ปัญหาของการเรียน Bootcamp UX UI ที่นายจ้างไม่เคยบอกคุณ

Natk

สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้แอดนัทกลับมาพร้อมกับบทความที่ได้อ่านมาล่าสุดในเรื่องของเทรนด์ของการเรียนออนไลน์ด้วยตนเองทางด้าน UX UI สำหรับคนที่อยากย้ายสายงานมาทำงานสายนี้ควรจะต้องอ่านเลยค่ะ

ในบทความนั้นได้กล่าวถึงเรื่องของการเรียนแบบระยะยาว ที่จะมีการเรียนแบบเทรนด์สอนการทำงานสกิลขั้นโหด หรือที่เรารู้จักกันในคำว่า UX UI Bootcamp

📖 บทความนี้มีอะไรบ้าง แสดง

คอร์สเรียน Bootcamp คืออะไร

Bootcamp คือ หลักสูตรติวเข้มเป็นการฝึกอบรมระยะสั้นที่เข้มข้น ซึ่งออกแบบมาเพื่อเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการทำงานจริง คุณสามารถค้นหาหลักสูตรติวเข้มแบบ Fullstack หลักสูตรการเขียนโค้ด UX/UI ตลอดจนหลักสูตรติวเข้มด้าน Data ต่างๆ เช่น Data Analyst, Data Engineer หรือ Data Science เป็นการอบรมอย่างเข้มข้นในระยะเวลาจำกัด ที่จะทำให้คุณสามารถมีผลงานเพื่อไปสมัครงานได้จริงหลังจากเรียนจบ

เป้าหมายของการเรียนแบบ Bootcamp คือการเตรียมพร้อมคุณให้เข้าสู่ระบบการทำงานในเวลาอันรวดเร็ว โดยคุณจะได้ทักษะประเภท Hard skill ที่เหมาะสำหรับการทำงานจริงอย่างครบถ้วน


ทำไมการเรียน Bootcamp UX UI ถึงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง

ในปัจจุบันนั้นในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ ยุโรปหรือทางออสเตรเลียเองก็ตาม มีเทรนด์การเรียนการสอนที่เรียกว่า Bootcamp ขึ้นมามากมาย ทำให้นักเรียนที่สนใจจะเปลี่ยนอาชีพมาทำงานสาย Tech เองนั้นมองเห็นลู่ทางในการย้ายงาน เพื่อโดดเข้ามาในสายอาชีพที่มีการให้เงินเดือนที่สูงลิบลับ เมื่อเทียบกับการเรียนทางด้านสายอื่น

อีกทั้งหลายๆ ที่ยังใช้เทคนิคการทำ Marketing โฆษณาเชิญชวนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนำเสนอ “เงินเดือนที่เตะตา” รวมไปถึงการเรียนแบบระยะสั้นที่จะการันตีให้คุณสามารถหางานได้ภายในระยะสั้น

บางคอร์สในต่างประเทศนั้นให้คำโฆษณาว่าเรียน 12 สัปดาห์ก็การันตีการหางาน ที่จะได้เงินเดือนในระดับหลักแสนต่อเดือน และคอร์สบางแห่งเรียกเก็บเงินสูงถึง 12,000 เหรียญ (428,000 บาท) ซึ่งถือว่าแพงมาก แพงกว่าคอร์สเขียนโค้ดเป็นเท่าตัว แถมปัญหาที่ตามมาคือบางคนเรียนจบแล้วยังหางานไม่ได้อีก


4 ปัญหาหลักของการเรียน Bootcamp UX UI

1. ผลงานของผู้สมัครไม่มีความแตกต่างกัน

อ้างอิงจากบทความของดีไซน์เนอร์หลายๆ ท่านหรือผู้ว่าจ้างงานในระดับ Lead ได้เห็นพ้องต้องกันว่า การตรวจ Portfolio หรือ Resume ในปัจจุบันนั้นค่อนข้างทำได้ยากมากยิ่งขึ้น เพราะนักเรียนทุกคนที่ต้องการจะมาเริ่มทำงานในบริษัท ต่างมี Portfolio ที่มีรูปแบบการจัดเรียงและวิธีในการทำโปรเจคที่ออกมาเหมือนกันแบบ copy ทุกสเตป ทำให้ไม่มีข้อแตกต่างหรือจุดเด่นที่แสดงออกมาเลยในแต่ละคน

หรือในภาษาอังกฤษเราจะเรียกกันว่า การทำพอร์ตฟอลิโอแบบ Cookie-Cutter

ระวังเรื่องการเขียนพอร์ตฟอลิโอให้มีรูปแบบแพทเทิร์นที่ตรงตามตำรา เพราะพอร์ตฟอลิโอของคุณอาจจะไปซ้ำกับคนอีก 100 คนที่สมัครงานในตำแหน่งเดียวกันกับคุณก็เป็นได้

2. ผลงานไม่การันตีทักษะ Soft skill

การเรียนการสอนที่ระยะสั้น ทำให้หลายคนยังไม่ได้ลองสัมผัสกับการทำงานในระบบองค์กรสาย Product ที่แท้จริง พอรับพนักงานเข้ามาทำจริงๆ กลับทำงานไม่ได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้

ทำให้นักเรียนหลายท่านเมื่อเข้าไปทำงานจริง ไม่สามารถจัดการงานให้เสร็จทันตามเวลาหรือที่เรียกว่า Tight deadline ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถจัดการกับความต้องการของ Stakeholder ที่เข้ามาพร้อมกันระหว่างทำงานอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ถ้าเกิดหัวหน้าหรือคนที่เกี่ยวข้องขอแก้ไขงาน, เดปไม่สามารถพัฒนาตรงส่วนนี้ได้, เวลาการทำงานที่มีจำกัด ไม่สามารถรีเสิชได้ทัน แต่ต้องส่งงาน เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร?, ถ้าเกิดเข้าไปทำงานแล้วไม่ได้มีเวลาเพียงพอสำหรับการรีเสิชได้เลย เราจะทำงานอย่างไร?

3. คอร์สเรียนระยะสั้น ไม่ได้สอนให้เรารู้จักการทำงานในองค์กร

นอกจากนี้คอร์สเรียนแบบ Bootcamp ยังไม่ได้สอนทักษะทางด้าน Organisational skills หรือที่เรียกว่าทักษะการทำงานองค์กร ที่เราจะต้องทำงานร่วมกันกับคนอื่นมากมายหลายแผนก ที่ไม่ได้จะเป็นงานรับคำสั่งมาแล้วออกแบบ และส่งมอบ แต่การทำงานด้าน UX UI จะเป็นการทำงานที่มีทักษะอื่นๆมาเกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

สกิลพรีเซนต์ผลงาน, การจัดการความคาดหวัง, การบริหารความเสี่ยง, หรือทักษะการเจรจาต่อรอง ถ้าหากว่าสิ่งที่เราออกแบบไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ หรือไม่สามารถทำได้ เราจะตัดสินใจยังไงต่อเพื่อไม่ให้กระทบกับคนอื่นและธุรกิจ etc.

เนื่องจากงานด้าน UX, UI, Product designer จะเป็นงานที่ใช้ทักษะทางด้าน ​Presentation & Collaboration

ตัวอย่างทักษะ Organisational skills อาทิเช่น

  1. Time management – วิธีการจัดการเวลา
  2. Communication – วิธีการสื่อสาร การเล่าเรื่อง
  3. Setting goals – การตั้งเป้าหมายการทำงาน
  4. Delegation – การกระจายงานให้ผู้อื่น (ไม่ทำงานคนเดียว)
  5. Working under pressure – การทำงานภายใต้ความกดดัน
  6. Self-motivation – การสร้างแรงบันดาลใจด้วยตนเอง
  7. Analytical thinking – การคิดแบบเป็นระเบียบแบบแผน
  8. Attention to detail – ความใส่ใจรายละเอียด
  9. Decision-making – การตัดสินใจ
  10. Strategic planning – การวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

4. คอร์สเรียน Bootcamp ไม่ได้สอนให้นักเรียนเข้าใจเรื่องของ BUSINESS

ไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบไหนก็ตาม การออกแบบนั้นจะต้องเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์กับทางธุรกิจอยู่เสมอ และบริษัทจะจ้างเราเข้าไปทำงานก็ต้องคาดหวังเรื่องของผลตอบแทนของบริษัทในระยะยาวเสมอ

ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มาเรียนออกแบบอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ว่าในคลาสเรียนในปัจจุบัน ไม่ได้สอนให้เราทำความเข้าใจวิธีการทำธุรกิจที่แท้จริง ว่าจะต้องประกอบไปด้วยการทำงานของแผนกไหนบ้าง มีใครที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจเบื้องหลังบ้าง สิ่งนี้คือสิ่งที่ดีไซน์เนอร์จะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองหากอยากจะเข้าไปสัมผัสการทำงานจริงในองค์กรนั่นเองค่ะ


Bootcamp UX UI problems
Bootcamp UX UI problems

ภาพด้านบนนี้คุณดีไซน์เนอร์กล่าวไว้ว่า ถ้าหากคุณได้งานด้าน UX แล้ว สิ่งที่คุณต้องทำในทุกวันคือทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดการด้าน Design debt (เช่นการรีเสิชมาแล้วไม่ได้ใช้งานต่อ เสียเวลาไปเปล่าๆฟรีๆ) หรือต้องไปใช้งาน Design systems ที่มี 3 ตัวในโปรเจคเดียวกัน จะเลือกใช้งานอย่างไร แต่คุณก็ไม่สามารถออกแบบใหม่ได้เพราะว่าเขาไม่ให้ออกแบบใหม่ และคุณมีเวลาจำกัดในการส่งงาน

คุณอาจจะบอกว่าชอบการออกแบบ ดังนั้นการใช้เวลาไปกับการออกแบบบน Figma ในการทำแอพใหม่จึงเป็นอะไรที่ดูสนุก

แต่ภาพการทำงานจริงนั่นคือการไปทะเลาะกับ PMs หรือ Engineers ทั้งวันในเรื่องของเป้าหมายของ Product เราจะทำอย่างไรให้เจรจากับทีมต่างๆในองค์กรได้ หากเรามีทรัพยากรที่จำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลา ทีม และอื่นๆ

5. คอร์สเรียนไม่ได้สอนให้เข้าใจเรื่อง Tech stack, Tech environment

การออกแบบ UX หรือการออกแบบ UI จะต้องทำงานอยู่ในวังวนของ ​Technology ผู้ออกแบบจึงจะต้องทำงานร่วมกับ Engineers ที่ต้องมีเรื่องของการเขียนโค้ด tech stack มาเกี่ยวข้องเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเราไปทำงานในบริษัทไหน OS ไหน, Environment แบบไหน บางครั้งดีไซน์เนอร์จึงจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของเบื้องหลังของเทคโนโลยีที่กำลังจะออกแบบด้วยแบบพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น Web app, Website, iOS, Android, TV, Game, Car UI, Watch UI หรือจะเป็นการออกแบบ UI ของตู้เย็น etc.

ดีไซน์เนอร์ต้องเข้าใจว่าในแต่ละ environment นั้นมีข้อจำกัดอะไรบ้าง ประวัติความเป็นมา ซึ่งเรื่องนี้จะไม่มีสอนในคอร์สออนไลน์นั่นเองค่ะ ดีไซน์เนอร์จะต้องหัดเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ หรือจากงานที่ทำจริงๆ หรือบางครั้งอาจจะต้องลงไปเรียนเขียนโค้ดเอง เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของการทำงานทั้งหมด

6. คอร์ส Bootcamp ไม่ได้สอนให้เข้าใจเรื่องวิธีการทำงานด้าน Product development

ในเนื้อหาการเรียนการสอนฝั่งดีไซน์ อาจจะไม่ได้สอนไปยังเรื่องของขั้นตอนการวางแผน product และการพัฒนา product ในภาพขนาดใหญ่ ทำให้ผู้เรียนไม่เข้าใจว่าขั้นตอนก่อนที่จะออกมาเป็น product จะต้องผ่านการคิด การทำงาน การวางแผนอะไรออกมาบ้าง

ซึ่งเรื่องนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ดีไซน์เนอร์ควรจะเรียนรู้และทำความเข้าใจก่อนที่จะสมัครงานเพื่อให้ไปสามารถทำงานได้จริงในองค์กรได้


สรุป

การทำงานจริงในฝั่งของ Product ไม่ว่าเราจะทำงานตำแหน่งไหน เราจะต้องมีความรู้ที่หลากหลายด้านผสมผสานกันไปนั่นเองค่ะ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจภาพรวมทั้งหมดขององค์กรและขั้นตอนการทำงานในภาพใหญ่ และรู้ว่าเราอยู่ตรงส่วนไหนของขั้นตอนการทำงานนั่นเอง


วิธีแก้ปัญหาสำหรับคนที่อยากเรียนด้าน Bootcamp UX UI

ในที่นี้เองแอดนัทก็ผ่านการเรียนแบบ Bootcamp มาเช่นเดียวกันค่ะ ต้องบอกว่า Bootcamp นั้นก็ให้ความรู้กับแอดนัทได้มากๆเลยทีเดียว และในประเทศไทยและต่างประเทศเองก็มีหลายหลักสูตรที่น่าสนใจและดีเยี่ยมเยอะมาก

ในส่วนของบทความที่แอดนัทจะเขียนต่อไปนี้จะเป็นเรื่องราวของวิธีการปรับตัวสำหรับคนที่อยากเรียนแบบ Bootcamp ว่าจะเพิ่มสกิลอย่างไร ให้เราสามารถเป็นคนที่แตกต่างและหางานได้หลังจากเรียนจบ

มาดูกันเลยว่าเราจะทำอย่างไรให้ Resume + Portfolio ของเรานั้นแตกต่าง
และจะช่วยให้เราหางานได้ง่ายขึ้นกันค่ะ

1. หา Mentor หากต้องการจะเปลี่ยนสายงาน

หาคนไกด์ช่วยฝึกสกิลของเราระหว่างทาง เพื่อเรียนรู้ระบบการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะการทำงานในโลกแห่งความเป็นจริง แตกต่างจากการเรียน Bootcamp มากๆ

และการมี Mentor จะช่วยให้คุณดึงสกิลที่คุณเคยมีในการงานก่อนหน้า มาใช้ในการพรีเซนต์ตัวเองเพื่อหางานทางด้านนี้ได้ในอนาคต เรียกว่ามีคนมาช่วยไกด์เราให้เราดึงสกิลลับของเราที่ซ่อนไว้ออกมาเพื่อสร้างจุดเด่นได้นั่นเองค่ะ

2. หาที่ฝึกงานนอกเวลา

ฝึกทำงาน ฝึกรับงานจริง แต่ถ้าเกิดเพิ่งเริ่มในสายนี้ เราก็จะยังหางานทำจริงได้ยากหากยังไม่มีผลงาน ดังนั้นต้องขยันขอไปทำงานฟรีหลังเลิกงานกับพี่ๆ ในวงการ เพื่อได้ทดลองทำงานจริง

3. ใจกล้า

ส่งอีเมล์ไปขอฝึกงานกับบริษัทเลย เพื่อจะได้ทดลองทำงานจริงในระยะเวลา 1 – 3 เดือน เพื่อที่จะได้เรียนรู้การทำงานในธุรกิจที่ทำงานเกี่ยวกับ Digital product จริงๆ

คนไทยชอบกังวลเรื่องอายุ แต่แอดนัทอยากให้กำลังใจว่าอายุเท่าไรก็ขอไปฝึกงานได้ ถ้าเราใจกล้า คนรับเขาก็ใจกล้าเช่นกันค่า แต่อาจจะต้องสื่อสารกันให้ชัดเจน เพราะบางบริษัทอาจจะมีค่าขนมสำหรับฝึกงานให้ แต่บางบริษัทอาจจะยังไม่มีตรงส่วนนี้

4. หาคอนเนคชั่น

พบปะคนให้เยอะขึ้นเพราะโอกาสการทำงานนั้น อาจจะมาจากคอนเนคชั่นของเราก็ได้ ดังนั้นไปร่วมกิจกรรม งานอีเวนต์​คุยกับคนให้เยอะขึ้น ให้เราได้ฝึกฝนทักษะพูดคุย communication และแลกเปลี่ยนความรู้จากเพื่อนๆ ท่านอื่นในอาชีพเดียวกัน

5. ถ้าเรียนดีไซน์แล้วไม่เวิร์ค ลองเพิ่มทักษะแบบใหม่

การเพิ่มทักษะในที่นี้อาจจะเป็นการเรียนทางด้านอื่นๆ ด้วยตนเองที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา Product แต่ไม่ใช่ในสายงานของ UX UI อาทิเช่น การเรียนทางด้าน Business, Product development, HTML, CSS, iOS, Android และอื่นๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี, ธุรกิจ, ความรู้รอบตัวอื่นๆ เพื่อช่วยในการเพิ่มพูนความรู้ของเราให้มีรอบด้านและแตกต่างจากผู้สมัครคนงานคนอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น


สุดท้ายนี้อยากให้กำลังใจว่าทักษะของการทำงานมันจะประกอบไปด้วยหลายส่วน ไม่ได้มีจากแค่คอร์สเรียนเดียวเท่านั้น การหาความรู้ในสายงานนี้จะเติบโตไปเรื่อยๆ ยิ่งรู้รอบด้านการปะติดปะต่อจุดความรู้ของเราก็จะง่ายยิ่งขึ้นนั่นเอง

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังสนใจเรียนในคอร์สแบบต่างๆอยู่นะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Natk

Natk

UI Specialist ซิดนีย์ ออสเตรเลีย | ประสบการณ์ทำงาน 11 ปี | สนใจเรื่อง User Interface, User Experience, Accessibility, Education | ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก Tech ไทยในออสเตรเลีย | ผู้ดูแลเว็บไซต์ Designil
บทความทั้งหมด