่าจะช่วยแก้ปัญหายังไงได้บ้าง เมื่อได้ทุกสิ่งที่แน่ชัดแล้ว การสร้างคอนเทนต์ของเราก็ง่ายดายขึ้นเยอะเลยล่ะ

Video marketing - Simplilearn
Simplilearn

7. เล่าเรื่องให้มีชั้นเชิง

หลายคนก็อาจจะเคยเจอปัญหาที่ว่า คลิปที่โปรโมตแบรนด์ สินค้าหรือบริการต่างๆ แบบโต้งๆ นั่น ผู้คนไม่ค่อยชอบและผลลัพธ์ที่ได้มักไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หลายคนจึงหันไปเล่าเรื่องที่ดึงดูดแทน 

การเล่าถึงว่า สินค้าหรือบริการของเรานั้นเข้ากันได้ดีกับชีวิตประจำวันของพวกเขาได้อย่างไร เป็นสิ่งทำให้ผู้ชมมองเห็นว่ากรใช้สินค้าหรือบริการพวกนี้นี่แหละที่ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขา และมันจะเปลี่ยนพวกเขามาเป็นลูกค้าของเราได้ สิ่งที่เราควรทำคือ การพูดให้ตรงประเด็นแต่มีประสิทธิภาพโดยการเล่าเป็นเรื่องราวพร้อมๆ ไปกับการนำเสนอสินค้าหรือบริการเพื่อไม่ให้มันดูเป็นการขายของจนเกินไป 

8. เล่าเรื่องให้เป็นแพตเทิร์น

รูปแบบที่หลายๆ เจ้านิยมใช้กันและได้รับการยอมรับว่ามันเล่าเรื่องได้ดีและเวิร์กนั่นก็คือ การเริ่มต้นด้วยเล่าถึงปัญหาที่ผู้คนพบเจออยู่ จากนั้นก็บอกพวกเขาว่ามีวิธีแก้ไขนะ แล้วเราช่วยพวกเขาได้ (ซึ่งจะถูกเรียกว่าเป็นทีเซอร์) แล้วค่อยปิดท้ายด้วยการนำเสนอทางออกให้กับพวกเขา

สิ่งที่เราต้องทำในขั้นตอนนี้ก็คือ ต้องเข้าใจแจ่มชัดเสียก่อนว่ากำลังจะแก้ปัญหาใดให้กับผู้รับชมวิดีโอและหนทางแก้ไขนั่นคืออะไร ทั้งนี้ เราก็สามารถจะใช้ตัวอักษร ข้อความ หรือเอฟเฟกต์ต่างๆ เพิ่มเข้าไปในคลิปเพื่อเพิ่มความน่าสนใจได้อีกด้วยครับ

9. เขียนสคริปต์ให้ดีก่อนจะเริ่มต้นถ่ายทำ

การมีสคริปต์ก่อนเริ่มถ่ายทำสามารถจะช่วยไม่ทีมงานออกนอกลู่นอกทางได้ดี การเขียนสคริปต์ไว้ก่อนจะช่วยจะอธิบายรายละเอียดที่จำเป็นและตัดบางส่วนที่เยิ่นเย้อออกไป ผลดีคือ เราไม่ต้องถ่ายทำกันหลายเทค ประหยัดเวลา แถมยังแก้ไขปัญหาระหว่างถ่ายทำได้ 

การเขียนสคริปต์ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ถ้อยคำให้เป๊ะ แค่บอกไอเดียคร่าวๆ ที่จะช่วยให้มองเห็นว่าวิดีโอของเราจะเดินเรื่องอย่างไร จากจุดไหนไปจุดไหนก็พอ แต่ถ้ามีเวลาเขียนสคริปต์ที่เป็นรายละเอียดได้ก็น่าจะดีกว่า

10. ใส่อารมณ์ขันเข้าไปเสมอ

อารมณ์ขันอาจดูเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แถมอาจจะไม่แน่ใจว่าผู้ชมจะโอเคหรือชอบมันหรือเปล่า แต่มันก็เป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะมันจะช่วยสร้างอารมณ์ให้กับคลิปวิดีโอ ทำให้ผู้ชมสนใจและยังอยู่กับคอนเทนต์ไม่เดินจากไป ทั้งยังอาจช่วยให้พวกเขารู้สึกดีกับแบรนด์ของเราด้วยซ้ำ

11. ต้องไม่ลืมความเป็นแบรนด์

ไม่ว่ายังไง การทำ video marketing เป้าหมายที่สำคัญก็ต้องทำให้ผู้คนรับรู้ถึงแบรนด์ จึงจำเป็นที่ต้องสร้างวิดีโอที่ให้ความรู้สึกว่ามีความเป็นแบรนด์นั้นๆ อยู่ ในระหว่างการถ่ายทำ ก็อาจจะมีส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น​ ฉากหลังที่มีองค์ประกอบบางอย่างที่บ่งบอกถึงแบรนด์ได้ อาจมีโลโก้ สีหรือกราฟิก รวมไปถึงฟอนต์ที่เป็นของแบรนด์เรา สิ่งนี้อาจอยู่แอนิเมชันตัวเปิดคลิป หรืออาจอยู่ในตอนจบก็ได้ทั้งสิ้น

12. ใส่เพลงหรือดนตรีประกอบ

คงดูไม่น่าสนใจนัก ถ้าสร้างคลิปขึ้นมาแล้วมีแต่เสียงคนพูด การใส่ซาวด์หรือดนตรีประกอบไปด้วยจะยิ่งทำให้คลิปนั้นดูน่าสนใจมากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะตั้งค่าความดังให้พอดี อย่าให้ดังจนรบกวนเสียงพูดก็แล้วกันครับ

13. กระตุ้นการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้น

เราสร้างคลิปวิดีโอขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่แน่ชัด แต่ถ้าในคลิปไม่มี Call to Action ที่ชัดเจน อาจกลายเป็นการตลาดที่ไม่ได้ผล Call to Action นี้อาจเป็นได้หลายอย่าง เช่น บอกให้ผู้เยี่ยมชมคลิปคอยติดตามแชนแนล กดกระดิ่ง กด Subscribe คลิกเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ ลงทะเบียนร่วมกิจกรรม หรือซื้อผลิตภัณฑ์/บริการของเรา ทั้งไม่จำเป็นต้องพูดถึงในตอนท้ายแต่อาจบอกพวกเขาต้องแต่ต้นคลิปก็ได้เช่นกัน

14. ปรับค่าวิดีโอให้ถูกค้นหาเจอได้ง่าย

คงเป็นเรื่องเศร้า ถ้าทุ่มเทแรงใจแรงกายสร้างวิดีโอที่ใส่เรื่องราวที่ชวนดึงดูดใจเปี่ยมด้วยคุณภาพ แต่กลับไม่มีคนที่มองเห็นมัน ทุกสิ่งที่ทำลงไปย่อมจะสูญเปล่า สิ่งที่ควรทำก็คือต้องปรับแต่งให้วิดีโอนั้นพร้อมสำหรับการค้นหา

ถ้าคลิปนั้นสร้างขึ้นเพื่อโพสต์บนเฟซบุ๊ก การเพิ่มคีย์เวิร์ดที่สำคัญลงใน description เข้าไปก็น่าจะช่วยได้มากขึ้น ส่วนถ้าคลิปนั้นถูกนำไปโพสต์ในยูทูบ ก็ควรต้องเพิ่มคำที่เกี่ยวข้องและแฮชเท็กเข้าไปในชื่อคลิป, description และแท็ก ส่วนในอินสตาแกรม ก็ควรจะใส่แคปชันที่มีคำและแฮชเท็กที่เกี่ยวข้อง ทั้งหมดก็เพื่อทำให้ผู้คนค้นหาคอนเทนต์ของเราเจอได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

15. อย่าลืมโปรโมตวิดีโอด้วย

แม้ว่าเราจะปรับแต่งมาทุกอย่างแล้ว มันก็ยังคงไม่เพียงพออยู่ดี เพราะเราเองก็ควรต้องทำหน้าที่กระจายข่าวให้ผู้คนได้รับรู้ว่ามีคลิปวิดีโอตัวใหม่เกิดขึ้นบนโลกแล้ว จงเข้ามาดูกัน ซึ่งก็สามารถทำกันได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการแทรกวิดีโอนี้ลงไปบนหน้าเว็บและหน้าแรกของเว็บไซต์ เราอาจสร้างบทความขึ้นมาเพื่อรองรับแล้ววางแทรกคลิปลงไปประกอบ โพสต์ตัวอย่างหรือทีเซอร์ลงในโซเชียลมีเดีย แปะลงในจดหมายข่าว หรืออาจจะใช้การลงโฆษณาในผลการค้นหาก็ได้นะครับ

16. การติดตามผลก็สำคัญ

แม้ว่าจำนวนการเปิดดู (view count) จะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องให้ความสำคัญกับมันมากถ้ามันไม่ได้สร้างสิ่งอื่นตามที่มุ่งหวังอย่างเช่น การเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ การแชร์ไปตามโซเชียลต่างๆ การเข้ามาลงทะเบียน การสั่งซื้อ หรืออะไรอย่างอื่น 

จำนวนการเปิดดูยังสำคัญอยู่ แต่ก็ควรจะให้ความสำคัญกับค่าอื่นๆ ด้วยเช่นกัน สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการติดตามผลก็คือมันประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างเช่น ถ้าวางเป้าหมายเพื่อเพิ่มการรับรู้ ก็อาจมุ่งความสนใจไปที่การตรวจสอบดูระยะเวลาในการเปิดดูเพื่อเช็คปริมาณการมีส่วนร่วมกับคลิปวิดีโอของเรา เฝ้าดูยอดวิว ยอดแชร์ และจำนวน follower หรือ subscriber ซึ่งจะทำให้เรามองเห็นว่าวิดีโอที่สร้างนั้นมีจุดไหนที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เป็นต้น

17. ไม่ลืมที่จะนำของเก่ามาเล่าใหม่

คอนเทนต์อย่างคลิปวิดีโอเนี่ย ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างมาแล้วใช้ครั้งเดียวทิ้งนะครับ จริงๆ มีอีกหลายวิธีที่จะสามารถนำมันกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อใช้มันให้มีมูลค่ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ รวมทั้งสร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายบนแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย 

ตัวอย่างเช่น เราจะอาจจะเปลี่ยนจากคลิปวิดีโอให้กลายเป็นบทความสักหนึ่งบท หรือจากเดิมที่มันอยู่บนเฟซบุ๊ก ก็อาจนำมันไปโพสต์บนยูทูบ หรือคอนเวิร์ตให้เป็นคอนเทนต์คลิปสั้นๆ บนอินสตาแกรมหรือติ๊กต่อก นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายวิธีเลยล่ะครับ


หลากหลายไอเดียในการทำ Video Marketing

แบรนด์แต่ละแบรนด์ สินค้าแต่ละอย่าง ก็มีรายละเอียดและลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไป แต่ยังไงก็ยังมีที่ทางพอจะเลือกใช้รูปแบบและการเล่าของวิดีโอที่เหมือนกันได้อยู่บ้าง คราวนี้ เรามาดูกันซิว่า ไอเดียพวกนั้นมีอะไรกันบ้าง

1. ทำวิดีโอสาธิตการใช้งานหรือรีวิวสินค้า

คนส่วนใหญ่คงชอบที่จะดูคลิปสาธิตการใช้งานก่อนจะเลือกตัดสินใจ คลิปที่มีคนมาทดลองใช้งานให้ดูจึงเป็นหนึ่งรูปแบบที่นิยมทำกัน ซึ่งมันก็ไม่ใช่แค่นั้น เพราะความจริงแล้ว นอกจากคนดูคลิปจะได้รู้ว่าสินค้าตัวนั้นมีอะไรน่าสนใจ ใช้งานยังไง แล้วมันยังช่วยลดความข้องใจ ความสงสัยในตัวสินค้าลงได้ แถมช่วยให้พวกเขามั่นใจในตัวสินค้ามากขึ้นได้อีกด้วย

2. ทำวิดีโอสอนการใช้งาน

อีกหนึ่งรูปแบบนี้มีผู้คนสนใจดูเป็นอันมาก นั่นคือ วิดีโอที่สอนการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการทำอาหาร ขนม การแต่งหน้า และอีกหลายสิ่ง เพราะมันช่วยให้พวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาที่ตัวเองมีได้ แถมมันยังเปิดให้เจ้าของคลิปก็สามารถจะไทอินสินค้าหรือแบรนด์ต่างๆ ลงไปได้ด้วยนะครับ

คลิปสอนการห่อของขวัญ

3. ทำวิดีโอสอนหรืออธิบายข้อมูล

เรื่องบางเรื่อง มันเป็นสิ่งยากที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือบางทีมันก็ดูยุ่งยากกว่าหากจะซื้อหนังสือมาอ่านทำความเข้าใจเอาเอง แต่ถ้ามีคลิปที่ช่วยอธิบายหรือสอนเรื่องยากๆ หรือเรื่องที่เราสนใจ มันก็ย่อมจะตอบโจทย์ของพวกเขาได้ ทั้งยังเป็นการตอกย้ำกับผู้ชมด้วยว่า เราคือตัวจริง มีความรู้จริงในด้านนั้น ส่งเสริมความน่าเชื่อให้กับแบรนด์ของเราให้หนักแน่นขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นข้อมูลที่ผู้คนสนใจอยากรู้กันด้วยนะ

4. ทำคลิปอัปเดตข่าวสินค้าใหม่

เมื่อแบรนด์กำลังจะส่งสินค้าตัวใหม่ หรืออัปเกรดสินค้าหรือบริการและต้องการเผยแพร่ให้ผู้คนที่อาจเป็นลูกค้าอยู่แล้วหรือยังอยู่ในระหว่างตัดสินใจได้รับรู้ การสร้างคลิปวิดีโอแนวอัปเดตข้อมูลก็ถือเป็นอีกทางหนึ่งที่น่าสนใจ

5. ทำวิดีโอบอกความรู้สึกของลูกค้า

การที่ผู้คนจะเลือกใช้หรือใช้สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญก็คือความรู้สึกเชื่อมั่นและเชื่อถือ การสร้างคลิปวิดีโอที่บอกเล่าความรู้สึกของลุกค้าที่มีต่อสินค้าและบริการจึงเป็นการพาตัวคนที่เป็นส่วนหนึ่งของลูกค้าขึ้นมาบอกเล่าในสิ่งที่เขาพบเจอ ทั้งปัญหาและสิ่งดีๆ ที่พวกเขาได้พบสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมให้ลูกค้าที่รู้สึกพึงพอใจพร้อมที่จะใช้งานต่อเนื่อง 

6. ทำคลิปที่เปิดเผยวัฒนธรรมขององค์กร

บางที เราก็ไม่ต้องเอาแต่โฟกัสเรื่องสินค้าหรือบริการแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ ไม่ต้องมุ่งเน้นแต่จะให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าแต่เพียงอย่างเดียวก็ได้ แต่ยังมีแนวทางอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขามองเห็นสิ่งที่แบรนด์ของเราเป็น รวมทั้งจุดมุ่งหมายและวัฒนธรรมในองค์กร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ที่เข้ามาดูรู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์มากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ต้องเป็นคลิปที่นั่งบอกกันโต้งๆ ก็ได้ แต่อาจจะเป็นคลิปที่เผยเบื้องหลังการทำงานหรือเบื้องหลังสินค้าสักตัว ก็เป็นไปได้เช่นกัน

7. ทำไลฟ์สดพูดคุยบ้างก็ได้

ในหนึ่งแชนแนล ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะคลิปวิดีโอที่ถ่ายการคิดสคริปต์ ถ่ายทำและตัดต่อทุกอย่างสมบูรณ์มาแล้วก็ได้ แต่อาจแทรกด้วยคลิปที่พิเศษในลักษณ์ไลฟ์ โดยเชิญคนดัง ผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมพูดคุยกับพิธีกร ในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ที่จะกลายเป็นประโยชน์สำหรับผู้แวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชม ทั้งยังสร้างความรู้สึกในด้านดีเกี่ยวกับแบรนด์นั้นๆ ด้วย

8. ทำคลิปโฆษณา

แนวคิดแบบง่ายๆ ในเมื่อเราต้องทำคลิปเพื่อลงโฆษณาอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องมีในแชนแนลของเราส่วนหนึ่งของคือคลิปโฆษณาเนี่ยแหละ สิ่งที่พิเศษของคลิปพวกนี้ก็คือมันจะเป็นคลิปขนาดสั้น ที่บอกเล่าไฮไลต์ของโปรดักต์ คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดของสินค้า หรือบอกกับผู้ชมไปเลยว่าสินค้าหรือบริการของเรานั้นมันดีต่อชีวิตพวกเขาอย่างไร นอกจากนี้ ยังอาจใช้เพื่อบอกเรื่องส่วนลดหรือช่วงเวลาโปรโมชันได้ด้วยนะครับ


เมื่อมองเห็นแล้วว่า ผู้คนชอบเสพคอนเทนต์ในลักษณ์วิดีโอกันเป็นพิเศษ การกระโดดเข้ามาทำการตลาดกับคอนเทนต์ประเภทวิดีโอจึงไม่ใช่สิ่งที่จะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อไล่เรียงกันมาจนถึงตรงนี้ ก็คงจะไอเดียและเคล็ดลับของการทำ Video Marketing นั้นกันไปมากมายพอสมควรแล้ว ที่เหลือก็อย่าลืมติดตามเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันด้วยนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Designil ทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างคอนเทนต์ดีๆ มีสาระประโยชน์ให้กับผู้อ่าน สิ่งที่ทีมงานแนะนำทั้งหมดมาจากการค้นคว้าและทดลองใช้งานจริงหลายสัปดาห์ หากคุณชอบเนื้อหาแบบนี้และอยากสนับสนุนให้ทีมงานให้มีแรงสร้างคอนเทนต์ดีๆ ในอนาคต สามารถซื้อสินค้าหรือบริการผ่านลิงก์บนบทความของเราได้นะครับ บางลิงก์ทางทีมงานจะได้รับส่วนแบ่งเล็กน้อยโดยจะไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับทางผู้อ่าน ขอบคุณสำหรับการติดตามครับ การทำงานของเรา